Andrew MacGregor Marshall
3h ·
บทวิเคราะห์ — กษัตริย์วชิราลงกรณ์รวยแค่ไหน การชุมนุมประท้วงความประพฤติมิชอบของราชวงศ์เรื่องการใช้จ่ายเงินและถ่ายโอนทรัพย์สินแผ่นดินเมื่อวานนี้เป็นการเปิดเวทีให้เราตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในทุกปีสื่อต่างชาติจะมีการรายงานมูลค่าทรัพย์สินของกษัตริย์ไทยว่าอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเก่าที่ประมาณการโดยนิตยสาร Forbes ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาจะประกาศว่าราชวงศ์ใดบ้างที่รวยที่สุดในโลก [https://www.forbes.com/global/2008/0901/038.html]
ผู้ที่ครองอันดับ 1 คือกษัตริย์ภูมิพล ที่ Forbes คาดการณ์ว่ามีทรัพย์สมบัติมูลค่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนปี พ.ศ. 2552 มูลค่าทรัพย์สินของภูมิพลลดลงมาอยู่ที่ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพราะพิษวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็ยังครองตำแหน่งพระราชาที่รวยที่สุดในโลกอยู่ดี
[https://www.forbes.com/.../monarchs-wealth-scandal...]
การคาดการณ์ของ Forbes ทำให้ Guinness Book บันทึกให้รัชกาลที่ 9 เป็นพระราชาที่รวยที่สุดในโลกเป็นเวลาติดกันหลายปี
นี่เป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้าประชาโลกของเจ้าไทย เพราะฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อปั่นนิยายตลอดมาว่าราชวงศ์ไทยทรงงานหนักเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองและบริจาคเงินให้คนจนผู้ยากไร้มากมาย หากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง ภูมิพลจะรวยล้นฟ้าขนาดนี้ได้อย่างไร
ภูมิพลมักจะย้ำกับคนไทยว่าให้ใช้ชีวิตตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ใช้ชีวิตเรียบง่ายและประหยัดอดออมแทนที่จะมุ่งสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย
โฆษณาชวนเชื่อก็พยามยามนำเสนอภาพของพระราชาออกมาแบบนั้นว่าใช้ชีวิตแบบไม่สนใจทรัพย์สินเงินทองมากมาย
นิยายขายฝันนี้เริ่มฟังดูน่าสงสัยเมื่อคนไทยได้รับเสพย์ข่าวว่าพระราชาของพวกเขาเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์
ขนาดว่ากว่าจะยอมทิ้งหลอดยาสีฟัน ก็ต้องตะบี้ตะบันรีดหลอดเอาหยอดออกจนหยาดสุดท้าย และไม่ยอมควักเงินซื้อดินสอแท่งใหม่จนกว่าแท่งที่ใช้อยู่จะกุดจนเขียนไม่ได้
ซากหลอดยาสีฟันและเศษดินสอเก่าของเขากลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ให้คนกราบไหว้บูชา
ในขณะเดียวกัน ก็มีการโหมข่าวว่าเขาบริจาคเงินเก็บทุกบาททุกสตางค์เพื่อช่วยคนยากไร้และพัฒนาชาติบ้านเมือง
การที่ Guinness Book ประกาศชื่อเขาว่าเป็นพระราชาที่รวยที่สุดในโลกจึงเป็นการฉีกหน้ากากนักบุญที่มีภาพลักษณ์ประหยัดอดออมแบบไม่มีชิ้นดี
เพื่อรักษาหน้า สมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆต้องพยายามสร้างภาพว่าพวกเขาไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร
ฝ่ายวังออกมาปัดว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นไม่ได้มีมากมายและส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชาติและประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของพระราชาเพียงผู้เดียว
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระบุในรายงานประจำปีไว้ว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน” ซึ่งไม่เป็นความจริง
หลังจากการปฏิวัติที่ยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ในปี พ.ศ. 2475 — ผู้ปกครองใหม่ของสยามได้เข้าควบคุมทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมด กรมพระคลังข้างที่ ถูกลดบทบาทมาเป็น "สำนักงานพระคลังข้างที่" — ซึ่งต่อมาในปัจจุบันคือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ — และได้ตัดงบรายจ่ายประจำปีของราชวงศ์ ซึ่งนำไปสู่การสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 7
ในปี พ.ศ. 2490 ฝ่ายทหารร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ได้รวบอำนาจก่อรัฐประหาร ทำให้ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลใหม่ที่เป็นฝ่ายนิยมเจ้าได้แก้กฎหมายให้คืนอำนาจการควบคุมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กลับไปอยู่ในมือของกษัตริย์
แม้ว่าฝ่ายวังจะพยายามเล่นละครตบตาประชาราษฎร์มาโดยตลอดว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นของชาติ แต่ความจริงก็ปรากฏหลังจากภูมิพลสวรรคต
พ.ศ. 2561 วชิราลงกรณ์ ออกมาประกาศอย่างอุกอาจว่าเขาจะฮุบรวบเอาทรัพย์สินทั้งหลายทั้งปวงของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ถ่ายมาขึ้นอยู่ใต้อำนาจการครอบครองโดยตรงของเขาเอง ซึ่งรัฐบาลเผด็จการก็เห็นดีเห็นงามด้วย
มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่วชิราลงกรณ์ฮุบไปจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากเพราะทรัพย์สินทั้งหมดแบ่งได้หลักๆ เป็น 4 ส่วน โดย 2 ส่วนแรกนั้นมีความชัดเจน แต่ในขณะที่อีก 2 ส่วนเราทำได้เพียงคาดการณ์คร่าวๆ
เริ่มจากส่วนที่ชัดเจนก่อน:
ทรัพย์สินหลักของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ในปัจจุบันถูกวชิราลงกรณ์ฮุบไปแล้วมีอยู่ 3 อย่างคือ — หุ้นจำนวนมหาศาลของธนาคารไทยพานิชย์ หุ้นปูนซิเมนต์ไทยที่มีมูลค่ามากกว่าหุ้น ธ. ไทยพานิชย์ เสียอีก และท้ายสุดคือ อสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลในประเทศไทย
มูลค่าหุ้นของ ธ.ไทยพานิชย์และปูนซิเมนต์ไทยที่วชิราลงกรณ์ถืออยู่คิดคำนวณออกมาได้ง่ายมากเพราะมีข้อมูลการซื้อขายอย่างเปิดเผยอยู่ในตลาดหุ้น
วชิราลงกรณ์ถือหุ้น ธ.ไทยพานิชย์ อยู่ 23.53 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันราคาหุ้นละ 87.75 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 70,980 ล้านบาท หรือ 2,340 ล้านเหรียญสหรัฐ [https://www.scb.co.th/.../investor.../company-info.html]
ถือหุ้นปูนซิเมนต์ไทย 33.64 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันราคาหุ้นละ 368 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 149,760 ล้านบาท หรือ 4,940 ล้านเหรียญสหรัฐ
[https://scc.listedcompany.com/shareholder_structure.html]
มูลค่าหุ้นรวมทั้งหมดจากทั้ง ธ.ไทยพานิชย์และปูนซิเมนต์ไทยเป็นจำนวน 7,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หากรวมกับมูลค่าของบริษัทเทเวศประกันภัย ซึ่งไม่สามารถทราบตัวเลขทั้งหมดได้เนื่องจากกษัตริย์ครอบครองทั้งหมดเพียงผู้เดียว วชิราลงกรณ์น่าจะมีทรัพย์สินในรูปของหุ้นอย่างต่ำประมาณ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทรัพย์สินของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อีกส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดและไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนคือ อสังหาริมทรัพย์
สถาบันกษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 41,000 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ 8,835 ไร่อยู่ในกรุงเทพฯ และประมาณ 33,000 ไร่อยู่นอกเมืองหลวง กระจายอยู่แถบหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด
แต่ทว่าการประเมินราคาทำได้ยากเป็นอย่างยิ่ง สถาบันกษัตริย์มิได้มีความโปร่งใสให้ข้อมูลว่าครอบครองที่ดินที่ไหนบ้าง ก่อนหน้านี้สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ลดราคาค่าเช่าที่ดินให้ต่ำกว่าตลาด ยิ่งไปกว่านั้น อสังหาริมทรัพย์มิใช่สินทรัพย์คงตัว แต่มีการเลื่อนไหลในมูลค่า
พอพันธ์ อุยยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ของสำนักทรัพย์สินฯ ว่ารวมได้ประมาณ 1.037 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2557 และคาดการณ์มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปีนั้นว่ามีประมาณ 43.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
[https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/Trends_2015_13.pdf]
ราคาที่ดินทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดพุ่งทะยานขึ้นตั้งแต่บัดนั้น หากประมาณการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 รวมกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด ปัจจุบันมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 1.5 - 2 ล้านล้านบาท หรือ 49,000 ถึง 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทรัพย์สินส่วนสุดท้ายของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่กลายเป็นของวชิราลงกรณ์คือผลกำไรประจำปีทั้งหมด หุ้นบรรษัทจะให้ผลกำไรเป็นเงินปันผลประจำปีและอสังหาริมทรัพย์จะสร้างรายได้จากค่าเช่าที่
ธ.ไทยพานิชย์จ่ายเงินปันผล 6.25 บาทต่อหุ้นในปี พ.ศ. 2562 ทำให้วชิราลงกรณ์ได้ปันผล 4,990 ล้านบาท หรือ 165 ล้านเหรียญสหรัฐ [https://www.scb.co.th/.../investor.../stock-information.html]
ปูนซีเมนต์ไทยจ่ายเงินปันผล 14 บาทต่อหุ้น ทำให้วชิราลงกรณ์ได้ปันผล 5,650 ล้านบาท หรือ 187 ล้านเหรียญสหรัฐ [https://scc.listedcompany.com/financial_overview.html]
ส่วนรายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นประเมินได้ยาก สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดูแลสัญญาเช่า 40,000 ราย รวม 17,000 รายในกรุงเทพฯ ผู้เช่ามีตั้งแต่สำนักงานราชการ ที่ดินและอาคารย่านธุรกิจสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมห้าดาวและห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ ไปจนถึงชุมชนแออัดและอาคารเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
ก่อนหน้านี้สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เก็บค่าเช่าในราคาถูกมาโดยตลอด แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการขึ้นค่าเช่าให้เท่ากับราคาตลาด หากคาดการณ์คร่าวๆ ในช่วงหลายปีมานี้รายได้ที่ได้จากค่าเช่าที่น่าจะหลายล้านดอลลาร์
งานวิจัยของพอพันธ์ระบุว่ารายได้ต่อปีของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2552 และ 2554 อยู่ที่ระหว่าง 9,000 และ 11,000 ล้านบาท หรือ 296 ถึง 362 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปัจจุบันรายได้ต่อปีน่าจะอยู่ที่ประมาณระหว่าง 500 ล้าน และ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้นกับเงินเหล่านี้
เงินเหล่านี้ไม่น่าจะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของราชวงศ์เพราะพวกเขาได้เงินส่วนนี้จากภาษีของประชาชนอยู่แล้ว ในปีงบประมาณล่าสุดราชวงศ์ได้รับงบประมาณ 29,000 ล้านบาท หรือเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้วยจำนวนพลเมืองทั้งประเทศ แค่ 69 ล้านคน เมื่อหารกันแล้ว คนไทยแต่ละคนต้องเสียภาษีบำรุงบำเรอสถาบันฯ จำนวน 420 บาท หรือ 13.83 เหรียญสหรัฐ ต่อปี ในขณะที่ประชาชนแต่ละคนในสหราชอาณาจักรจ่ายเงินเลี้ยงราชวงศ์ของพวกเขาเพียง 1.23 เหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น
เมื่อเทียบเฉพาะอัตราภาษีต่อหัวต่อปีของประชากร ก็มีเพียงประเทศเดียวในโลกที่งบใช้จ่ายของกษัตริย์สูงกว่าของไทยคือ ราชอาณาจักรสวาตีนี่ หรือที่เคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สวาซีแลนด์ ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดย กษัตริย์ อึมสวาติ ที่สาม (Mswati III) ผู้เป็นที่ทราบกันดีในความเป็นทรราชย์ กดขี่ และละเมิดสิทธิมนุษยชน
ดังนั้นถึงแม้ว่าวชิราลงกรณ์และครอบครัวจะใช้จ่ายเงินมากมาย เงินส่วนใหญ่นั้นมาจากภาษีประชาชน ซึ่งหมายความว่ารายได้มหาศาลที่มาจากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อาจจะถูกนำไปลงทุนต่อเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง
หากประมาณแบบต่ำ รายได้ต่อปีประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้มาช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก 5 พันล้านเหรียญ หากนำไปลงทุนอย่างเหมาะสม ในปัจจุบันมูลค่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่ำ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อคำนวนทรัพย์สมบัติทั้งหมดในสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ — ที่ดิน 49,000 - 66,000 ล้านเหรียญ หุ้นบรรษัท 7,500 ล้านเหรียญ และผลกำไรที่ได้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ เราก็น่าจะพอประมาณความมั่งคั่งของราชวงศ์ไทยได้
มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ที่คนไทยถูกกรอกหูมาช้านานว่าเป็นของชาติ จนกระทั่งถูกวชิราลงกรณ์มาฮุบไปเป็นของส่วนตัวในปี พ.ศ. 2561 มีทั้งหมดประมาณ 66,000 - 84,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดของทรัพย์สินที่วชิราลงกรณ์มี นอกจากทรัพย์สินในสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตระกูลมหิดลยังมีทรัพย์สินส่วนตัวอีกจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นตอนที่ภูมิพลยังมีชีวิตอยู่
อภิมหาเศรษฐีจำนวนมากบริจาคเงินให้ราชวงศ์เพื่อได้รับการอุปถัมภ์
เราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าทรัพย์สินส่วนตัวของภูมิพลมีจำนวนเท่าไร และที่ตกทอดมาถึงวชิราลงกรณ์มีจำนวนเท่าไร แต่คาดว่าน่าจะหลายพันล้านดอลลาร์
แม้กระนั้น อภิมหาเศรษฐีนายทุนจำนวนมากก็ยังถวายความมั่งคั่งแก่วชิราลงกรณ์อย่างไม่ขาดสาย ในวันเกิดปีที่ 67 ของเขา ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดพากันต่อคิวคลานเข่าเพื่อมอบเงินสดให้ อันประกอบด้วย:
— กลุ่ม CP Group นำโดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตระกูลเจียรวนนท์เป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศไทยรองจากตระกูลมหิดล มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
— กลุ่ม ThaiBev นำโดยเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวยที่สุดเป็นอันดับ 3 มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
— เอมอร ศรีวัฒนประภา ภรรยาหม้ายของ เจ้าสัววิชัย ผู้ก่อตั้ง King Power ธุรกิจร้านขายสินค้าปลอดภาษีที่ได้รับสัมปทานผูกขาด รวยที่สุดเป็นอันดับ 4 มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐ
นี่คือหน้าตาของวงจรคอรัปชั่นซึ่งได้รับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษจากราชวงศ์ เพื่อแลกกับความมั่งคั่งที่อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้จะให้กลับคืนมา
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ชุมนุมจึงจัดการประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพานิชย์ กษัตริย์ของพวกเขาเป็นหนึ่งในอัครมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก แต่ยังหวังให้คนไทยจ่ายภาษีหล่อเลี้ยงไลฟ์สไตล์สุดหรูหราในเยอรมนี คนไทยส่วนใหญ่หมดความอดทนกับสิ่งเหล่าแล้ว