วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 29, 2563

เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการ เมื่อเสียงของประชาชนดังพอ คลิปเสวนา

#VoiceTV
เสวนา เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการ

Streamed live 16 hours ago

VOICE TV

เสวนา “มหกรรมรัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ : ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ” ในหัวข้อ ความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการ 
...



Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
9h ·

[ ‘พิธา’ สะท้อน โควิด19 ปรากฏการณ์ที่ยืนยันว่ารัฐสวัสดิการคือ เรื่องสำคัญของสังคมไทย ]
.
ผมได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในช่วงที่สวัสดิการสังคมโดนท้าทายมากที่สุด นั่นคือ วิกฤติไวรัสโควิด19 งานเเรกที่ปฏิบัติในฐานะหัวหน้าพรรคคือ การไปงานศพของคนอายุ 19 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองจากการไม่มีเงินซื้อนมลูกกิน
.
ผมเป็นหัวหน้าพรรคในช่วงที่ประชาชนตัดพ้ออยากตาย ที่เป็นผลพวงจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำ ผมได้เห็นพวกเขาในทุกวันเวลาที่ลงพื้นที่ ผมจึงยิ่งรู้สึกถึงความสำคัญของรัฐสวัสดิการซึ่งก็คือ มโนทัศน์ในการปกครอง คือการบริหารทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเต็มที่เเละทั่วถึง
.
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผมได้รับเกียรติร่วมเสวนาในงานมหกรรม ‘รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ’ ในหัวข้อ ความเป็นไปได้ของการจัดสรรงบประมาณในประเทศเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการ โดยได้กล่าวถึงประเด็นการสร้างบำนาญแห่งชาติว่า มีความเป็นไปได้ในการจัดสรรให้เกิดขึ้นและจะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการคลังของชาติ
.
ในฐานะที่เป็นผู้เเทนราษฎร ความรับผิดชอบต่อปัญหาปากท้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพวกเราได้รับปากกับพี่น้องประชาชนไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง สิ่งที่เสนอเข้ามาเป็นร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ คือ การเพิ่มเบี้ยบำนาญ 3,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ นี่ไม่ใช่ประชานิยม ไม่ใช่เอื้ออาทร แต่เป็นสวัสดิการที่รัฐควรจัดให้ประชาชาชน ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ล้านบาท โดยคิดจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งภายใน 20 ปี 1 ใน 4 ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงอายุ สำหรับความเป็นไปได้ทางการคลังที่กล่าวถึงนั้น จากงานศึกษาของ นิมิตร เทียนอุดม เครือข่ายรัฐสวัสดิการ ซึ่งอยู่ในผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ได้ระบุที่มาของเบี้ยบำนาญแห่งชาติว่าสามารถมีที่มาจาก 8 แห่ง อาทิ ภาษี E- service การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นต้น
.
การจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการสำหรับวัยเกษียณมีความเป็นไปได้ทางการคลัง เพราะแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเฉลี่ยละ 5 แสนล้านบาท ไปอีก 20 ปี แต่ถ้ารัฐบาลสามารถหาแหล่งเงินที่ชัดเจนได้ก็ทำได้ หรือหากจะต้องกู้ยืมบ้างก็ไม่อยู่ในระดับที่ทำให้วินัยการคลังเสีย
.
นอกจากการศึกษาของอนุกรรมาธิการแล้ว แหล่งรายได้ในอีกเเนวทางหนึ่งคือ นโยบายของอดีตพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือ การจำกัดงบกระทรวงกลาโหมจาก 1.4 % ต่อ GDP ให้เหลือ 1 % ต่อ GDP เเละเพิ่มอัตราภาษีที่ดิน ตรงนี้จะทำให้นำงบประมาณดังกล่าวมาให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการดูเเลเเละยกระดับคุณภาพชีวิตช่วงสุดท้ายที่ดีที่สุดได้ เป็นการปฏิรูปขยายสัดส่วนฐานภาษีเงินได้ต่อรายได้รัฐ เพื่อที่ทำให้บำนาญเเห่งชาติเป็นจริง ซึ่งถ้าประชาชนกับพรรคการเมืองร่วมมือกัน เราจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เเละความเข้าใจเศรษฐกิจใหม่ เรื่องนี้เราสามารถทำได้จริงๆ แม้ว่าภายใน 20 ปี หนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 57% แต่ประเทศชาติจะเกิดเงินหมุนเวียน ไม่ได้ทำให้วินัยทางการคลังของชาติเสีย รัฐสวัสดิการที่ดีจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลง โครงสร้างภายในครอบครัวแข็งแรงขึ้น เเละเกิดการพัฒนาในอนาคต
.
สำหรับตอนนี้ สถานการณ์ล่าสุดคือ ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติของภาคประชาชน ถูกกฤษฎีกาตีความว่าซ้ำซ้อน จึงหวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่ได้ถูกปัดตกไปเหมือนร่าง พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เเละ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเเรงงานของพรรคก้าวไกล ซึ่งหากถ้าเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นได้ก็ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน เพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ว่าการเเก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการยื่นเเก้ไขร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เชื่อว่าความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นเมื่อเสียงของประชาชนดังพอ จึงอย่าเพิ่งยอมเเพ้