Police cracking down on Thailand’s landmark protests aren’t sure what side they are on
10 Years Thailand
Yesterday at 11:43 AM ·
นักข่าววอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์ตำรวจไทยวัย 21 ปีท่านหนึ่งเกี่ยวกับการปราบปรามผู้ประท้วง ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเขากล่าวว่า “ผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบปฏิบัติการของเราค่อนข้างก้าวร้าว ทำให้ผมกังวลมาก เพราะผมคิดว่าเราอาจทำเกินไป ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผมรู้สึกอับอายมาก รู้สึกว่าเป็นคนขี้ขลาดและทรยศต่อหลักการของตัวเอง”
.
ความคิดเห็นนายตำรวจท่านนี้สอดคล้องกับตำรวจคนอื่นๆ ที่วอชิงตันโพสได้สัมภาษณ์ สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อสถาบันอื่นที่ครอบงำการเมืองในราชอาณาจักรมายาวนาน ได้แก่ กองทัพ รัฐบาล และสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่มีการประท้วงเพิ่มขึ้น มีภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนชูสามนิ้วออกมาให้เห็น บนโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เรื่องราวของเจ้าหน้าที่ที่ช่วยปกป้องผู้ชุมนุมจากปืนฉีดน้ำและปล่อยให้พวกเขาหลบหนีโดยไม่ถูกจับกุม
.
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับรัฐบาลทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลารุส ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนที่มีหน้าที่สลายการชุมนุม อยากจะข้ามไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งมากกว่า
.
Paul Chambers จากศูนย์ศึกษาประชาคมอาเซียนของมหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่า "ในบริบทของรัฐบาลที่นำโดยกองทัพ ตำรวจที่ถูกนำเข้ามาจากต่างจังหวัดจะเห็นอกเห็นใจผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษา ส่วนกองกำลังรักษาความปลอดภัยนั้น ก็มีการแบ่งเป็นก๊กๆ แม้แต่กลุ่มที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก"
.
## กดดันจากข้างใน ##
.
แม้ว่าตำรวจหนุ่มที่ให้สัมภาษณ์จะบอกกับนักข่าว่า เขาจบม.6 มาด้วยคะแนนค่อนข้างดี แต่ไม่ได้สอบเข้ามหาลัยเพราะเลือกเดินตามรอยเท้าพ่อและสอบเข้าตำรวจแทน โดยเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่เขาไม่เคยทิ้งความลุ่มหลงด้านประวัติศาสตร์ และอ่านเกี่ยวกับการเมืองไทยอยู่เรื่อยๆ โดยมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองมากมาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถแสดงออกต่อสาธารณะได้ จนกระทั่งแกนนำนักศึกษาเริ่มออกมาชุมนุมเรียกร้องในเดือนสิงหาคม
.
ตำรวจหนุ่มเห็นด้วยกับการประท้วง ด้วยความโกรธจากเรื่องคอร์รัปชั่นที่เขาเห็นในกองกำลังตำรวจความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่กำบังทวีความรุนแรงขึ้น เขาตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังๆ หลักสูตรฝึกอบรมเน้นคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อประเทศไทยด้วยรูปภาพและวิดีโอมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ทำให้เขาหยุดตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยฉบับที่ทางการนำเสนอ
.
เจ้าหน้าที่ตำรวจวัย 28 ปี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระหว่างการประท้วงที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 70% ที่รู้จักเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องผู้ประท้วง เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย เพราะการปฏิรูปตำรวจจะป้องกันการทุจริต และพัฒนาสวัสดิการของเรา”
.
## ตำรวจกับประชาชน ##
.
ในอดีตอาจกล่าวได้ว่าตำรวจไทยอยู่ค่อนมาทางฝั่งประชาธิปไตยและมักจะคานอำนาจกับกองทัพ ในช่วงการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 ตำรวจถูกเรียกว่ามะเขือเทศ เพราะทหารมองว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อแดง อย่างไรก็ตามตำรวจเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการปราบปรามการประท้วงในปี 2563
.
ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาสนับสนุนผู้ประท้วงอย่างเปิดเผย อาจเพิ่มแรงผลักดันให้กับการเคลื่อนไหว ทำให้ยากต่อการปราบปรามและอาจเกิดความไม่มั่นคงในฝ่ายรัฐบาล
.
Matthew Wheeler นักวิเคราะห์อาวุโสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ International Crisis Group กล่าวว่า “หากมีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงมากขึ้น เราอาจเห็นคนในกองกำลังตำรวจและข้าราชการออกมาแสดงสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ”
.
ขณะเดียวกันตำรวจหนุ่มวัย 21 ปีที่ยังคงต้องประจำการในกรุงเทพฯ หากมีการประท้วงเกิดขึ้นอีก กล่าวว่า "การทำหน้าที่ของเราในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าเราต้องลบอดีตและตัวตนเดิมของเราหรือลบความเป็นมนุษย์ของเรา”
*********
แปลและสรุปโดย จิตติพร 1/11/20
.
บทความ: Police cracking down on Thailand’s landmark protests aren’t sure what side they are on. By Shibani Mahtani (Oct. 24, 2020)
https://www.washingtonpost.com/.../3c0b162e-1130-11eb...
.
ภาพ: https://t.co/FO18wdobDO?amp=1
credit: Jitti Jum
Jitti Jum
จากคนแปล: เข้าไปอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษจะครบถ้วนกว่ามากค่ะ ลิงค์ที่ขาดดูจากนี่ค่ะ
https://www.washingtonpost.com/.../3c0b162e-1130-11eb...
อยากขอให้เจ้าของเพจแปะ/แชร์ลิงค์ของคนแปลบ้างนะจ๊ะ