วันอาทิตย์, กันยายน 24, 2566

วันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ จะมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ม.112 คดีแรก ของ "อานนท์ นำภา" ทนายอานนท์ว่า ถ้าต้องติดคุก ก็เป็นรายจ่ายที่คุ้มค่า

อานนท์ นำภา
17h
·
การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตำรวจพยายามจะอ้างเรื่องขบวนเสด็จเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งพอคนมาเป็นแสนมันเกิดความสูญเสียแน่ๆ ภาพความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภา 35 มันลอยขึ้นมาในหัว ผมจึงขึ้นรถเครื่องเสียงไปปราศรัย ปรามและขู่ตำรวจไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม ขู่จำรวจไปว่า
“ ตำรวจห้ามเข้ามาสลายการชุมนุม ถ้ามีการสลายการชุมนุมแสดงว่า ร.10 สั่งเท่านั้น “
ผมมีความจำเป็นต้องขู่ตำรวจไปเช่นนั้น ไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวหา ร.10 เพราะถ้าไม่มีการสลายการชุมนุม ก็ไม่มีอะไร นี่คือข้อความที่ผมโดน 112 ด้วยความเต็มใจ และภูมิใจที่ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทำดีที่สุดในฐานะแกนนำที่จะทำได้
ตำรวจเริ่มเลิกลั่ก เอาไงดี ?
และด้วยการพูดไปเช่นนั้นในช่วงสายๆ การสลายการชุมนุมจึงไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็วางแผนสลายต่อโดยจงใจพาขบวนเสด็จพระราชินีฝ่าเข้าไปในการชุมนุม เพื่อสร้างสถานการณ์และอ้างเป็นเหตุสลายการชุมนุมในช่วงหัวรุ่ง
อย่างไรก็ตาม เรารู้ทัน จึงประกาศสลายการชุมนุมก่อนที่ทหารตำรวจจะเข้ามาสลาย ผมยืนส่งพี่น้องผู้ชุมนุมจนถึงตีสี่ โดนจับขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่
ผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้ววันนั้น
26 กันยายนนี้ถ้าต้องติดคุก ก็เป็นรายจ่ายที่คุ้มค่า



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
18h 
·
คำพิพากษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในคดี ม.112 คดีแรกของอานนท์ นำภา
.
ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ จะมีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ "อานนท์ นำภา" ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
.
คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้
.
ภาพรวมการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง ส่วนจำเลยสู้ว่าเจตนาที่กล่าวปราศรัยเป็นเพียงการปกป้องประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต
.
ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัด ซึ่งตลอดการสืบพยานศาลใช้วิธีการพิจารณาคดีแบบบันทึกวีดิโอภาพ โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27–28 มิ.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566
.
โจทก์นำสืบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย การเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมของแกนนำทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหาครเสียหาย อีกทั้งการกล่าวข้อความตามฟ้องของจำเลยสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความดังกล่าว และทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพ ศรัทธาของประชาชน
.
ด้านจำเลยต่อสู้ว่า การปราศรัยข้อความตามฟ้องมีเจตนาเพียงต้องการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งมีมากกว่า 6,000 คน และไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อย่างที่โจทก์กล่าวหา
.
ทั้งนี้ จำเลยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตำรวจประกาศจะสลายการชุมนุม แต่ก็ปล่อยให้การชุมนุมดำเนินไปจนยุติลงในเวลาหลังเที่ยงคืนของอีกวันหนึ่ง และเมื่อการชุมนุมยุติลง ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางกลับบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงค่อยเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมบางส่วน
.
.
อ่านบันทึกสืบพยานฉบับเต็มบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/59835