https://waymagazine.org/crown-property/เปิด Timeline โครงสร้างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากจุดเริ่มต้นที่พยายามสร้างความสมดุลระหว่างทรัพย์สินของแผ่นดินกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ จนมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ ปรับโครงสร้างอำนาจในการจัดการทรัพย์สินฯ หลังการรัฐประหาร 57 #ม็อบ25พฤศจิกาไปSCB https://t.co/rUQ8eNrp0K pic.twitter.com/9dTy3ErpS7
— waymagazine (@way_magazine) November 25, 2020
25 Nov 2020 - อิทธิพล โคตะมี, มานิตา โอฬาร์ศาสตร์, ญาดา พระนคร and อนุชิต นิ่มตลุง
Way magazine
วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) 15.00 น. กลุ่มราษฎร เปลี่ยนเป้าหมายการเคลื่อนขบวนจากเดิมที่นัดชุมนุมบริเวณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน นอกเหนือจากเหตุผลที่ต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะและการก่อความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามแล้ว ทั้งสองสถานที่ล้วนมีความหมายทางการเมืองที่ไม่ต่างกัน รายงานชิ้นนี้สืบค้นความเป็นมาของพื้นที่เป้าหมายในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ว่าเหตุใดพื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของการชุมนุม
ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ’ เขียนโดย ศาสตราจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ ตีพิมพ์ในปี 2549 ซึ่งเป็นการศึกษาบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะหน่วยงานจัดการรายได้และบริหารทรัพย์สินและเงินลงทุนของสถาบันพระมหากษัตริย์ใน ‘การสะสมทุนทางเศรษฐกิจ’ (capital accumulation) นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยครอบคลุมถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ ‘ทุน’ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลายเป็นทุนชนชั้นนำของสังคมไทย
จากการศึกษาพบว่า ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เดิมที่เชื่อกันว่าสมบัติทุกอย่างเป็นของพระมหากษัตริย์ และเกิดการปรับเปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้ง กรมพระคลังข้างที่ ในปี 2433 ดูแลพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ลดบทบาทของกรมพระคลังข้างที่ ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญของราชสำนักและเชื้อพระวงศ์ และให้อำนาจการดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ถูกโอนจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ แบ่งเป็น 1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต้องมีการเสียภาษี 2. ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง และ 3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือทรัพย์สินที่ไม่อยู่ใน 2 หมวดแรก ซึ่งหมายถึงที่ดินและการลงทุนในบริษัทต่างๆ ส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี ช่วงแรก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล
จนกระทั่งปี 2490 เกิดการรัฐประหาร โดยฝ่ายเจ้ากลับเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองและค่อยๆ ยกเลิกมรดกและอุดมการณ์หลายอย่างของคณะราษฎร หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2491 สาระของกฎหมายฉบับใหม่คือ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นนิติบุคคล โดยเป็นอิสระจากรัฐบาล และโอนทรัพย์สินจากกระทรวงการคลัง มาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอีก 4 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหา
ถัดจากนั้นหลายสิบปี การลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ขยายตัว และสร้างผลกำไรอย่างมหาศาล ปรากฏให้เห็นจากการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ทั้งทางตรง 90 บริษัท และทางอ้อมกว่า 300 บริษัท โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 60
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของพอพันธ์เสนอไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจในเครือข่ายการขยายตัวของผลประโยชน์จากการลงทุน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าเช่าที่ดินและรายได้จากอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งนำมาซึ่งรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ มี 3 ประการหลัก คือ
1. บทบาทและพลังเหนือรัฐของ ‘สำนักงานทรัพย์สินฯ’
ข้อมูลที่สะท้อนความสำคัญของการชุมนุมในครั้งนี้ อาจจะเห็นได้จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในการลงทุนสำคัญของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งจากงานวิจัยของพอพันธ์ ระบุว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาสภาพการถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เงินไม่พอ จนกระทรวงการคลังต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน
รวมถึงการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ นำที่ดินย่านพญาไทและราชวิถี จำนวน 484.5 ไร่ มูลค่าประมาณ 16,500 ล้านบาท ไปแลกกับหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ จนกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ในประเด็นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่พอพันธ์เสนอไว้ในงานวิจัยว่ามาจากบทบาทและพลังเหนือรัฐ
2. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายหลัง 2540
ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมีผลสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของระบบเศรษฐกิจจากภาคธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อลงทุนในตลาดทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ (market capitalization) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาของหุ้นโดยทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนทั้งประเภทสถาบันและส่วนบุคคลทั้งภายในและต่างประเทศ บริษัท ทุนลดาวัลย์ ในฐานะเป็นหน่วยงานในพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็สามารถบริหารจัดการการลงทุนและนํามาซึ่งผลกําไรในระดับสูง นอกจากนี้บริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็มีรายได้จากการขายหลักทรัพย์ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์มีกําไรจากการขายหลักทรัพย์ สูงถึง 8,257 ล้านบาทในปี 2547 ซึ่งคิดเป็นรายได้ร้อยละ 18.8 ของรายได้ทั้งหมด
3. นโยบายค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
นโยบายค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ปรับนโยบายค่าเช่า รวมทั้งการนําที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มาแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในอดีตก่อนปี 2546 รายได้จากผลประโยชน์จากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำและขยายตัวอย่างเชื่องช้า การใช้มาตรการหลายอย่างจึงมีผลต่อการเพิ่มพูนผลประโยชน์จากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีแผนงานและโครงการที่จะนํา ‘ที่ดิน’ มาเพิ่มผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยมีโครงการที่สำคัญคือ (1) ที่ดินบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเดิม จำนวน 120 ไร่ (ขณะนี้ให้เช่าชั่วคราวเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์) มาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ (2) โครงการพัฒนาบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เพื่อพัฒนาเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
หลังรัฐประหาร 2557 เส้นแบ่งทรัพย์สินเริ่มพร่าเลือน
จุดสำคัญในฐานะที่ตกเป็นเป้าหมายการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจในทางการเมือง โดยปรากฏ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มราษฎร ซึ่ง 3 ใน 10 ข้อเรียกร้อง เกี่ยวข้องกับบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้แก่
ข้อ 3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
ข้อ 4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
และข้อ 6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
เนื่องจากว่า หลังการรัฐประหาร 2557 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้ง เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ได้ตรากฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ปี 2560 ทำให้สาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติ ได้ถูกรวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะกรรมการทรัพย์สินฯ มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ต่างจากเดิมที่รัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะที่รองผู้อำนวยการ คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก
ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินฯ ลงทุนอยู่ และพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นกรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการธนาคาร และดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหา ค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาลของธนาคาร ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสัดส่วน 23.38 เปอร์เซ็นต์
- กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 11.56 เปอร์เซ็นต์
- กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 11.56 เปอร์เซ็นต์
- บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ในสัดส่วน 10.20 เปอร์เซ็นต์
- สำนักงานประกันสังคม ในสัดส่วน 3.22 เปอร์เซ็นต์
การเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ผู้ชุมนุมมองว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลายฉบับ ซึ่งทำลายเส้นแบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อันเป็นของรัฐ กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งเป็นของส่วนตัว