วันอังคาร, พฤศจิกายน 24, 2563

เรื่องราวของคนเล็กคนน้อยกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ บันทึกไว้ (2011)


สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

บันทึกร่วมสมัย ที่สื่อกระแสหลักไม่สนใจ(3)

III

ข้าพเจ้าไปเยี่ยมจินตนา แก้วขาว ที่เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันพุทธที่ ๑๒ ตุลาคม พอวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ก็ได้รับทราบว่า สหชัย ศุภมิตรกฤษณา ถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบ ณ เช้าวันนั้น ที่อาศรมวงศ์สนิท ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ทางคลองรังสิตที่ ๑๕ จังหวัดนครนายก โดยข้าพเจ้าต้องไปเผาศพเขา ณ วัดแหลมหิน ตรงข้าม ศาลากลางหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนเดียวกัน

เรื่องดังกล่าว ย่อมไม่เป็นข่าว ที่คนทั่วๆ ไป จะให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่สหชัยได้รับวิบากผลมาจากโครงสร้างทางสังคมไทยอันอยุติธรรมและรุนแรง มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ขอเริ่มเรื่องว่า สหชัย ศุภมิตรกฤษณา และพี่น้องเป็นเจ้าของห้างขายผ้าทาง ตลาดมิ่งเมือง แถบพาหุรัด เช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ๓ คูหา ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ๒ คูหา แต่ละคูหาเป็นตึกแถวสี่ชั้น โดยเขาทำมาค้าขายมาด้วยดี จนเมื่อสำนักงานทั้งสองนั้นต้องการเรียกเอาที่ดินในอาณัติความดูแลของตน เพื่อสร้างให้ทันสมัยไปในแนวทางของโลกาภิวัตน์ จึงบอกเลิกสัญญากับผู้เช่าห้องแถวในบริเวณนั้น เพื่อรื้ออาคารเดิมลง แล้วปลูกขึ้นใหม่ให้สมสมัย โดยผู้เช่าเดิมขอเช่าใหม่ได้ในอัตราที่สูงส่งขึ้นไปอีกเป็นอันมาก และการบอกเลิกสัญญาเก่าผู้เช่าเดิมก็ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก

ตัวเลขที่เขาได้รับจากสำนักงานดังกล่าวคือ ต้องจ่ายค่าเช่าใหม่ โดยวางเงินมัดจำ ๓ ล้าน หาไม่ก็รับเงินชดเชยไป ๕ หมื่น ถึง ๘ หมื่นบาท

ผู้เช่าห้องส่วนมากจำยอม แต่สหชัยเห็นว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ยุติธรรม เขาจึงนำคดีขึ้นขอความเป็นธรรมจากศาล แต่ก็ต้องแพ้ความ เพราะกฎหมายในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ยิ่งกว่าจะให้ความเห็นใจกับผู้เช่าที่ ผลก็คือตำรวจ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ได้มายึดสรรพสินค้าในร้านเขาทั้งห้าคูหา และขอให้เขาเซ็นรับสภาพว่าเขาขัดคำสั่งศาล โดยเขาต้องย้ายออกจากอาคารที่เขาเช่าอาศัยอยู่

ผลจากการกระทำของตำรวจ เป็นเหตุให้เขาถูกนำตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำ และถูกจองจำอยู่กว่า ๒๔ วัน แล้วจึงถูกนำตัวไปขึ้นศาล โดยศาลสั่งให้เขายอมลงนามรับสภาพว่าเขาเป็นผู้ผิด แต่เขายังคงยืนกรานว่าเขาบริสุทธิ์ จึงต้องถูกนำไปจองจำไว้อีก ๑๒ วัน และแล้วในที่สุด เขาก็ได้รับการปลดปล่อย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ลงนามด้วยประการใดๆ

อาคารร้านรวงของสหชัย ถูกรื้อถอนจนหมดสิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ อันเป็นปีวิกฤตในทางการเมือง หลังจากที่เขาต่อสู้คดีในศาลอยู่นาน หมดเงินทองไปมิใช้น้อย โดยเขาไปเช่าที่เปิดร้านทางสะพานควาย ซึ่งต้องเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะไป ๒ แสนห้าหมื่นบาท และแล้วเขาก็ต้องปิดกิจการร้านรวงแห่งใหม่ เพราะเสียเวลาไปกับการสู้คดีจนไม่มีเงินเหลือที่จะทำทุนต่อไปได้

แม่และพี่น้องทั้ง ๖ ของ สหชัยซึ่งเคยอยู่ด้วยกัน ก็ต้องแยกย้ายกันไป ธงชัยพี่ชายคนโตถูกผลกระทบอย่างแรงจนเป็นโรคประสาท และแล้วธงชัยก็ตายจากไปในปี ๒๕๓๒ เขาต้องยืมเงินจากเพื่อนมาทำศพให้พี่ชาย

ก่อนหน้านี้สหชัยได้ทำฎีกา ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงมาแล้ว ตอนเสด็จฯ วัดไก่เตี้ย ทางจังหวัดธนบุรี กว่าจะเข้าถึงพระองค์ และแล้วเขาก็หมอบกราบลงแทบพระบาท โดยต้องผ่านด่านราชองค์รักษ์ และตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเป็นจำนวนมิใช่น้อย ทั้งเมื่อก่อนเข้าถึงพระองค์ ตำรวจก็แย่งเอาฎีกาที่เขาจงใจเขียนไปเสียแล้ว แต่เขาก็กล้าพอที่จะถวายข้อเท็จจริงให้ทรงทราบ ในหลวงตรัสถามว่าคนไหนแย่งเอาฎีกาไป เขาอาจชี้ตัวได้ เป็นเหตุให้ทรงแสดงออกว่าทรงเข้าพระทัย ในความทุกข์ยากของเขา เป็นเหตุให้เขาพอใจมาก แต่แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผลติดตามมาจากการเข้าเฝ้าคราวนี้เอาเลย

สหชัยจึงพยายามเข้าถึงพระองค์อีกจนได้ และทุกครั้ง รับสั่งว่าเขาต้องได้รับความยุติธรรม แต่แล้วเขาก็รอเก้อตลอดมา เบ็ดเสร็จ ๗ ครั้งแล้วที่เขาเข้าถึงพระองค์ ด้วยการเล็ดลอดเข้าไปได้จนใกล้ชิดพระยุคลบาท โดยรอดปากเยี่ยวปากกาของพวกที่แวดล้อมพระองค์ท่านไปได้

ความพยายามครั้งที่ ๘ เกิดขึ้น เมื่อคราวเสด็จฯ วัดบวรนิเวศ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ คราวนี้ มีพระราชกระแสอย่างชัดเจนว่าเขาจักได้รับความยุติธรรม เป็นเหตุให้มารดาเขา ซึ่งเป็นผู้หญิงเมืองจีน ถึงกับน้ำตาไหล ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สหชัยเสี่ยงเข้าไปถวายฎีกาเป็นครั้งที่ ๙ ณ วัดบวรนิเวศอีก ณ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว และตรัสเรียกนายวินิจ วินิจภาค รองเลขาธิการ ณ พระราชวังจิตรลดา ไปสั่งให้ๆ ความยุติธรรมกับคดีนี้ ให้ยุติลงได้โดยเร็ว

นายวินิจ วินิจภาค เคยเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีให้สหชัยพ่ายแพ้มาแล้ว พอวันที่ ๔ ตุลาคม นายวินิจก็นัดให้สหชัยไปพบ นายวินิจบอกว่าสหชัยแพ้คดีมาแล้ว จะเรียกร้องอะไรอีก พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพร นับเป็นพระมหากรุณาส่วนพิเศษ จะเรียกร้องอะไรให้ได้ตามใจปรารถนาไม่ได้ สหชัยตอบว่าถ้านายวินิจพูดตัดบทเช่นนี้ เขาก็ต้องถวายฎีกาอีก ผลที่ตามมาก็คือนายวินิจ วินิจภาค ตกเรือบินตาย คราวเกิดอุปัตวเหตุ โดยสายการบินออสเตรียในปี ๒๕๓๔

มีผู้แนะนำให้สหชัยมาหาข้าพเจ้า และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ตอนนั้นข้าพเจ้าเขียนบทความประจำให้ มติชน จึงเขียนขอความเห็นใจจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเป็นเพราะข้อเขียนดังกล่าวหรือพระราชดำรัสจากเบื้องบนก็สุดแท้ ที่นาย จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ซึ่งเคยยกย่องข้าพเจ้าว่าเป็นมโนธรรมสำนึกของบ้านเมือง) ได้เรียกให้สหชัยไปพบ เพื่อตกลงกันในเรื่องคดีนี้ โดยสำนักงานทรัพย์สินให้สิทธิไปเลือกเอาที่ดินของสำนักงานฯ ทางศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อปลูกเป็นอาคารได้ ๕ คูหา เท่ากับที่เขาเคยเช่าอยู่เดิมทางใจกลางพระนคร สุรชัยเห็นว่าไม่ยุติธรรม เพราะทางนครปฐม ตอนนั้นยังเป็นป่า มีทั้งสัตว์ร้ายและงูพิษถ้าสหชัยไม่รับข้อเสนอนี้ สำนักงานฯ ก็เสนอให้เงินสด ๗๖๐,๐๐๐ บาท จากห้องแถวห้าห้องที่ใจกลางเมือง เป็นอันว่าสหชัยรับไม่ได้ โดยที่เขาและครอบครัวต้องระเหเร่ร่อน ขาดอาชีพการงาน เป็นหนี้เป็นสินเป็นเงินกว่า ๓ ล้านบาท

มารดาสหชัย ซึ่งเคยเชื่อนั่นในพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวว่าเธอและลูกๆ จะได้รับความยุติธรรม ก็เลยหมดความเชื่อมั่นใดๆ จนกลายเป็นคนไม่ไว้ใจอะไรต่ออะไร และกลายเป็นโรคประสาทไปอีกคน จนสหชัยต้องพาไปโรงพยาบาลเลิดสิน แพทย์และพยาบาลไม่สนใจผู้หญิงเมืองจีนที่มารอรับการตรวจอยู่ในห้องฉุกเฉิน สหชัยจึงประกาศก้องออกไปว่า “หมอครับ พยาบาลครับ ผู้หญิงแก่ๆ คนนี้เป็นแม่ผม เขาเป็นโรคที่ถูกในหลวงกระทำ” เล่นเอาแพทย์และพยาบาลเลยรีบมาดูแลรักษากันอย่างทันที แต่แล้วเขาก็ต้องสูญเสีย มารดาไปภายในอีกไม่กี่วันต่อมา

ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ สหชัยเข้าเฝ้าแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง เป็นครั้งที่ ๑๐ ณ วัดบวรนิเวศ ผลก็คือเขาได้รับจดหมายตอบจาก ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วว่าเขาและคณะญาติได้รับข้อเสนอของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เสนอให้เป็นตัวเงิน ๗๖๐,๐๐๐ บาท ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานดังกล่าวพิจารณาคดีนี้ใหม่ ให้เป็นไปในทางยุติธรรม

ต่อมาอีกปีครึ่ง สหชัยจึงได้จดหมายจากสำนักงานทรัพย์สินฯ แจ้งว่าจำนวนเงินดังกล่าว ทางสำนักงาน ยินดีบวกดอกเบี้ยให้ทุกปีตลอดเวลา ๒๐ ปีที่แล้วมา เป็นจำนวนเงินทั้งสิน ๕-๖ ล้านบาท

ส่วนทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่ง ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ดูแลอยู่นั้น สหชัยได้ขึ้นไปร้องเรียน จนได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ต่อพระองค์ สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ขณะประทับรถ พระที่นั่งอยู่กลางทาง พระองค์รับสั่งว่า “เรื่องของเธอเป็นเรื่องเล็กน้อย จะให้ฉันเข้าไปก้าวก่ายกับการทำงานของคนของฉันกระไรได้ ฉันต้องเชื่อคนของฉัน” ตรัสแล้วก็ทรงหันไปหาพระสหายชาวต่างประเทศที่นั่งรถไปกับพระองค์ ทรงแปลให้แหม่มคนนั้นฟัง สหชัยเห็นแหม่มหัวเราะร่วน พร้อมกับการทรงพระสรวลของสมเด็จพระศรีฯ เขารู้สึกว่าเขากลายเป็นสัตว์ประหลาดไปเสียแล้ว

เรื่องราวทั้งหมดนี้ประวิตร โรจน์พฤกษ์ ได้เขียนลง The Nation ซึ่งกำหนดออก ณ วันเฉลิมพระชนพรรษา ปี ๒๕๓๗ เขาไม่แน่ใจว่าทางกอง บ.ก. จะยอมลงบทความให้หรือไม่ เขาออกจะกระวนกระวายใจมาก ข้าพเจ้าจึงชวนเขาให้ไปสงบสติอารมณ์ ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทางจังหวัดกาญจนบุรี

ผลก็คือ เนื่องในโอกาสวันหยุดราชการอันสำคัญนั้น ทางกอง บ.ก. ไม่ได้ตรวจตราอย่างพิถีพิถันนัก บทความของประวิตรจึงได้ตีพิมพ์ ใน The Nation ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๗ เป็นเหตุให้ประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้รับเลือกจากคณะกรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ให้เป็นนักหนังสือพิมพ์ตัวอย่าง ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๓๗

ทางฝ่ายสหชัยนั้นเล่า ตั้งแต่เขาพลัดที่นาคาที่อยู่ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ก็ได้ให้เขาไปพัก ณ ป๋วยเสวนาคาร ภายในบริเวณวัดปทุมคงคา ตอนที่เขาอยู่ในกรุงเทพ หาไม่ก็ให้เขาไปพัก ณ อาศรมวงศ์สนิท ทางคลองรังสิตที่ ๑๕ จังหวัดนครนายก ซึ่งมีที่หลับที่นอนและอาหารการกินสำหรับเขาทุกมื้อ

มื้อสุดท้ายเขาไปรับประทานที่โรงอาหารของอาศรม ตอนเย็นวันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ชาวอาศรมไม่เห็นสหชัยไปกินข้าวที่โรงอาหาร จึงจัดข้าวปลาใส่สำรับ ไปให้ ณ เรือนที่เขาพัก พอเปิดประตูห้องของเขาเข้าไป ก็ปรากฏว่าเขาได้ไปสู่ปรโลกเสียแล้ว ด้วยอาการอันสงบ

เชื่อว่าเขาคงไปสู่สุขคติภพ แม้เขาจะถูกโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง เอารัดเอาเปรียบเขาด้วยประการต่างๆ มาเป็นเวลาหลายสิบปี หากเขาใช้ธรรมข่มใจไว้ได้ ไม่ให้ต้องเป็นโรคประสาท เช่นมารดาและพี่ชาย แต่ตราบใดที่โครงสร้างทางสังคม ยังคงรุนแรงและอยุติธรรมเช่นนี้ คนที่ถูกเบียดเบียนบีฑา เช่น สหชัย ศุภมิตรกฤษณา ก็จะมีเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะสมัยนี้ ไม่แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์เท่านั้น ที่เอารัดเอาเปรียบคนยากไร้ ซึ่งไปอาศัยเช่าที่อยู่ แม้มหาวิทยาลัยอย่างจุฬาลงกรณ์ ตลอดจนวัดวาอาราม เช่นวัดยานนาวา และวัดกัลยาณมิตร ก็เอาเยี่ยงอย่างมาไล่ผู้คนที่มาเช่าที่วัดอยู่ ไปตามๆ กัน ดังคนที่ทำตนเป็นดังเจ้าของที่ ไม่เข้าใจในเรื่อง ความเมตตา กรุณาเอาเลย เห็นแต่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินเงินทอง และสิ่งก่อสร้างอย่างใหม่ ๆ ซึ่งอ้างว่าเป็นการพัฒนาไปในทางโลกาภิวัฒน์ นี้นับว่าน่าอัปยศยิ่ง

Sulak Sivaraksa
Last edited November 4, 2011