วันเสาร์, พฤศจิกายน 28, 2563

10 ปีที่แล้ว ทางการไทยแจงชาวโลกว่า 'ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' เป็นของคนทั้งชาติ


10 ปีที่แล้ว ทางการไทยแจงชาวโลกว่า 'ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' เป็นของคนทั้งชาติ

2020-11-27
ประชาไท

ย้อนดูความพยายามอธิบาย 'ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' ของทางการไทย กต. เคยโต้ฟอร์บส์ปี 51 ว่า 'ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ' ขณะที่ ปี 55 สถานทูตไทยระบุทรัพย์สินของ สนง.ทรัพย์สินฯนับเป็นของแผ่นดิน แม้แต่รายงานประจำปี 53 ของ สนง.ทรัพย์สินฯ ก็พยายามบอกว่า รัฐบาลเป็น 'ผู้รับผิดชอบ' จน 'สมศักดิ์' ต้องเขียนบทความโต้

ประเด็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกหยิบมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนนี้ควรเป็นของใครระหว่างของตัวกษัตริย์หรือของส่วนร่วม หลังจากกลุ่มราษฎรมีกำหนดเดิมที่จะชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเปลี่ยนไปที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถ.รัชดาภิเษก แทน โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ ควรยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้แก่สถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะส่วนที่ได้จัดสรรจากภาษีของประชาชน นั้น

กต. เคยโต้ฟอร์บส์ปี 51 ว่า 'ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ'

อย่างไรก็ตามก่อนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหารจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้เคยถูกหยิบมาถกเถียงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังนิตยสารฟอร์บส์ Forbes จัดอันดับให้กษัตริย์เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกโดยการรวมเอามูลค่าทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รวมอยู่ด้วย โดยในปี 51 นิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงอยู่ในลำดับสูงสุดของทำเนียบราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกในปีนี้ โดยมีพระราชทรัพย์ประมาณการได้ล่าสุดกว่า 35 พันล้านเหรียญฯ (1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท: 34 ดอลลาร์)

ในครั้งนั้น 22 ส.ค.2551 ข่าวสารนิเทศ เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ เผยแพร่คำชี้แจงกรณีที่นิตยสาร Forbes ได้เผยแพร่บทความพิเศษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประจำปี พ.ศ. 2551 ซึ่งได้จัดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในลำดับแรกของพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุด โดยคำชี้แจงดังกล่าวมีเนื้อความว่า...

ตามที่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2551 นิตยสาร Forbes ได้เผยแพร่บทความพิเศษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประจำปี พ.ศ. 2551 และได้จัดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในลำดับแรกของพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ชี้แจงว่า บทความดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากว่าทรัพย์สินที่บทความนำมาประเมินนั้น ในความเป็นจริงมิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่เป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่บทความเดียวกันนี้ไม่ได้จัดอันดับฐานะความร่ำรวย เพราะทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ

สำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ที่ดิน" ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการ องค์กรสาธารณะกุศลเป็นผู้ใช้ประโยชน์ และจัดให้ประชาชนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย รวมทั้งชุมชนอีกกว่าหนึ่งร้อยแห่งเช่าในอัตราที่ต่ำ มีเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ 7 ของที่ดินที่จัดให้เอกชนเช่าและจัดเก็บในอัตราเชิงพาณิชย์

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนเพิ่มเติมว่า บทความพิเศษดังกล่าวยังได้พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯว่าทรงเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งไม่ถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติดังกล่าวแต่อย่างใด การที่ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เป็นเพียงหน้าที่ขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงไปยังนิตยสาร Forbes ด้วยแล้ว

ปี 55 สถานทูตไทยระบุทรัพย์สินของ สนง.ทรัพย์สินฯนับเป็นของแผ่นดิน

หรืออีกครั้งในปี 55 นิตยสารฟอร์บส์ ได้เผยแพร่จดหมายที่ส่งมาจากสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งมีเนื้อหาชี้แจงต่อประเด็นต่างๆ ในบทความของฟอร์บส์ “In Thailand, A Rare Peek At His Majesty's Balance Sheet” ซึ่งเขียนโดย Simon Montlake เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2555 เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จดหมายดังกล่าวชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นแยกส่วนออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และมีการกำกับดูแลที่เป็นระบบ พร้อมทั้งเกื้อกูลสังคมและพสกนิกรไทยตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในบทความนิตยสารฟอร์บส์ ที่ชี้ว่ามีรายได้ถึงเดือนละ 9-11 พันล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้

จดหมายดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดย อาจารี ศรีรัตนบัลล์ อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยในวอชิงตัน ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย (Crown Property Bureau) ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ. 2479 พ.ศ. 2484 และ พ.ศ. 2491 ซึ่งได้แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน และตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี เช่นเดียวกับทรัพย์สมบัติของสาธารณะ แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็ต้องชำระภาษีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังระบุว่า การดูแลกำกับสำนักงานทรัพย์สิน ซึ่งดำรงสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล จะมีคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์ของ “พสกนิกร” (Thai subjects) และสังคมไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม

จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า การที่ฟอร์บส์ได้ประมาณยอดทรัพย์สินรวมของสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นตัวเลขราว 30 พันล้านดอลลาร์นั้น ฟอร์บส์มิได้เปิดเผยถึงการคำนวณตัวเลขดังกล่าวหรือคำอธิบายที่ชัดเจน จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ จดหมายจากสถานทูตไทย ชี้แจงว่า ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นับเป็นของแผ่นดิน ซึ่งไม่ควรถูกคำนวณรวมไปกับทรัพย์สินของพระองค์ พร้อมทั้งชี้ว่า รายงานของนสพ.ซันเดย์ ไทมส์ ของวันที่ 29 พ.ค. 2554 ได้คำนึงถึงความไม่ถูกต้องนี้ และไม่ได้จัดให้พระมหากษัตริย์ไทย อยู่ในประมุขที่รวยที่สุดในโลกสามลำดับแรก

ในตอนท้ายของจดหมาย ระบุว่า “ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่รวยสุดขั้ว (ultra-rich) ของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ฟอร์บส์พยายามจะสร้างขึ้น ใครที่รู้จักประเทศไทยและเคยขับผ่านพระราชวังจิตรลดาในกรุงเทพฯ ก็คงจะเห็นการวิจัยทางเกษตรกรรมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นในบริเวณพระราชวัง ห้องวิจัยดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแหล่งพัฒนาทดลองเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาในพระราชดำริทั่วประเทศกว่า 4 พันแห่ง

“พระราชวังในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน่าจะเป็นพระราชวังของพระมหากษัตริย์แห่งเดียวในโลกที่เต็มไปด้วยการทดลองปลูกนาข้าว บ่อปลา คอกหมูคอกวัว โรงสีข้าว และโรงงานเล็กๆ อีกหลายแห่ง” จดหมายจากสถานทูตไทยระบุ

'สมศักดิ์' ยังเคยโต้รายงานประจำปี 53 ของ สนง.ทรัพย์สินฯ ที่พยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลเป็น 'ผู้รับผิดชอบ'

อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นก็มีข้อโต้แย้งทางการไทย อย่าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 54 ในบทความ 'โต้ รายงานประจำปี 2553 ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' ที่ชี้ให้เห็นว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในการกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด และไม่มีใครหรือหน่วยงานใดควบคุมตรวจสอบได้นั้น เป็นเรื่องที่รู้กันดีมานานแล้วในแทบทุกวงการ ทั้งวงการธุรกิจ วงการรัฐบาล และแม้แต่ประชาชนจำนวนมาก การที่ “รายงานประจำปี 2553” ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พยายามบิดเบือนว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีรัฐบาลเป็น “ผู้รับผิดชอบ” เป็นอะไรที่เหลือเชื่อมากๆ

ในครั้งนั้น สมศักดิ์ ชี้ว่า ตามหลักการและสามัญสำนึก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งในประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราช จะต้องหมายความว่า เป็นทรัพย์สินที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลที่ได้รับการเลือก ตั้งมาจากประชาชนและสามารถตรวจสอบควบคุมโดยสาธารณะได้อย่างเต็มที่ทุกประการ เช่นเดียวกับทรัพย์สินของรัฐอื่นๆ

แต่ที่สถานะของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพราะ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน รัฐบาลนิยมเจ้า (royalist) ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารโค่น คณะราษฎร (รัฐบาลของปรีดี) ลงไป ได้ออกพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงอำนาจการควบคุมทรัพย์สินของรัฐส่วนนี้ ให้กลับไปเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชอีก คือ ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการ “จำหน่ายใช้สอย” ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินส่วนนี้ “ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่ากรณีใดๆ” ผลก็คือทำให้ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินของรัฐ กลายมาเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะ “ส่วนพระองค์” โดยปริยายไป จริงๆแล้ว ถ้าเราเปรียบเทียบบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 ที่รัฐบาลนิยมเจ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำขึ้นและใช้มาจนทุกวันนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” จะเห็นว่า แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ดังนี้

"ทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น การดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย รายได้ [จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์] ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ

ซึ่งในปี 54 สมศักดิ์ ชี้ตามพ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ เดิมว่า โดยเนื้อหาแล้ว ไม่แตกต่างกันเลย “ความแตกต่าง” ที่เพิ่มขึ้นมาในส่วนที่เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนด “รายจ่ายประจำ” (“รายจ่ายที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน...”) หรือการกำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ขึ้นกับการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับ “พระบรมราชานุญาต” จากพระมหากษัตริย์เท่านั้น พูดตามคำของมีชัย ฤชุพันธ์ คือ เป็นเรื่องที่ “อยู่ในการกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย” ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือ ไม่ต่างจากเรื่องการจัดการ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ที่ “ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหารจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เริ่มอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 10 ผ่านการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ในรายงานที่ประชาไทเพิ่งเผยแพร่ไป ชี้ให้เห็นว่ามีารรวบทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงดึงอำนาจในการจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากเดิมที่มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาประโยชน์ ก็ลดระดับเป็นเพียงองค์กรปฏิบัติงานตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายเท่านั้น

หาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ได้เพียงปีกว่า ก็มีการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ขึ้นมายกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 โดยความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การรวมทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้งหมดมาบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกัน ส่งผลให้การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมดเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับจัดสรรค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน และมีข้อสังเกตว่า ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และการถือหุ้นเริ่มใช้พระนามแทนสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างในสมัยรัชกาลที่ 9

เรื่องเกี่ยวข้อง