วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 29, 2563

เปิดรายงานสภาฯ เยอรมนี ระบุกษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตในประเทศ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนมขณะประทับในประเทศ แต่มีสิทธิ์เชิญออกนอกประเทศ หากพบหลักฐานทำผิดกฎหมายเยอรมนี

EPA
โรงแรมที่สื่อเยอรมันรายงานว่าเป็นที่ประทับของกษัตริย์ไทย

ร.10 : รายงานสภาฯ เยอรมนีระบุกษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตในประเทศ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนม

27 พฤศจิกายน 2020
บีบีซีไทย

เปิดรายงานของสภาผู้แทนราษฎร เยอรมนี ระบุกษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนมขณะประทับในประเทศ แต่มีสิทธิ์เชิญออกนอกประเทศหากพบหลักฐานทำผิดกฎหมายเยอรมนี

น.ส. เซวีม ดาเดเลน ส.ส. จาก พรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE) และ สมาชิกกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ของเยอรมนี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เธอและ ส.ส.หญิงร่วมพรรคอีก 1 คน ได้ส่งคำร้องไปที่สำนักบริการวิชาการ (WD) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ เมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ขอให้จัดทำรายงานการเสด็จประทับในเยอรมนีของกษัตริย์ไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลังผ่านไป 1 สัปดาห์ WD ได้นำเสนอรายงานสาธารณะ 15 หน้า ในหัวข้อ "ความเคลื่อนไหวของประมุขต่างชาติบนดินแดนเยอรมนี"

รัฐบาลเยอรมนี ระบุ ไม่พบหลักฐานกษัตริย์ไทยทรงทำผิดกฎหมายในเยอรมนี
“เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เยือนเยอรมนีสม่ำเสมอ”
ลำดับท่าทีเยอรมนีกรณีเสด็จประทับของ ร.10


หน้าบ้านพักหลังใหญ่ในเขตทุตซิงที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนเชื่อว่าเป็นพระตำหนักริมทะเลสาบในแคว้นบาวาเรีย

ส.ส.หญิงวัย 45 ปีที่มีเชื้อสายเคิร์ด ระบุว่า เธอติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความเห็นอกเห็นใจ ได้เห็นประชาชนนับหมื่นออกมาตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้ยกเลิกระบบเพื่อชนชั้นสูง และยุติการคุกคามประชาชน ดังนั้นพรรคฝ่ายซ้ายขอร่วมใน "ภราดรภาพกับกลุ่มพลังก้าวหน้าทั่วโลกที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม"

ด้วยเหตุนี้ เธอตัดสินใจร้องต่อสำนักบริการวิชาการ ให้จัดทำรายงานชิ้นนี้ออกมา เพราะสงสัยในข้อกฎหมาย ว่าประมุขต่างแดนสามารถบริหารราชการแผ่นดินขณะพำนักในเยอรมนีเป็นเวลานานได้หรือไม่

"กษัตริย์วชิราลงกรณ์ของไทยประทับอยู่ที่โรงแรมหรูในแคว้นบาวาเรียเป็นเวลาหลายเดือน คงเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะเชื่อว่ากษัตริย์ของไทยไม่ทรงงานขณะพำนักอยู่ที่นี่ ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติงานแทนขณะไม่ได้พำนักในประเทศไทย แม้แต่รัฐบาลเยอรมนีก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา" 1 ใน 69 ส.ส. ของพรรคฝ่ายซ้าย กล่าวกับบีบีซีไทย

สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีมีสมาชิกทั้งหมด 709 คน


น.ส. เซวีม ดาเดเลน ส.ส. จาก พรรคฝ่ายซ้าย

รัฐบาลไทยไม่เคยชี้แจง

นับตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. รัฐบาลและรัฐสภาของเยอรมนีหยิบยกเรื่องการประทับในเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ไทยมาพูดในที่สาธารณะบ่อยครั้ง หลังสื่อมวลชนเยอรมันรายงานพระจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในรัฐบาวาเรียมาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนีรายงานว่า รัฐบาลเยอรมนี ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมาย ในเยอรมนี ประเทศที่พระองค์ทรงประทับอยู่เกือบตลอดปีนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเบอร์ลินเปิดเผยกับบีบีซีไทย เมื่อ 13 พ.ย. ว่า"กระทรวงการต่างประเทศรับรู้มาตลอดว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เยือนเยอรมนีสม่ำเสมอ ในขณะนี้พระองค์มิได้ประทับอยู่ในเยอรมนี"

ทว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ไม่เคยออกมาชี้แจงต่อประชาชนในเรื่องนี้ จนกระทั่งวันที่ 12 พ.ย. ปีนี้ ม.ร.ว. จิราคม กิติยากร สมาชิกราชสกุลกิติยากร โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก Chirakom Kitiyakara ออกมาอธิบายสาเหตุการเสด็จเยอรมนี

"ที่พวกฝรั่งออสเตรเลียร่วมมือกับพวกคอยล้มล้างสถาบันฯ พูดว่า ร.10 เอาแต่ไปอยู่เยอรมันนี ..


.......และใส่ร้ายพระองค์หลายเรื่องโดยไม่รู้เบื้องหลังความจริง มีพี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การที่ท่านไปอยู่เยอรมันบ่อยในช่วงก่อน เพราะพระองค์ท่านเข้ามาสังฆยานาพวกกร่าง และโกงกินในวัง และพวกที่ถูกลงโทษมีความเจ็บแค้น อาจคิดลอบปลงพระชนม์ จึงต้องป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณสระบ่อดินขาว โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เฝ้าฯรับเสด็จ ณ สระบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ 24 พ.ย. 2563

ประเด็นศึกษาในรายงาน

รายงานฉบับนี้ แบ่งประเด็นการศึกษาออกเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ
  • กษัตริย์ไทยในรัฐบาวาเรีย
  • ขอบเขตกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับพฤติการณ์ของผู้นำต่างชาติในเยอรมนี
  • ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับการพำนักในบาเยิร์
สาระสำคัญของรายงานคือ การเริ่มพิจารณาจาก มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า "ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

เมื่อไม่พบว่าทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะผู้ศึกษารายงานนี้จึงไปพิจารณาว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกรณียกิจใดบ้าง ขณะประทับในเยอรมนี และทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมายเยอรมนีหรือไม่

ผลการศึกษาในกรอบที่ตั้งไว้พบว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับความคุ้มครองทางการทูต ขณะทรงพำนักที่วิลลาหรูในรัฐบาวาเรีย รัฐบาลเยอรมนีแทบไม่มีอำนาจใดเลยที่จะดำเนินคดีกับพระองค์ หรือเฝ้าติดตามพระจริยวัตรของพระองค์ หากสงสัยว่าทรงกระทำความผิดในเยอรมนี


หน้าปกรายงาน 15 หน้า โดย สำนักบริการวิชาการ (WD) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ

ไมเคิล ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวดีพีเอรายงานจากกรุงเบอร์ลินว่า เมื่อ 11 พ.ย. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าของวิลลาแถบเทือกเขาบาวาเรียนแอลป์ส ขณะที่ในช่วงก่อนหน้าของปีนี้ ระหว่างล็อกดาวน์ซึ่งสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 พระองค์ทรงประทับอยู่ที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งใน การ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชิน (เมืองชนบททางใต้ของรัฐบาวาเรีย ติดกับพรมแดนประเทศออสเตรีย ถือเป็นแหล่งเล่นสกีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง) แม้ว่าจะมีกฎห้ามพักค้างคืน

รายงานของสภาผู้แทนฯ ฉบับนี้ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมี "หลักฐานที่เชื่อถือได้" ว่า พระองค์ทรงกระทำผิดกฎหมายเยอรมนี รัฐบาลก็มีสิทธิ์ที่จะกราบทูลเชิญให้ออกนอกประเทศ หรือไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศอีก

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เว็บไซต์วอลสตรีตเจอร์นัล รายงานคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุขของประเทศ "ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" และทรงประกอบพระราชกรณียกิจในพิธีต่าง ๆ ของพระองค์ หากแต่ "ทรงไม่ยุ่งเกี่ยวในการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล


ชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 25 พ.ย. 2563

พรรคฝ่ายซ้ายจะทำอะไรต่อ

น.ส. ดาเดเลน บอกว่า เธอจะผลักดันร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสภาผู้แทนฯ เพื่อกดดันรัฐบาลเยอรมนีไม่ให้การต้อนรับกษัตริย์วชิราลงกรณ์ อีกต่อไป และต้องผลักดันให้พักการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทย

"ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากษัตริย์ไทยจะเสด็จฯ กลับเยอรมนีเมื่อไร ถ้ามีหมายกำหนดการเสด็จฯ จริง พรรคฝ่ายซ้ายของเราจะเคลื่อนไหวกดดันไปที่รัฐบาลเยอรมนีเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประมุขของไทยได้รับความยินยอมให้ประทับในสำนักงานสาขาที่หรูหราของพระองค์ในเยอรมนี ในที่สุดแล้ว...พระองค์ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แน่นอนว่าเราจะทำงานร่วมกับพรรคกรีนส์และพรรคประชาธิปไตยอื่น ๆ ในการสร้างสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยร่วมกัน"

ก่อนหน้านี้ ฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส. พรรคกรีนส์ กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อ ต.ค. ว่า จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลเยอรมนี และสหภาพยุโรป (อียู) ให้ระงับการเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอียูกับไทย เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลไทยปัจจุบันที่แปรสภาพมาจากคณะรัฐประหารยังดำเนินการที่ขัดขวางกระบวนการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย

ชุมนุม 19 กันยา : “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาผู้ยืนกรานปฏิรูปสถาบันฯ
ร. 10 : ส.ส.พรรคกรีนส์เผยทำไมต้องถามเรื่องกษัตริย์ไทยในสภาเยอรมนี
ทูตบอก "คนไทยในออสเตรเลียจำนวนมากไม่พอใจ" ข่าวทีวีเกี่ยวกับในหลวง

ประมุขของรัฐทำอะไรได้บ้างขณะอยู่ในต่างประเทศ

ศ.มาร์ค เวลเลอร์ ประธานสถาบันการศึกษาด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า โดยปกติแล้วหากประมุขของรัฐอยู่ระหว่างเดินทางเยือนต่างประเทศ ก็จะยังสามารถปฏิบัติภารกิจที่เป็นทางการขณะอยู่ในต่างประเทศได้ อาทิ การเดินทางเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยังสามารถบัญชาการภารกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกา ทั้งของคณะรัฐมนตรี และอื่น ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน เพราะไม่มีข้อห้ามใด ๆ ไม่ให้ปฏิบัติดังกล่าวในระหว่างการเยือนต่างประเทศซึ่งมักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

ศ.เวลเลอร์ กล่าวว่าในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยอาจมีความแตกต่างออกไป เนื่องจากพระองค์ประทับในเยอรมนีเป็นเวลาต่อเนื่องซึ่งไม่น่าจะเป็นการเยือนโดยปกติทั่วไปของประมุข แต่น่าจะเป็นการเยือนส่วนพระองค์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากเคมบริดจ์ กล่าวอีกว่าในระหว่างเยือนต่างประเทศ ประมุขของรัฐได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากประเทศผู้ต้อนรับโดยไม่มีเงื่อนไข โดยประเทศผู้ต้อนรับไม่สามารถจับกุม ดำเนินคดี หรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ ของประเทศผู้ต้อนรับกับประมุขของรัฐที่ไปเยือนได้

เขากล่าวด้วยว่าประมุขของรัฐเป็นบุคลที่ไม่อาจแตะต้องได้ เว้นเสียแต่ว่าประมุขของรัฐเองจะไม่ใช้เอกสิทธิ์ดังกล่าว…ซึ่งในกรณีของพระมหากษัตริย์ไทยเขาไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

"สิ่งเดียวที่จะปฏิบัติต่อประมุขแห่งรัฐได้คือการประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์…ชี้ว่าได้มีการใช้สิทธิคุ้มครองไปในทางไม่ถูกต้องและเชิญให้ออกนอกประเทศ หรือบังคับให้ออกนอกประเทศ แต่นั่นก็จะก่อให้เกิดความร้าวฉานทางการทูตระหว่างสองประเทศ"


พระอักษรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จ ณ สระบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ 24 พ.ย. 2563

ลำดับท่าทีรัฐบาลเยอรมนีต่อการเสด็จประทับของกษัตริย์ไทย

7 ต.ค. -- นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบกระทู้ของ ส.ส. พรรคกรีนส์ในสภาผู้แทนฯ ว่า "เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี...หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นอน"

"เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี เราได้รับรายงานว่าเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้นหลายครั้งที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่เห็นด้วย และนี่แตกต่างจากกรณีที่เรามีเกี่ยวกับนายนาวาลนี (นายอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย) หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นนอน"

"ผมคิดว่านี่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เราจะหารือกับสหภาพยุโรป แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคุยเรื่องนี้กับฝ่ายไทยอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ เพราะไทยมีผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่เหมาะสม และผมเชื่อว่าเราอาจใช้ข้อเรียกร้องของเราเป็นเครื่องต่อรองได้ แต่ผมไม่ตัด (ตัวเลือกการหารือกับอียู) หากรัฐบาลทหารยังคงพฤติกรรมแบบเดิม เราต้องรอดูเรื่องนี้ต่อไป และเราอาจต้องใช้มาตรการนั้น"

9 ต.ค. ไฟแนนเชียลไทมส์ (FT) อ้างคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ว่าได้แจ้งเอกอัครราชทูตไทยในข้อกังวลเรื่องการทรงงานในต่างแดนของในหลวง ร. 10 หลายครั้งแล้ว

FT อ้างถ้อยแถลงของ น.ส.มาเรีย อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ที่ระบุเมื่อวันที่ 9 ต.ค. รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า "การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี" และ "เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก"

ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
ร.10 : "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ปฏิกิริยา 2 ฝ่ายหลังพระราชดำรัสในหลวง
สื่อสหรัฐฯ และอังกฤษว่าอย่างไรเมื่อ “ราษฎร” ไทยไปสถานทูตเยอรมนี


นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในสภาฯ

26 ต.ค. วันที่ผู้ชุมนุมในไทยเดินขบวนไปยื่นจดหมายที่สถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ นายไฮโก มาส แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า "รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยาวัตรของกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง และ "จะเกิดผลสืบเนื่องทันที หากเราประเมินแล้วว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย" และบอกอีกว่า รัฐบาลเยอรมนีแถลงไปหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจทางการเมืองขณะพำนักอยู่บนดินแดนเยอรมนี

29 ต.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีว่า ผู้แทนรัฐบาลเยอรมนีได้กล่าวบรรยายสรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับกษัตริย์ไทยให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรฟังว่า รัฐบาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับอนุญาตให้ตัดสินพระทัยเป็นครั้งคราว ตราบใดที่พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเยอรมนี

เมื่อถามถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้แทนรัฐบาลเยอรมนีชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า พระองค์ทรงถือวีซ่าที่อนุญาตให้ทรงประทับอยู่ในเยอรมนีได้นานหลายปีในฐานะบุคคลทั่วไป และทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตในฐานะประมุขของรัฐ

"เป็นที่ชัดเจนว่าหลายคนมองว่าสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้นเป็นปัญหา แต่ทางรัฐบาลระบุว่านี่ยังไม่ถือว่าเป็นการทรงปฏิบัติภารกิจด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติม

11 พ.ย. สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี รายงานว่า นายมิเกล แบร์เกอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศตอบกระทู้ของ ส.ส. พรรคกรีนส์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า "จากข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลไทย การประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนีเป็นเรื่องส่วนพระองค์" ทางกระทรวงคาดว่า พระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ "เป็นการแทรกแซงระบบกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศ" ขณะทรงประทับอยู่บนแผ่นดินเยอรมนี

13 พ.ย. แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า "กระทรวงการต่างประเทศรับรู้มาตลอดว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เยือนเยอรมนีสม่ำเสมอ ในขณะนี้พระองค์มิได้ประทับอยู่ในเยอรมนี"

"โดยทั่วไป รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีคาดหวัง และสันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์ของไทย ในขณะที่ทรงประทับในเยอรมนี จะไม่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยใดใดที่จะฝ่าฝืนกรอบของกฎหมายในเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่เห็นพ้องในระดับสากล"

18 พ.ย. สำนักบริการวิชาการ (WD) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้นำเสนอรายงานสาธารณะ 15 หน้า ในหัวข้อ "ความเคลื่อนไหวของประมุขต่างชาติบนดินแดนเยอรมนี" ระบุว่ากษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนมขณะประทับในประเทศ แต่มีสิทธิ์เชิญออกนอกประเทศหากพบหลักฐานทำผิดกฎหมายเยอรมนี

ร.10 : เยอรมนีระบุจับตาการประทับของกษัตริย์ไทยอย่างต่อเนื่อง
ทำความรู้จัก รมว. ต่างประเทศ เยอรมนี ผู้ตอบสภาเรื่องกษัตริย์ไทย
ร.10 : นักศึกษาไทยในฝรั่งเศสเปิดใจทำไมจึงตั้งกระทู้ถึงผู้นำเยอรมนีเรื่องกษัตริย์ไทย