วันพุธ, พฤศจิกายน 25, 2563

เอาป้ายไปปักว่าเป็นเขตพระราชฐาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นตามนั้น ไม่งั้นถ้าเอาป้ายไปปักร้านขายข้าวแกงข้างทาง ร้านไม่กลายเป็นเขตพระราชฐานไปเลยหรือ ?




อานนท์ นำภา
14h ·

เอาป้ายไปปักว่าเป็นเขตพระราชฐาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นตามนั้น ไม่งั้นถ้าเอาป้ายไปปักร้านขายข้าวแกงข้างทาง ร้านไม่กลายเป็นเขตพระราชฐานไปเลยหรือ ?
ชวนอ่านบทความจากเพื่อนนักกฎหมายที่เขียนส่งมาครับ
————————————————
พรุ่งนี้ วันที่ 25 พ.ย. 2563 การชุมนุมบริเวณด้านหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด
การชุมนุมสาธารณะเป็นเสรีภาพที่มีความสําคัญ
ในระบอบเสรีประชาธิปไตย
แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชนในการนําเสนอ หรือผลักดันแนวความคิดของตนเองต่อสาธารณะและรัฐบาล
เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 ก็รับรองเอาไว้ ในส่วนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็เขียนว่า ได้ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การบังคับใช้หรือตีความกฎหมายก็ควรจะต้องสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ตีความไปในทางปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม อันถือเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าว
ดังนั้นแล้ว การจัดการชุมนุมย่อมสามารถกระทำได้ในทุกท้องที่ตามหลักการของเสรีภาพในการชุมนุม ข้อจำกัดหรือข้อห้ามมิให้จัดการชุมนุมในเรื่องสถานที่จะกำหนดไว้เป็นบางกรณีเท่านั้น จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดอย่างยิ่งเพราะถือเป็นข้อยกเว้นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในชั้นนี้จะขอกล่าวถึง มาตรา 7 ของ พรบ.ชุมนุมฯห้ามไม่ให้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากสถานที่ดังนี้
- พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง
- วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป
- พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก
- จากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก
- สถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ
หากจัดการชุมนุมในสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ต่าง ๆ ข้างต้น ย่อมสามารถจัดการชุมนุมได้ตามหลักเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ผิดกฏหมายตามมาตรา 7 แต่อย่างใด
ข้อพิจารณา คือ “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” จัดอยู่ในสถานที่ต้องห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร ตามมาตรา 7 หรือไม่
เห็นว่า “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย โดยลักษณะแล้วจึงไม่น่าจะถือเป็น “พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง หรือวังต่าง ๆ รวมถึงไม่ใช่ที่ประทับหรือพำนัก”ตามความหมายในมาตรา 7 ไม่ต้องห้ามชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประชาชนย่อมสามารถจัดการชุมนุมได้ตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปิดกั้น หรือนำแนวต่าง ๆ มาขวาง ไม่ให้ผู้ชุมนุมไปชุมนุมก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิดกฎหมายเสียเอง รวมทั้งได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติการะหว่างประเทศฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอีกด้วย
การอธิบายแบบนี้อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า
“สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”
ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของวังลดาวัลย์ หรือ วังแดง
จึงต้องห้ามไม่ให้ชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร นั้น
ผมก็ขออธิบายชี้แจงแบบนี้ว่า วังลดาวัลย์ หรือ “วังแดง” เป็นวังซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2449-2451 เพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เมื่อคราวใกล้จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยพระราชทานนาม “วังลดาวัลย์” ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์) ผู้เป็นเสด็จตาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพรฯ
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพารัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเคยเช่าใช้เป็นหอวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเคยใช้เป็นที่พำนักของกองกำลังทหารจากสหประชาชาติ
ครั้นในช่วงปลายสงคราม พ.ศ. 2488 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ติดต่อขอซื้อวังลดาวัลย์จากพระทายาทเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นของต่างชาติ วังลดาวัลย์จึงอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา (อ้างอิงจาก : http://www.thaitribune.org/contents/detail/331... )
ดังนั้นแล้ว โดยลักษณะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน วังลดาวัลย์ หรือวังแดง จึงเป็นเพียงสถานที่ใช้งานของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีลักษณะทั้งในเชิงการใช้งานและข้อเท็จจริงว่าเป็น “วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป” ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน และ “ไม่ใช่สถานที่ประทับหรือพำนัก” แต่อย่างใด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้ออ้างว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในวังลดาวัลย์เดิม
จึงต้องห้ามไม่ให้ชุมนุมภายในรัศมี 150 นั้น
จึงไม่มีน้ำหนักไม่ชอบด้วยเหตุผลในทางกฎหมาย
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอีกด้วย
อนึ่ง ตามกฎหมาย มาตรา 7 ไม่ได้กำหนดห้ามชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร “จากเขตพระราชฐาน” การที่ตำรวจออกมาประกาศอ้างว่า ห้ามชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพราะเป็นเขตพระราชฐาน จึงเป็นการอ้างที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายตาม พรบ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจอ้างแบบนั้นไม่ได้ ประกอบกับยังไม่ชัดเจนว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือเป็น เขตพระราชฐาน หรือไม่ เพราะคำว่า “ราชฐาน” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความว่า อาณาบริเวณที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ใช้คำว่า พระราชฐาน เช่น เขตพระราชฐาน แปรพระราชฐาน
กล่าวโดยสรุปแล้ว การชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย. 2563 บริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจปิดกั้นหรือสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมไปยังบริเวณดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด หากเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นหรือขัดขวางถือว่าทำผิดกฎหมาย