วันเสาร์, พฤศจิกายน 07, 2563

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอ 5 ทางออกปัญหาขัดแย้ง ชี้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นไม่ได้มาจากตั้งคกก. เย้ยตั้งคอป.มายังล้มเหลว



ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอ 5 ทางออกปัญหาขัดแย้ง ชี้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นไม่ได้มาจากตั้งคกก. เย้ยตั้งคอป.มายังล้มเหลว

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.63 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อเสนอที่จะให้มีการออกพระราชกำหนดเพื่อรองรับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า เงื่อนไขการตราพระราชกำหนดคงต้องพิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 บัญญัติไว้ กล่าวคือเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ กรณีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นปัญหาอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ จะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้เกิดการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้

“จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาใช้คำสั่งสำนักนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งก็ต้องถือว่ามีฐานทางกฎหมายรองรับ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่กรรมการไม่มีอำนาจที่จะทำให้สำเร็จได้ในตัวเอง ต้องเสนอรัฐบาล รัฐสภาไปทำดังเช่นล่าสุด คณะกรรมการที่เรียกชื่อย่อว่า คอป.ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจัดทำรายงานและเสนอความเห็นต่อ ครม.แล้ว แต่สุดท้ายพอจะนำมาปฏิบัติก็เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาใหม่ สุดท้ายก็ล้มเหลว เห็นได้ว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ไม่อาจจะใช้กฎหมายหรือคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการหาข้อสรุป เพื่อบังคับให้ทุกคนต้องปรองดองกันได้”นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่เห็นว่าจะเป็นแนวทางยุติความขัดแย้ง น่าจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ 1.ทุกฝ่ายต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าต้นตอของความขัดแย้งมาจากอะไร ต้องขจัดต้นตอของปัญหาออกไปก่อน เพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย 2.ทุกฝ่ายต้องยอมรับให้มีการเสนอความเห็น เพื่อการพูดคุยได้ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาและข้อเรียกร้อง 3.จะต้องสร้างความมั่นใจในการพูดคุยโดยยุติการดำเนินคดีต่างๆ ทั้งหมดกับนักศึกษาและประชาชน

4.คณะกรรมการที่เป็นคนกลางนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายให้การยอมรับ 5.เมื่อการพูดคุยได้ข้อยุติประการใดแล้ว อาจใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสรุปจากการพูดคุยทั้งนี้ การจะออกพระราชกำหนดไว้ก่อนโดยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในการสร้างความปรองดองใดๆ อาจจะเร็วเกินไป อาจจะไม่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการพูดคุยของทุกฝ่าย ดังนั้นในช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ คือ ต้องแสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้องให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก ต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกจับกุม ต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่อนคลายลง

“แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อการสร้างความปรองดองเลย โดยเฉพาะการนำประชาชนเพื่อออกมาต่อต้านอีกฝ่าย สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ที่ผ่านมามีสมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นกันหลากหลายเกี่ยวกับการปรองดอง แต่ก็เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น พรรคยังไม่ได้มีมติเรื่องนี้แต่อย่างใด เหตุเพราะยังไม่มีรูปธรรมอะไรชัดเจน ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะเดินอย่างไรควรเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคควรจะได้หารือกัน” นายชูศักดิ์ กล่าว

ที่มา ข่าวสดออนไลน์
https://www.khaosod.co.th/politics/news_5267877
...