iLaw
7h ·
ประมวล #ม็อบ28พฤศจิกา การชุมนุมที่อิมพีเรียลฯ - แยกบางนา
28 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16.00 น. ที่อิมพีเรียล เวิร์ด สำโรง แนวร่วมสมุทรปราการและการชุมนุมนัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่เคลื่อนขบวนยึดแยกบางนา โดยเป็นการรวมตัวจากประชาชนหลายภาคส่วนผู้ใช้แรงงาน, คนเสื้อแดงและนักเรียน นักศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
ตั้งแต่เวลา 15.40 น. มีประชาชนทยอยมารวมตัวกันด้านหน้าอิมพีเรียลฯ จุดนัดหมายการชุมนุมวันนี้ ที่เกาะกลางถนนมีตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวก 2 นาย ประชาชนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงให้ความสนใจ
ริมฟุตบาทมีการตั้งหน่วยปฐมพยาบาล FAV.53 และมีรถเครื่องขยายเสียงเปิดเพลง สลับปราศรัย นอกจากนี้ยังมีการแจกสายรัดข้อมือให้แก่เยาวชนในม็อบ ภายใต้แคมเปญ Child in mob
กิจกรรมภายในงานก่อนการเคลื่อนขบวนเช่น การร้องเพลงและการเขียนข้อความลงบนป้ายผ้าที่วางอยู่บริเวณทางเข้าห้าง มีประชาชนให้ความสนใจเขียนข้อความจำนวนมาก ตัวอย่างข้อความจากใจประชาชน
* แพ้ชนะกูไม่รู้ กูจะสู้ของกูต่อ
* ยกเลิก 112
* ยุติธรรมไม่มีสามัคคีไม่เกิด
* ถ้าประเทศพัฒนาจริง อำนาจเจริญคงมีรถไฟฟ้า
* คืนความเป็นธรรมให้เกษตรกร
ต่อมาเวลา 18.10 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าแยกบางนาและถึงจุดหมายในเวลา 19.00 น. จากนั้นจึงเริ่มทำกิจกรรมต่อ เช่น การปราศรัย การจัดแสดงเรือดำน้ำจากคณะราษฎรพระประแดง และการเขียนข้อความด้วยชอล์คและพ่นข้อความด้วยสเปรย์สีลงบนพื้นถนน
เนื้อหาการปราศรัยแบ่งเป็นประเด็นดังนี้
การศึกษา
ตัวแทนนักเรียนเทคนิคแห่งหนึ่งปราศรัยเรื่องการศึกษาว่า เราเจอปัญหาการลิดรอนสิทธินักเรียนนักศึกษา สองประเด็น หนึ่ง เรื่องการเข้าแถวที่นักเรียนทนตากแดดเพื่อไปฟังอาจารย์พูดอะไรไม่รู้ 15 นาที ทั้งที่เวลานั้นนักเรียนสามารถเอาไปเตรียมพร้อมเรื่องการเรียนได้ และสอง การกล้อนผมนักเรียนมองว่า ควรจะหยุดกระทำตั้งนานแล้วเพราะเป็นการละเมิดสิทธิ ครูบอกว่า การกล้อนผมเพื่อไม่ให้นักเรียนไม่ทำอีก แต่ความจริงไม่ใช่ คุณกำลังทำให้นักเรียนไม่ทำอีกหรือทำให้นักเรียนอาย
นักเรียนต้องเจอกับการศึกษาที่เน่าเฟะ ออกมาจากโรงเรียนต้องมาเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี...สิ่งที่เราต้องเจอคือ ตื่นมาเรียนเจอกับปัญหารถติด ถ้าจะขึ้นบีทีเอสราคาก็แพง เราไม่สามารถต่อรองได้ เมื่อราคาแพงก็ต้องอาศัยรถเมล์ที่คาดการณ์ไม่ได้ว่า จะมาตอนไหน พอขึ้นไปเจอกับปัญหาคนามแออัดฝุ่นควันบนรถเมล์ เราขอรถเมล์คันดีๆคุณให้เราไม่ได้แต่สิ่งที่เราได้กลับเป็นรถถัง เรือดำน้ำและเฮลิคอปเตอร์
——————-
เพชร ธนกร เยาวชนที่ได้รับหมายเรียกคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมขึ้นปราศรัยว่า รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งที่คุณตำรวจกลัวคนอายุ 17 ปี เขาได้รับหมายเรียกคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคม 2563 รวมแล้ว 3 คดี คดีที่หนักที่สุดคือ คดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ธนกรปราศรัยเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยบรรจุเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาไว้ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงแบบเรียนให้มีเนื้อหารอบด้านมากขึ้น
////////////////////////////////////////////////////
สิทธิแรงงานและพนักงานบริการ
ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวว่า พวกเรากลุ่มพนักงานบริการที่ทำงานในบาร์เบียร์ อาบอบนวดถูกควบคุมโดยกฎหมายตั้งแต่ปี 2503 ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนไปก็ไม่เคยได้ดี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีทำให้พวกเราตกอยู่ในฐานะอาชญากร วันนี้อยากชวนพี่น้องทุกคนถือบัตรประชาชนคนละหนึ่งใบ ช่วยกันยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พวกเราต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคน ถ้าไม่มีกฎหมายนี้เราจะเป็นแรงงานในระบบ
“สิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่อะไรเลย ต้องการความเป็นคนกลับคืนมา คืนศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กับพวกเรา”
——————-
แชมป์ ฉัตรชัย ปราศรัยว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยเอะใจเรื่องในที่ทำงานเลย ตอนที่เพื่อนบอกว่า บริษัทเผด็จการ จึงเพิ่งเข้าใจว่า บริษัทเหมือนการปกครองประเทศ เมื่อบริษัทออกกฎเกณฑ์โดยคนไม่กี่คน มันเหมือนกับระบอบคสช.และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คนไม่กี่คนออกแบบให้คนจำนวนมาก
เรื่องเงินเดือนและค่าแรงยิ่งเผด็จการเพราะถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คน ทำให้เจ้าของและผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ เขาทำงานที่แรกได้เงินเดือน 20,000 บาทแต่บริษัทเอาไปขายได้ 100,000 บาท มันเกิดคำถามว่า คนๆหนึ่งมีสิทธิอะไรมาขโมยมูลค่าส่วนเกิน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นของตนเอง ทั้งที่ถ้าไม่มีแรงงานเขาจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เซเว่นขับเคลื่อนไปได้เพราะพนักงานเซเว่นเป็นหมื่นคน ไม่ใช่เจ้าสัว เครื่องจักรคอมพิวเตอร์ไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีพวกเรา พวกเราคือแรงงานที่หลากหลาย เราเป็นเพื่อนกัน เพื่อนที่ถูกขูดรีดร่วมกันและถูกกระทำซ้ำจากศักดินาปรสิต
ประชาธิปไตยต้องมีในทุกส่วนของสังคม ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัยและบริษัท ตัวอย่างที่ดีคือ รัฐธรรมนูญเยอรมนีกำหนดให้บริษัทที่มีแรงงานมากกว่า 2,000 คน บอร์ดบริหาร 40 เปอร์เซ็นต์ต้องมาจากการเลือกตั้งของพนักงาน ทำให้การออกข้อบังคับต่างๆจะคำนึงถึงแรงงาน...ถ้าอยากสร้างประชาธิปไตย...ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ที่ทุกคนเป็นแรงงานเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่มีใครเอากำไรทั้งหมดไป แบบที่เจ้าสัวทำ ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ตั้งสหภาพแรงงานให้ได้ยิ่งดี สร้างอำนาจในการต่อรอง รวมตัวกันให้เขารู้ว่า ใครสำคัญ
////////////////////////////////////////////////////
ความเท่าเทียมกันทางเพศ
ต้นอ้อ ดวงพร นักเรียนวัย 16 ปี ปราศรัยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศว่า เธอขอเรียกร้องสมรสเท่าเทียมไม่ต้องการพ.ร.บ.คู่ชีวิต เราไม่มีความเป็นคนเท่าเทียมกันหรือ หากอนาคตเธอมีคู่เป็นผู้หญิงก็อยากร่วมชีวิตและได้สิทธิเหมือนชายหญิงทั่วไป ขอเรียกร้องไม่ให้เรียก LGBT ว่า เพศที่ 3 ไม่มีใครเป็นเพศที่ 1 ที่ 2 ไม่มีเพศใดมาก่อนกัน ทุกคนเป็นคนเท่าเทียมกัน
เธอกล่าวต่อว่า ทราบดีว่าสื่อเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ มีบทบาทในการนำเสนอละครของผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อ ขอเรียกร้องให้ซีรี่ย์วายกระจายสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องไม่ส่งต่อความคิดเหมารวม (stereotype) นอกจากนี้ยังกล่าวถึงว่า LGBT ต้องพิสูจน์ตัวเองเสมอ เหตุใดต้องพิสูจน์ว่า ตัวเองเป็นคนดีเพียงเพราะเป็น LGBT
ต้นอ้อยังเรียกร้องให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ และเรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการของผู้หญิงในประเทศนี้ ประเทศอื่นผ้าอนามัยกลายเป็นสวัสดิการแล้วประเทศไทยเก็บภาษีผ้าอนามัยในราคาที่สูงเพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้หญิงอย่างเราเลือกไม่ได้
อีกประเด็นคือ เรื่องการที่ผู้หญิงต้องใส่เสื้อซับใน ผลักภาระให้ผู้หญิงป้องกันตัวเอง ในสังคมที่เลวทรามเรื่องพวกนี้มันเกิดจากการไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผลผลิตของระบอบชายเป็นใหญ่ เราจะอยู่ในสังคมแบบนี้จริงๆหรือ?
———
Thikamporn Tamtiang
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164705374360551