วันศุกร์, กันยายน 01, 2566

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ในประเด็นเกี่ยวกับ เรื่องผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112



กลไกพิเศษของสหประชาชาติได้รับคำร้องจาก “วารุณี-เวหา-วุฒิ-ทีปกร-เก็ท” ถูกคุมขังโดยพลการ เหตุคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ

31/08/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ซึ่งประกอบไปด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยศูนย์ทนายฯ ได้ส่งคำร้องไปที่ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (5) ผู้รายงานพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

ในคำร้องดังกล่าว ศูนย์ทนายฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กับ UN เกี่ยวกับประเด็น เรื่องผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
ในหนังสือคำร้องเรียนฉบับนี้ ได้รายงานข้อมูลของผู้ต้องขังคดีการเมืองตามมาตรา 112 ต่อคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จำนวน 5 ราย ดังต่อไปนี้

1.เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรมวัย 39 ปี ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี 18 เดือน ในคดีมาตรา 112 กรณีใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝา ver.เกรี้ยวกราด” โพสต์ข้อความเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนา และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ปัจจุบัน (30 ส.ค. 2566)

เขาถูกคุมขังมาแล้ว 106 วัน โดยเขาเริ่มอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่
23 ส.ค. 2566

2. “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข โดยศาลอุทธรณ์รวมถึงศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

วารุณีถูกคุมขังมาแล้ว 65 วัน โดยเธอเริ่มอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566

3.ทีปกร (สงวนนามสกุล) วันที่ 19 มิ.ย. 2566 หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา จากกรณีถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ และศาลอุทธรณ์ยังสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเขา

ปัจจุบันทีปกรถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนานกว่า 74 วันแล้ว

4. วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี จากกรณีที่ถูกอัยการฟ้อง จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ศาลอาญามีนบุรีไม่อนุญาตให้ประกันตัวหลังถูกสั่งฟ้องมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน

5. ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในคดีมาตรา 112 จำคุก 3 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 จากกรณีที่ถูกฟ้องจากคำปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565

การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้ง 5 ระหว่างพิจารณาคดี ขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อาจขัดกับหลักการภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention

ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้อง … ได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ

สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)

ในคำร้องที่ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นไปที่ UN วันที่ 28 ส.ค. 2566 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วอย่างน้อย 41 คน ปัจจุบัน (31 ส.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 ราย โดยส่วนมากแล้ว คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจะอ้าง “ความหนักเบาแห่งข้อหา” หรือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” ก่อนจะสรุปว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นการพิจารณาความเหมะสมของการไม่ให้ประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุกๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ

ในความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overbroad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการคุมขังภายใต้ มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) เพราะเหตุนี้ กางคุมขังภายใต้ มาตรา 112 จึงถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการทุกกรณี

ย้อนอ่านข่าว >>> สำรวจ “สิทธิในการประกันตัว” ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ตัวอย่างในกรณีการคุมขังทนายอานนท์ นำภา ในคดี มาตรา 112 กรณีปราศรัย #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 และคดี #ม็อบ18พฤศจิกา ทนายอานนท์ได้ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 รวม 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน หรือกรณีของ “บุ้ง – ใบปอ” คดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งทั้งสองถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 ถึง 4 ส.ค. 2565 รวม 94 วัน การคุมขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลายาวนานก่อนมีคำพิพากษาว่าจำเลยได้ทำผิดกฎหมายจริง จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด
.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ในกรณีของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ ซึ่งอนุญาตให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องเร่งด่วน (an urgent appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD) เพื่อรายงานกรณีเธอทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) ขณะที่ทั้งสองในวัยกว่า 20 ปี กำลังถูกจองจำและเฝ้าระวังอาการทางสุขภาพอย่างใกล้ชิด จากการอดอาหารและน้ำที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

และเพียง 4 วันหลังจากที่ยื่นคำร้องเร่งด่วนให้กับคณะทำงานฯ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 Clément Nyaletsossi Voule ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการสมาคมขององค์กรสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assembly and of Association) ได้รับข้อมูลจากการยื่นคำร้องเร่งด่วนดังกล่าว และได้ทวีตแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการอาการของตะวันและแบมหลังจากได้อดน้ำอดอาหารมานานกว่า 3 อาทิตย์ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง โดยผู้รายงานพิเศษกล่าวว่า เขาจะคอยติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ย้อนอ่านข่าว >>> กลไกพิเศษของสหประชาชาติแสดง “ความกังวล” กรณี “ตะวัน-แบม” หลังได้มีการยื่นคำร้องเร่งด่วน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงาน UN WGAD พบว่าประเทศไทยลิดรอนเสรีภาพของบุคคลถึง 9 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 และถือเป็นการควบคุมตัว “โดยพลการ” พวกเขาได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดในเวลาต่อมา ยกเว้น อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพได้พิพากษาโทษจำคุก ถึง 89 ปี เนื่องจากอัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคลิปเสียงเหล่านั้นมีเนื้อหาหมิ่นประมาทต่อราชวงศ์ไทย ทั้งนี้ศาลได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากเธอรับสารภาพ เธอยังคงอยู่จองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายภาคส่วนได้ย้ำข้อกังวลซ้ำหลายรอบต่อการบังคับใช้มาตรา 112 และเตือนว่าการลิดรอนเสรีภาพที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และได้เรียกเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยุติมาตรา 112 พร้อมทั้งปล่อยตัวจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทุกคน