วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 29, 2563

อ.พวงทอง อธิบายให้เข้าใจว่าทำไมทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง



Puangthong Pawakapan
13h ·

ขอพูดประเด็นเดียว - ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง
ฝ่ายรอยัลลิสต์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าทรัพย์สินข้างต้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์ จะใช้อย่างไรก็ได้ คณะราษฎรไปปล้นเอามาจากกษัตริย์ (ทั้ง ๆ ที่ก่อนปี 2560 เมื่อมีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายรับรายจ่าย พวกนี้เถียงว่าในเมื่อมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ดูแลการบริหาร ต้องถือว่าสนง.ทรัพย์สินเป็นของรัฐ)
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ
1. ก่อน 2475 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีชื่อเรียกว่าพระคลังข้างที่ รายได้ของพระคลังข้างที่มาจากอะไรบ้าง มาจากการเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ การเกณฑ์แรงงานไพร่มาทำงานให้กษัตริย์ (3-6 เดือน/ปี แล้วแต่รัชสมัย) การผูกขาดการค้าต่างประเทศ การเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในกรุงเทพ การลงทุนสารพัดที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ฯลฯ
2. รายได้จากข้อ 1 เกิดขึ้นได้เพราะก่อน 2475 กษัตริย์มีสถานะเป็น “รัฐ” หรือ “องค์อธิปัตย์” จึงมีอำนาจในการกระทำการต่างๆ ตามกฎหมายที่กษัตริย์บัญญัติขึ้น ทรัพย์สินที่เพิ่มพูนขึ้นจึงไม่ได้มาจากความสามารถส่วนบุคคลล้วน ๆ ขณะที่ราษฎรปกติไม่มีอำนาจพิเศษนี้ ทรัพย์สินที่ราษฎรได้มาจึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างแท้จริง จะเอาหลักการนี้มาใช้กับทรัพย์สินของกษัตริย์ไม่ได้
3. แม้ว่ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบการคลังใหม่ โดยแยกพระคลังข้างที่ ออกจากรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน มีการจัดตั้งกระทรวงการคลังขึ้นในปี 2433 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทรัพย์สินของพระคลังข้างที่ก่อนหน้านี้ ได้มาจากสถานะการเป็นองค์อธิปัตย์ของกษัตริย์ และสถานะของกษัตริย์ก็ยังส่งผลให้รายได้ของพระคลังข้างที่หลังปี 2433 งอกงามขึ้นอีกด้วย ดังที่เว็บไซต์ของ สนง.ทรัพย์สินกล่าวว่า “เมื่อรายได้ของแผ่นดินมากขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิรูปทางการเงินในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งมีการจัดตั้งกระทรวงการคลังขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่งผลให้จำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรรของกรมพระคลังข้างที่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
4. เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กษัตริย์ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐหรือองค์อธิปัตย์อีกต่อไป ทรัพย์สินทั้งหลายที่ได้มาด้วยกลไกอำนาจ “รัฐ” จึงต้องถูกโอนย้ายมาอยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน
5. กระนั้น หลังการรัฐประหาร 2490 กลุ่มรอยัลลิสต์ได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายใหม่ ให้ สนง.ทรัพย์สินฯ กลายเป็นนิติบุคคล เป็นอิสระจากรัฐบาล แม้จะมีรัฐมนตรีคลังเป็นประธาน แต่กรรมการอีก 4 คนได้รับการแต่งตั้งโดยกษัตริย์ การตรวจสอบรายรับรายจ่ายไม่เคยเกิดขึ้นจริง การที่นักวิชาการบางคนกล่าวว่าประชาชนสามารถดูรายงานรายรับรายจ่ายจากเว็บไซต์ของ สนง.ทรัพย์สินฯได้ เป็นการโกหกหน้าตาย
ที่ผ่านมา เวลาสื่อต่างชาติประเมินความร่ำรวยของกษัตริย์ไทย ก็ประเมินจากหุ้นในบริษัทต่าง ๆ บวกกับราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ แต่ยังไม่เคยมีสื่อไหนสามารถล้วงเอารายรับรายจ่ายของ สนง.ทรัพย์สินฯ มาเปิดเผยได้เลย
การเปิดเผยรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งสำคัญทั้งในแง่การตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย และยังสำคัญต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ด้วย ประชาชนจะได้เลิกตั้งข้อกังขาเสียทีว่าเงินที่ใช้จ่ายในกรณีต่าง ๆ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ ค่าเช่าโรงแรมของสมาชิกราชวงศ์และข้าราชบริพาร ค่าเครื่องบิน ค่าน้ำมัน ค่าที่จอด ฯลฯ เบิกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ หรือจากสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือจากรัฐบาลกันแน่ มีแต่การเปิดเผยโปร่งใสเท่านั้นที่จะช่วยปกป้องพระเกียรติยศของกษัตริย์ได้ หากไม่มีความโปร่งใสเรื่องรายรับรายจ่าย เรื่องอื่นแทบไม่มีความหมาย เพราะตรวจสอบไม่ได้จริง
6. นอกจากนี้ นับแต่รัฐประหาร 2490 จนถึงปัจจุบัน ทรัพย์สินของ สนง. ทรัพย์สินฯ เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะสถาบันกษัตริย์มีสถานะ “พิเศษ” ในสังคมไทย ที่ชัดเจนคือ ไม่ต้องเสียภาษี ได้รับเงินบริจาคจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ตัวอย่างที่ดีของสถานพิเศษของกษัตริย์ก็คือ กรณีวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ศ.พอพันธ์ อุยยานนท์ ได้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มี สนง.ทรัพย์สินฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประสบวิกฤติอย่างหนักเช่นกัน ส่งผลให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อกอบกู้วิกฤติของธนาคาร แต่มีทุนไม่พอ แต่ก็ไม่ต้องการสูญเสียสถานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วย ทำให้กระทรวงการคลังต้องเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่พอถึงปี 2547 สนง.ทรัพย์สินฯ ได้นำที่ดินในย่านทุ่งพญาไท ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการจำนวน 484.5 ไร่ ไปแลกกับหุ้นของไทยพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ จนทำให้ สนง. ทรัพย์สินกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้อีก อ.พอพันธ์ระบุว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้กระทรวงการคลังกระทำดังกล่าวได้เลย การแลกเปลี่ยนที่ดินต้องแลกกับที่ดินเท่านั้น และในราคาที่เท่าเทียมกันด้วย หากไม่ใช่เพราะสถานะพิเศษของสถาบันกษัตริย์แล้ว กรณีดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
จริงๆ ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องเรียกร้องให้กลับไปสู่สถานะก่อนรัฐประหาร 2490 ไม่ใช่ก่อนจะมีการออก พรบ. 2561 ด้วยซ้ำ

https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/3775797299137668