วันอังคาร, กันยายน 05, 2566

#กองทัพไทย ยากที่จะเล็กและทันสมัยในอนาคต เพราะเป็นเอกเทศมาก จะย้ายใครไม่ฟังใคร นอกจากพวกทหารด้วยกันเอง ตอนนี้ มีนายพลที่ไม่มีงานทำอยู่อย่างน้อย 254 คน


thaiarmedforce.com
1d
·
วิเคราะห์บัญชีย้ายนายพล 67: เมื่อกลาโหมไทยมีนายพลที่ไม่มีงานทำอยู่อย่างน้อย 254 คน
เมื่อสองสามวันก่อน มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ซึ่งเป็นประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ หรือพูดสั้น ๆ ก็คือการย้ายทหารชั้นนายพล ตามกฎหมายที่กำหนดให้การย้ายทหารชั้นนายพลนั้นดำเนินการโดยผ่านพระบรมราชโองการ ตามมาตราที่ 27 ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
--------------------------
วิธีการย้าย #ทหารชั้นนายพล นั้นมีกำหนดในมาตรา 25 โดยกฎหมายให้มีคณะกรรมการหนึ่งคณะทำหน้าที่พิจารณาโผทหาร ซึ่งมี #รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีรัฐมนตรีช่วยฯ (ถ้ามี) #ผู้บัญชาการทหารสูงสุด #ผู้บัญชาการทหารบก #ผู้บัญชาการทหารเรือ #ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ #ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ คณะนี้จะมานั่งพร้อมกันแล้วดูว่าในปีนั้นใครควรเป็นนายพล หรือนายพลคนไหนควรไปอยู่ตำแหน่งอะไร
วิธีนี้ถือว่ามีความเฉพาะ เพราะกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานราชการเดียวในประเทศไทยที่ใช้วิธีการย้ายคนแบบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้กองทัพและกระทรวงกลาโหมไม่ต้องฟังความเห็นใดในประเทศไทย สามารถดำเนินการและจัดการย้ายคนได้ด้วยตัวเอง รัฐมนตรีกลาโหมไม่มีอำนาจสั่งการด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายห้ามสั่งการ และต่อให้โหวตก็แพ้ เพราะรัฐมนตรีมี 1 เสียง ผู้นำเหล่าทัพมี 5 เสียง
#กองทัพไทย จึงเป็นเอกเทศมาก จะย้ายใครไม่ต้องฟังใคร คือฟังทหารด้วยกันเองก็พอ การย้ายทหารชั้นนายพลจำนวน 726 คนในรอบนี้จึงเป็นความต้องการของกองทัพไทย โดยตัวแทนของประชาชนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไปไม่มีสิทธิสั่งการหรือคัดค้านอะไร
โดยกฎหมายนี้ออกในสมัย #คมช. ช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้คณะ #รัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
-------------------------
เมื่อดูบัญชีย้ายทหารรอบนี้ลึก ๆ จะพบอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีนายทหารชั้น #นายพล หลายคนถูกย้ายหรือแต่งตั้งให้เป็นตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาพิเศษ ที่ปรึกษา รวมถึงผู้ชำนาญการ
ตำแหน่งเหล่านี้ฟังดูดี แต่เราเรียกว่าตำแหน่งลอย เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีงานประจำทำ จะมีงานก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายเท่านั้น ถ้าไม่ได้รับมอบหมายอะไรก็อยู่เฉย ๆ ได้ แต่เงินเดือนและสวัสดิการของทหารชั้นนายพลยังได้รับครบถ้วน
จริง ๆ ตำแหน่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเผื่อเอาไว้สำหรับกรณีที่มีงานพิเศษหรือปฏิบัติการที่ต้องการคนทำงานเฉพาะ แล้วย้ายคนมาทำงานเป็นการเฉพาะ แต่ทุกวันนี้กระทรวงกลาโหมใช้ตำแหน่งเหล่านี้เป็นที่พักคนเพื่อเลื่อนยศเลื่อนเงินเดือน เช่นนายพลใหม่ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นเจ้ากรมก็จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิก่อน รอเข้าตำแหน่งหลัก หรือนายพลท่านอื่นก็อาจถูกย้ายมาตรงนี้ได้ในกรณีที่ตำแหน่งหลักเต็ม เพื่อรอเข้าตำแหน่งหลักเช่นกัน
สิ่งที่แสดงให้เห็นสี่อย่างคือ
1. เมื่อนับจำนวนตำแหน่งลอยในการปรับย้ายรอบนี้มีรวม 254 ท่าน ซึ่งยังไม่นับคนที่อยู่ในตำแหน่งลอยเหล่านี้มาก่อนแล้วและยังไม่ได้ขยับไปไหน ซึ่งเราไม่ได้ตามไป track กลับในบัญชีรอบที่ผ่าน ๆ มา แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่ามีทหารชั้นนายพลมากกว่า 254 คนที่อยู่ในตำแหน่งลอยในปัจจุบัน ซึ่งถ้าคิดแค่ 254 คน แปลว่ากระทรวงกลาโหมต้องใช้เงินมากกว่าปีละ 300 ล้านบาทในการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการอื่น ๆ
2. ปีนี้มีนายพลใหม่จำนวน 257 คน ถือว่าเยอะมาก ๆ เมื่อเทียบกับกองทัพสหรัฐฯที่มีกำลังพล 2 ล้านคนและปฏิบัติการทั่วโลกนั้น จะมีนายพลที่ประจำการได้ไม่เกิน 653 คนเท่านั้น แปลว่าเรามีนายพลใหม่เฉพาะปีนี้คิดเป็นหนึ่งในสามของจำนวนนายพลทั้งหมดในกองทัพสหรัฐฯ และจำนวนนายพลของไทยที่ไม่มีงานทำนั้นคิดเป็นอย่างน้อยหนึ่งในสามของนายพลทั้งหมดในกองทัพสหรัฐฯเช่นกัน
3. มีนายพลถูกโยกย้าย 726 ท่านในปีนี้ ซึ่งถ้าลองย้อนกลับไปในบัญชีโยกย้ายปีก่อน ๆ แล้วคัดชื่อซ้ำหรือคนเกษียณออกไป เชื่อว่าประเทศไทยมีนายพลเกือบ 2 พันคนที่ประจำการและรับเงินเดือนในปัจจุบัน เทียบกับสหรัฐฯที่ 653 คน หรือมากกว่าสหรัฐฯ 3 เท่า
4. เทียบกับสหรัฐฯนั้น สหรัฐมีพลเอกและพลโทได้ไม่เกิน 25% ของ 653 คน หรือราว 164 ตำแหน่ง และมีพลเอกได้ 27 - 39 คน แล้วแต่การบรรจุในตำแหน่ง แต่เฉพาะบัญชีย้ายทหารในรอบนี้ ก็มีการย้ายพลเอกถึง 26 คน แล้ว ยังไม่นับพลเอกใหม่ที่มีในบัญชีนี้อย่างน้อย 50 คน (ตัวเลขจริง ๆ อาจมากกว่านี้ แต่อันนี้คือกะด้วยสาตาคร่าว ๆ เพราะเยอะมากนับไม่หมด) เมื่อรวมกับพลเอกเดิมที่มี เชื่อว่าเรามีพลเอกในกระทรวงกลาโหมมากกว่า 100 คน
-------------------------
เมื่อพูดแบบนี้จะถูกแย้งว่า การที่ต้องให้คนขึ้นเป็นนายพลมาก ๆ เพราะอายุราชการถึงจากวันทวีคูณต่าง ๆ เป็นการตอบแทนการทำงานอย่างเสียสละ และระบบของกระทรวงกลาโหมนั้น ยศผูกกับเงินเดือน ถ้าเงินเดือนตันแล้วยศไม่เลื่อน เงินเดือนก็จะไม่ขึ้น แต่เมื่อเลื่อนยศให้นั้น แม้กระทรวงกลาโหมจะพยายามขยายขนาดของกระทรวงเพื่อรองรับแล้ว แต่ตำแหน่งหลักก็ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้หลายคนต้องมาอยู่ในตำแหน่งลอยแบบนี้
จริง ๆ การแย้งแบบนี้ก็ฟังได้ แต่วิธีแก้ปัญหามันก็อยู่ในคำแย้งเหล่านี้อยู่แล้วคือ
1. เลิกทัศนคติที่ว่านายทหารบางกลุ่ม ยังไงก็ควรต้องให้เกษียณชั้นนายพล
2. เลิกเอาเงินเดือนผูกกับยศ โดยเงินเดือนวิ่งแยกจากยศได้ ซึ่งทำได้ด้วยการแก้ระเบียบและแท่งเงินเดือนต่าง ๆ เปิดโอกาสให้เงินเดือนขึ้นได้โดยที่ยศไม่ต้องขึ้น ใครได้วันทวีคูณก็ได้เงินเดือนขึ้นไป แต่ให้แยกจากการพิจารณาเลื่อนยศ
3. เลิกทัศนคติที่ว่าเงินเดือนต้องขึ้นทุกปี ใครเงินเดือนตันต้องยอมรับ เพราะแสดงให้เห็นว่าคน ๆ นั้นไม่มีความสามารถเท่ากับคนอื่น ในประเทศอื่นเช่นสหรัฐอเมริกา มีระบบบังคับเกษียณถ้าไม่ได้รับการเลื่อนยศสองรอบ สำหรับไทยถ้าไม่ใช่ระบบนี้ก็ต้องออกแบบระบบการเลื่อนยศให้ดี ให้มาจากความสามารถจริง ๆ ไม่มีเส้นสายหรือเด็กค่ายไหนแบบทุกวันนี้ แล้วยอมรับให้ได้ถ้าเงินเดือนไม่ขึ้น เพราะต้องให้คนเก่งกว่าขึ้นแทน
4. เสนอแพ็คเก็จเกษียณก่อนกำหนดให้มากกว่านี้ และเพิ่มเงื่อนไขแกมบังคับให้มากกว่านี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวของกระทรวงกลาโหม
ปี ๆ หนึ่งกระทรวงกลาโหมมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลาการมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากจะมาจากการมีหน่วยงานที่ไม่จำเป็นมากเกินไปแล้ว ก็ยังมาจากเงินเดือนและสวัสดิการของนายทหารในตำแหน่งลอยต่าง ๆ ที่มีเป็นพัน ๆ ตำแหน่ง หลายตำแหน่งได้รับสวัสดิการจำนวนมาก มีรถประจำตำแหน่งหรือเงินชดเชยแทนรถประจำตำแหน่ง แต่ไม่มีงานทำ
---------------------
แม้กระทรวงกลาโหมจะบอกว่ามีแผนการปฏิรูปกองทัพ โดยจะลดกำลังพลให้ได้ 5% และลดนายพลให้ได้ 50% ซึ่งถือว่าก็ยังพอยอมรับได้ แต่มันควรจะดีกว่านี้ เพราะต่อให้ลดนายพลให้ได้ 50% เราก็ยังมีนายพลพันกว่าคนอยู่ทุกปีเช่นเดิม ซึ่งก็ยังถือว่าเยอะมาก อีกทั้งยังมีหลายส่วนของกระทรวงกลาโหมที่ปรับและแก้ไขได้ แต่เราก็ยังไม่เคยเห็นแผนงานในการปฏิรูปกองทัพฉบับเต็มของกระทรวงกลาโหมอยู่ดี
เราก็หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมท่านใหม่คือคุณสุทิน คลังแสง จากพรรค #เพื่อไทย พรรคเพื่อไทย จะเข้ามาดำเนินนโยบายตามนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้ รวมถึงเริ่มกระบวนการ #ปฏิรูปกองทัพ ที่มาจากรัฐบาล ไม่ใช่การปฎิรูปที่มาจากในกองทัพเองซึ่งเป็นการปรับเล็ก เพื่อจะได้เห็นกระทรวงกลาโหมเป็นกระทรวงที่เล็กลงและทันสมัยขึ้นในอนาคต
หวังว่าการปฏฺิรูปกองทัพจะไม่ใช่เพียงเทคนิคการหาเสียงครับ