วันพุธ, กันยายน 27, 2566

นักลงทุนขายพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 หมื่นล้าน สะท้อนอะไร?





EXCLUSIVE: ต่างชาติเทขายบอนด์ไทยเฉียด 2 หมื่นล้านแล้วเดือนนี้! เหตุกังวลซัพพลายทะลัก หลังรัฐบาลส่งสัญญาณกู้เงินเพิ่ม ดันยีลด์พุ่งแตะจุดสูงสุดของปี

โดย วาราดา ทองจำนงค์
21.09.2023
The Standard

ต่างชาติเทขายบอนด์ไทยเฉียด 2 หมื่นล้านบาทแล้ว 20 วันแรกของเดือนนี้ เหตุกังวลซัพพลายบอนด์ทะลัก หลังรัฐบาลส่งสัญญาณกู้เงินเพิ่ม ดันยีลด์อายุ 10 ปีแตะ 3.17% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้

วานนี้ (20 กันยายน) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.17% สูงสุดของปีนี้ และสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 หลังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เผยแผนออกพันธบัตรรัฐบาลรวม 1.25 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.078 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ในงาน Market Dialogue เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 กันยายน)

ขณะที่ อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 กันยายน (Month to Date) ต่างชาติ (Non-resident) ขายพันธบัตรไทยไปแล้ว 1.88 หมื่นล้านบาท หลังจากเดือนก่อนหน้าขายไป 5.52 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี อริยาระบุว่า จำนวนดังกล่าวไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีมีการขายออกมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงนี้ไม่มีแรงซื้อเข้ามาสนับสนุนมากกว่า ดังนั้นแค่มีการขายนิดหน่อยก็ทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นได้แล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงโฟลวที่ไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างเดียว ไม่รวมเอกชน อริยาอธิบายว่า โดยปกติแล้วส่วนใหญ่ต่างชาติจะซื้อแต่พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

โดยตามข้อมูลจากเว็บไซต์ ThaiBMA แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) ถึงวันที่ 20 กันยายนนี้ ต่างชาติขายพันธบัตรไทยแล้ว 133,226 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุเทขาย อริยามองว่า ส่วนหนึ่งมาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยที่ต่างกันกว่า 3% ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ฟันด์โฟลวจะไหลกลับไปที่สหรัฐฯ และทำให้เงินบาทอ่อน

โดยอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงไม่นานมานี้คือปัจจัยในประเทศ หลังรัฐบาลเริ่มเปิดเผยนโยบายเศรษฐกิจออกมา ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลมีโอกาสที่จะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ทำให้อุปทาน (Supply) บอนด์จะออกมาเยอะขึ้น

“เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีการประชุม Market Dialogue ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งเผยว่าจะมีการเพิ่มวงเงินการประมูลพันธบัตร ทำให้ตลาดมองว่ามีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะขยับสูงขึ้น จึงมีการขายออกมาก่อน เพราะหากปล่อยให้บอนด์ยีลด์ขึ้นก่อนราคาก็จะตก” อริยากล่าว

เปิดแผนการออกบอนด์ของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ ในงาน Market Dialogue เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนออกพันธบัตรรัฐบาลรวม 1.25 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.078 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566

โดยมีแผนจะประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3-50 ปี มูลค่ารวมไม่เกิน 2.72 แสนล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567

นอกจากนี้อริยายังเปิดเผยด้วยว่า วานนี้ก็มีการประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปีด้วย ซึ่งผลประมูลออกมาพบว่ายีลด์ขยับขึ้นไปค่อนข้างเยอะประมาณ 11 bps มาอยู่ที่ 3.2-3.3% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั้งตลาดขยับขึ้นตามไปหมด

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าว THE STANDARD WEALTH ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยถามว่า กังวลว่าการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์จะทำให้ต้นทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นหรือไม่ แพตริเซียระบุว่า การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์เป็นไปตามตลาด พร้อมมองว่าการปรับตัวขึ้นยังค่อนข้างช้า

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความต้องการ (Demand) ของนักลงทุนต่อพันธบัตรรัฐบาลไทย แพตริเซียระบุว่า “ยังได้ครบ ยังไม่มีปัญหา”

จับตาปัจจัยกำหนดทิศทางราคา-บอนด์ยีลด์ไทย

สำหรับปัจจัยที่ตลาดจับตาในอนาคตคือ ความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจที่จะนำมาสู่การออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น และอาจทำให้บอนด์ยีลด์ผันผวนได้ รวมไปถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

สำหรับประเด็นผลกระทบเรื่องระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น อริยามองว่า ระดับหนี้สาธารณะไทยไม่น่าจะเกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% พร้อมทั้งมองว่า หากการกู้เงินทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็น่าจะเป็นผลดี อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของรัฐบาลก็ควรอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และทำให้เงินที่กู้ไปถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ





Sirikanya Tansakun @SirikanyaTansa1

ตลาดหุ้นน่ะมายา ตลาดพันธบัตรน่ะของจริง! 

วันนี้ Set หลุด 1,500 จุด มีคนบอกว่าเป็นเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจเรื่องแหล่งที่มาเงิน digital wallet (หรือเป็นเพราะศิริกัญญาจะเป็นรมว.คลัง??!) 

อยากจะบอกว่า asset class ที่ไวมากต่อนโยบาย macro และการคลัง คือ ตลาดพันธบัตรนะคะ 

1 เดือนที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับขึ้นไป 50 bps (0.5%) แล้ว แน่นอนว่าส่วนนึงมาจากปัจจัยภายนอกอย่าง Fed rate แต่ความไม่ชัดเจนของที่มาเงิน digital wallet ก็มีส่วน คุยกับนักลงทุนต่างชาติต่างก็ยืนยันตรงกัน พอนักลงทุนต่างชาติเทขายกันมากๆ ราคาก็ตก yield ก็พุ่ง ถึงวันที่รัฐบาลต้องกู้จริง ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงไปอีก

ยังไม่ต้องพูดถึงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เตรียมง้างมีด เตรียมหั่นเรตติ้งประเทศไทยแล้ว Fitch ก็ออกมาเตือน Moody's คงหั่นแน่รอบหน้า คราวนี้ yield น่าจะยิ่งสูงขึ้นไปใหญ่