คำว่า Soft Power หรือ ‘อำนาจละมุน’ มักได้รับการพูดถึงแบบวงกว้างในบ้านเรา แต่การตีความคำว่า Soft Power ที่ไม่ตรงความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก รวมถึงนโยบาย OFOS ของพรรคเพื่อไทยhttps://t.co/gRG9tTi2ZB#ไทยรัฐพลัส #ThairathPlus pic.twitter.com/BP3qD8saER
— Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส (@thairathplus) September 6, 2023
ในระยะหลังๆ มานี้ คำว่า Soft Power หรือ ‘อำนาจละมุน’ มักได้รับการพูดถึงแบบวงกว้างในบ้านเรา เนื่องจากรัฐบาลไทยในปี 2565 ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงใช้ Soft Power เพื่อเชื่อมโยงความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงในการเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมไทย ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงอาหาร, กีฬา และศิลปะเท่านั้น ตามเป้าหมายของภาครัฐ
นโยบายนี้ควรจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ก็กลับมีอุปสรรคเนื่องจากการตีความคำว่า Soft Power ที่ไม่ตรงความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรไปจากการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก
แต่ก่อนที่เราจะลงลึกไปยัง Soft Power การตีความโครงสร้าง ‘อำนาจ’ เพื่อที่จะเข้าใจหัวใจสำคัญของอำนาจละมุน ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
Hard Power หรือ ‘อำนาจกระด้าง’ คือการใช้อำนาจรัฐที่ส่งผ่านกองทัพ หรือนโยบายทางเศรษฐกิจ ในการเจรจาต่อรองทางการเมืองกับนานาประเทศ ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การบีบบังคับกันระหว่างอำนาจรัฐสองฝั่ง ส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
แตกต่างจากการใช้ Soft Power ที่เป็นการนำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงอุตสาหกรรมบันเทิง มาใช้โน้มน้าวเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของต่างชาติ โดยที่ไม่ต้องแข่งขัน และไม่ต้องใช้อำนาจในการคุกคามเหมือน Hard Power
Soft Power the Means to Success in World Politics หนังสือที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่วางจำหน่ายในปี 2004 ทำให้หลายประเทศนำ Soft Power มาทำหน้าที่คล้ายทูตสันถวไมตรี ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยของดีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติซึ่งแต่ละประเทศมีอยู่
วัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้อย่าง ‘เคป๊อป’ (K-Pop) เป็นตัวอย่างชั้นดีในการสร้าง Soft Power ที่ผ่านการวางแผนระยะยาวโดยภาครัฐและเอกชนให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก หรือการนำข้าวเหนียวมะม่วงไปโชว์ชาวต่างชาติของแร็ปเปอร์สาว Milli ที่เทศกาลดนตรี Coachella ก็นับว่าเป็นการใช้พลังของ Soft Power ที่ได้ผลอย่างดีเยี่ยม โดยที่แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
Milli กับข้าวเหนียวมะม่วงของเธอ
ศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ กล่าวถึง Soft Power มาตั้งแต่ปลายยุค 80 แล้ว แต่สาเหตุที่คำคำนี้ยังไม่บูมในช่วงเวลานั้น ก็เพราะว่ารัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบาย Hard Power ทางการเมืองเป็นหลักมากกว่า แต่ในยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลมาจากการส่งผ่านวัฒนธรรมที่โน้มน้าวผู้อื่นได้ การสร้างค่านิยมทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศที่โอนอ่อนผ่อนตามมากกว่าสมัยก่อนอย่างมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็น) ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรมบันเทิง, อาหาร, สถานที่ท่องเที่ยว, กีฬาประจำชาติ, ดนตรี และอื่นๆ
สิ่งที่จะผลักดันให้นโยบาย Soft Power มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือต้องมีความรู้ความเข้าใจในทรัพยากร รวมถึงระบุแหล่งที่มานั้นๆ ได้ เพื่อที่จะกำหนดนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งยวดต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค
แต่การใช้นโยบาย Soft Power ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ที่เน้นขยายอิทธิพลทางความคิดมากกว่าที่จะส่งเสริมความรู้เชิงวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดการตีความ Soft Power ผิดไปจากความหมายที่แท้จริงของมันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิดมาตั้งแต่ต้น กระดุมเม็ดที่สองซึ่งคือนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft Power’ ของพรรคเพื่อไทย ที่มีการตั้งชื่อไว้ว่า OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อต่อยอดจากโครงการ ‘1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์’ หรือ OTOP ก็ย่อมผิดตามไปด้วย
เพราะการส่งเสริม Soft Power โดยการพัฒนาคน ไม่ใช่หลักการที่แท้จริงของอำนาจละมุน แต่สิ่งที่ถูกต้องก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้ต่างชาติมองประเพณีหรือวัฒนธรรมประจำชาตินั้นๆ ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่แปลกใหม่ (Exotic) สำหรับพวกเขามากกว่า
เราต้องเข้าใจก่อนว่า หัวใจสำคัญของ Soft Power ไม่ใช่การพัฒนาคน เช่นเดียวกันกับการไม่ได้เป็นการพัฒนาทักษะของวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มศักยภาพของ ‘ควาญช้าง’ ในการเผยแพร่ Soft Power ให้ต่างชาติทึ่ง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไร เพราะต่างชาติสนใจตัวช้างมากกว่าทักษะในการควบคุมช้างของควาญช้าง ส่วนการฝึกช้างให้เต้นหรือเล่นลูกบอล ก็ไม่ถือว่าเป็น Soft Power เช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นการสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงสร้างสรรค์ และไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นโยบายสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ไม่ได้ตอบโจทย์การเผยแพร่ Soft Power เพราะการที่คนไทยมีงานทำมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้เราส่งต่อวัฒนธรรมไทยไปสู่ตลาดโลกได้ เช่นเดียวกับการก่อตั้ง THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่จะทุ่มงบประมาณกับการสร้างงานและลงทุนในอุตสาหกรรม ก็เป็นเพียงนโยบายประชานิยมทั่วๆ ไปเท่านั้น
นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ที่พรรคเพื่อไทยกำลังโปรโมตอยู่ในขณะนี้ จึงนับว่าเป็นการจับแพะชนแกะ และอาศัยคำว่า Soft Power ในการโปรโมตนโยบายเท่านั้น โดยที่ไม่เข้าใจความหมายของมัน
จริงอยู่ที่ผลประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อาจจะตกอยู่กับประชาชน แต่นโยบายนี้ไม่ได้เชื่อมโยงไปยังหัวใจสำคัญของ Soft Power แต่อย่างใดเลย
ที่มา ไทยรัฐพลัส