วันอังคาร, พฤศจิกายน 17, 2563

บรรยง พงษ์พานิช กับเบื้องหลังแนวคิดปฏิรูปสถาบันโดยสันติ” ด้วยการถอยกลับไป “จุดก่อนการขึ้นครองราชย์ของ ร. 10”

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/372203720671455

สถาบันกษัตริย์ : บรรยง พงษ์พานิช กับเบื้องหลังแนวคิด “ปฏิรูปโดยสันติ” ด้วยการถอยกลับไป “จุดก่อนการขึ้นครองราชย์ของ ร. 10”


ROYAL HOUSEHOLD BUREAU/EPA
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ หลังจากในหลวง ร. 10 ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อ 6 เม.ย. 2560 โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามตินี้ ได้มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนตาม "ข้อสังเกตพระราชทาน"

เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ
16 พฤศจิกายน 2020

บรรยง พงษ์พานิช อธิบายแนวความคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขอให้ถอยกลับไปที่จุดก่อนการขึ้นครองราชย์ของในหลวง ร. 10 และเสนอให้แยกแยะระหว่าง "พระราชทรัพย์ที่มีไว้เพื่อกิจการแผ่นดินกับกิจการส่วนพระองค์" โดยอาจศึกษารูปแบบและถอดประสบการณ์การจัดการของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ในต่างแดนอย่างอังกฤษ

นักการเงินมากประสบการณ์ มีบทบาทในการนำเสนอความคิดเห็นเรื่องนโยบายสาธารณะอย่างต่อเนื่อง มาครั้งนี้เขากล้าเปิดหน้าตั้งประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของชาติ

ในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 5 เมื่อ 23 ต.ค. บรรยงนำเสนอแนวคิดในการปฏิรูปสถาบันฯ ผ่านกระดานข้อความเฟซบุ๊กของเขาซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5 หมื่นคน ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ปัญญาชนและผู้สนใจการเมือง

ข้อเสนอหลักของเขาคือให้ถอยทุกอย่างที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองคาพยพได้ทำเกี่ยวกับสถาบันฯ กลับไปก่อนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เพราะมองว่าเป็น "จุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายพอรับได้"

ร.10 : โจนาธาน มิลเลอร์ นักข่าวอังกฤษเผยเรื่องราวก่อนและหลังการสัมภาษณ์ในหลวง
ร. 10 : ผู้เชี่ยวชาญเล่าผ่านสารคดีบีบีซีทำไมนักศึกษายอมเสี่ยงคุกเพื่อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ร. 10 ตรัสทักทาย "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
ร. 10 : ท่าทีที่เปลี่ยนไปของเยอรมนี กับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการพำนักในต่างแดนของประมุข

เบื้องหลังแนวคิดนี้ถูกขยายความในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย โดยบรรยงชี้ชวนให้ตั้งต้นพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิด 2 เหตุการณ์ใหญ่คือ การรัฐประหารปี 2557 และการผลัดแผ่นดินปี 2559

เขาเห็นว่า ในหลวง ร. 9 เป็นพระมหากษัตริยพระองค์แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจาก ร. 7 อยู่ภายใต้ระบอบใหม่สั้นมาก ก่อนสละราชสมบัติไป ขณะที่ ร. 8 ก็ยังไม่ได้บรมราชาภิเษกด้วยซ้ำ ก่อนเสด็จสวรรคต เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของ ร. 9 ที่ทรงราชย์ 70 ปี เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศได้รับการพัฒนาหลายด้าน ประชาชนมีความสงบสันติพอสมควร ทุกอย่างดำเนินมาด้วยดี จึงเสนอว่าทำไมไม่ลองกลับไปดูที่จุดนั้น

"ตั้งแต่สวรรคตในปี 2559 รัฐสภาและรัฐบาลก็ไปเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพระราชอำนาจ พระราชทรัพย์หลายประการ ผมก็คิดว่าถ้ามันกลับไปอยู่จุดเดิมได้ แต่ไม่ได้บอกให้อยู่เฉย ๆ นะ เวลาคุณจะปฏิรูปอะไร ต้องรู้ว่าจะเริ่มที่ไหน ปัญหาคืออะไร และปฏิรูปอย่างไรต่อไป" บรรยงกล่าวกับบีบีซีไทย

โจทย์ในการปฏิรูปสถาบันฯ ฉบับบรรยงถูกตั้งขึ้นภายใต้คำถามกว้าง ๆ ที่ว่า พระมหากษัตริย์ควรมีพระราชอำนาจขนาดไหน มีพระราชบทบาทอย่างไร และมีทรัพยากรอย่างไรบ้างเพื่อจะบรรลุถึงพระราชกิจ

ส่วนการจัดระเบียบอำนาจใหม่ จะริ่เริ่มโดยใครและอย่างไรนั้น บรรยงแนะให้ยึดหลักการของไทยและสากลที่ว่า The King can do no wrong. (กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด) เพราะ The King can do nothing. (กษัตริย์ทรงไม่สามารถทำอะไรได้เลย) เพราะทุกอย่างต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการและต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทในฐานะที่เป็นประมุข เป็นสัญลักษณ์ และมีพระราชอำนาจในการทักท้วงการออกกฎหมายตามแต่รัฐธรรมนูญจะให้ไว้ ซึ่งถ้าย้อนดูรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับจะพบหลักการแบบเดียวกัน

"ปฏิรูปโดยสันติ" ต้องเริ่มจากเรื่องที่เป็นไปได้

แม้ถูกมองว่าเป็นชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีความคิดก้าวหน้า แต่การออกมาเปิดหน้าต่อสาธารณะ สื่อสารความคิดในภาวะวิกฤตการเมืองที่ยังไม่เห็นทางออก เขาขอใช้สิทธิในฐานะประชาชนธรรมดาที่ห่วงใยบ้านเมืองและยังปรารถนาจะอยู่ในสังคมอันสงบสุขรุ่งเรือง


REUTERS
คำบรรยายภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่ไปรอเฝ้ารับเสด็จ ฯ หน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 1 พ.ย.

บรรยงย้ำว่า การปฏิรูปไม่ใช่การ "ล้าง" หรือ "รื้อถอน" แต่คือการ "ปรับโดยยังคงรูปแบบหลักการเดิมเอาไว้" ทว่าหากต้องการ "ปฏิรูปโดยสันติ" จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก "เรื่องที่เป็นไปได้" และ "กระบวนการที่ยอมรับได้"

"ความต้องการที่ไม่สามารถดำเนินได้ในสภาพความเป็นจริง ทำให้มีคนฉวยโอกาส ทำในสิ่งที่เกินเลยไปได้" ชายวัย 66 ปีสรุปบทเรียนรัฐประหารปี 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นักธุรกิจ-นักการเงินรายนี้ขยายความโดยยกตัวอย่างในอดีตที่เขามีประสบการณ์ตรง ในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" โดยเสียงข้างมากในสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 โดยเขาเห็นว่า เมื่อรัฐบาลถอยแล้ว แต่ประชาชนไม่ยอมหยุด และมีคนบางกลุ่มทำให้เกิดเรื่องเลยเถิด จนนำไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างการยึดอำนาจ และทำให้ประเทศติดหล่มมาถึงปัจจุบัน

ค้านเลิกองคมนตรีเพราะ "ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่"

การเมืองบนท้องถนนกลับมาปรากฏอีกครั้งเมื่อ 4 เดือนก่อน เมื่อขบวนการนักเรียน นักศึกษา และประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมประกาศ 3 ข้อเรียกร้องหลักต่อผู้มีอำนาจ


REUTERS
คำบรรยายภาพ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ต้องลาออก 2. รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่อ่านรัฐธรรมนูญครบ 279 มาตรา บรรยงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ และให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มากทั้งที่ไม่ผ่านฉันทานุมัติใด ๆ จากประชาชน

ส่วนข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันฯ บรรยงเห็นว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" มีความเป็นรูปธรรมหากเทียบกับข้อเสนอของกลุ่มอื่น ๆ แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังเห็นด้วยบางข้อ แต่เลือกที่จะไม่สาธยาย และขออภิปรายบางข้อที่ไม่เห็นด้วยแทน
  • ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกองคมนตรี หากยังอยู่ภายใต้หลักการเรื่องการมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และมองว่า "การมีองคมนตรีเป็นเรื่องที่ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่"
  • ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นเรื่องของสาธารณประโยชน์ แต่เห็นด้วยกับการทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เปิดเผยมากขึ้น
"การทำลายเครือข่ายไม่ใช่เป้าหมาย" แต่ต้องควบคุม

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยชี้ว่า การถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลของบรรดาเศรษฐีไทยได้ก่อให้เกิด "เครือข่ายสถาบันฯ" (Network Monarchy) ที่วางอยู่บน "ระบบเกียรติยศ"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชายผู้อยู่ในตลาดเงิน-ตลาดทุนมา 42 ปีและบอกว่าเขาศึกษาปรัชญาทุนนิยมอย่างถึงราก อธิบายว่าประเทศที่อยู่ในระบบทุนนิยมทั้งหลายแทบทุกประเทศในโลก หนีไม่พ้นคำว่าการสร้างเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ

"แต่หลักการของทุนนิยมที่ถูกต้องก็คือต้องไม่ยอมให้นำเอาเครือข่ายนั้นไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่ไม่ชอบ ในส่วนที่ไปเอาเปรียบคนอื่น ๆ ก็หลักแค่นี้ครับ เพราะฉะนั้นการทำลายเครือข่ายไม่ใช่เป้าหมาย การควบคุมเครือข่ายต่างหากเป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริง" บรรยงระบุ

เขายังนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องพระราชทรัพย์ โดยให้แยกแยะระหว่าง "พระราชทรัพย์ที่มีไว้เพื่อกิจการแผ่นดินกับกิจการส่วนพระองค์" พร้อมยกตัวอย่างอังกฤษซึ่งเป็นประเทศต้นแบบให้หลายประเทศปฏิรูปตาม ซึ่งมีการตั้ง The Crown Estate (สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ขึ้นมาบริหารจัดการพระราชทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์

"เป็นสมบัติของ crown (กษัตริย์) แต่ถือเป็นสมบัติประเทศและแผ่นดิน ในรายได้ของ Crown Estate จะระบุไว้ว่าจำนวนไม่เกินกี่ % เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับราชวงศ์ แต่ที่เหลือก็เข้าคลังแผ่นดินไป มันเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจจะยกโมเดล (รูปแบบ) เหล่านี้มาพิจารณา ข้อดีของเราก็คือเราไม่ได้พัฒนาประเทศแรก ฉะนั้นเราก็สามารถดูสิ่งที่เกิดขึ้นได้" บรรยงกล่าว


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ สมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ

การเรียนรู้และถอดประสบการณ์จากนอกบ้าน หาใช่เรื่องแปลกใหม่ในราชสำนักไทยไม่ บรรยงย้อนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็น "มหาราช" ทั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ทรง "นำเข้ากระบวนการที่เป็นวิทยาการของโลกเพื่อมาใช้พัฒนาประเทศ" ยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติมหาศาล

สำรวจสำนักงานจัดการทรัพย์สิน ควีนอังกฤษ เจ้าชายชาร์ลส์
พระราชทรัพย์ของควีนไปอยู่ในแหล่งเลี่ยงภาษีได้อย่างไร ?
รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถ แห่งอังกฤษ(Queen's Speech) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2562

เสนอให้องคมนตรีฟังเสียงถูกฝ่าย

แม้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเปิดบทสนทนาอารยะว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของชาติ แต่บรรยงออกตัวว่าไม่อยู่ในฐานะมีความสามารถพอในการออกแบบองค์ประกอบหรือสถาบันที่จะใช้พูดจากัน

เมื่อย้อนดูความเคลื่อนไหวในรอบเดือนที่ผ่านมา จะพบข้อเสนอจากปัญญาชนอีก 2 คน เพื่อร่วมหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง

"ราชประชาสมาสัย 2020" เสนอโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิดนักเขียน โดยตั้งสมการให้สถาบันฯ อยู่ร่วมกันได้กับประชาชนและประชาธิปไตย ด้วยการแสวงหา-สร้างสมดุลใหม่ หลังจากสมดุลเดิมได้สูญเสียไป

"สถาบันราษฎรสนทนากับผู้มีอำนาจ" เสนอโดย ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อทำให้บทสนทนาเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ กลายเป็นเรื่องปกติ โดยเปิด "พื้นที่ปลอดภัย" ให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้พูดคุยถกเถียงด้วยความอุ่นใจ มั่นใจ ไม่มีความรู้สึกผิด และไม่กลายเป็นอาชญากร

ล่าสุดบรรยงยังทดลองคิดและนำเสนออีกทางเลือก "ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงเข้าใจลึกซึ้ง ท่านก็อาจจะมีบทบาทได้... เรามีคณะองคมนตรี อาจจะพระราชทานคณะองคมนตรีไปรับผิดชอบฟังเสียงทุกฝ่าย อาจจะนะครับ เป็นข้อเสนอที่คิดขึ้นมาแล้วก็เสนอลอย ๆ ผมไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง"


THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อ่านจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ก่อนส่งมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนำไปส่งที่ทำเนียบองคมนตรี เมื่อ 20 ก.ย. 2563

หวั่นซ้ำรอย "ทศวรรษที่หายไป" ของประเทศ "อาหรับสปริง"

นักบริหารความเสี่ยงยังชี้ให้เห็นความเสี่ยงหากเกิดความรุนแรงขึ้นกลางเมือง โดยไล่เรียง-เทียบเคียงกับเหตุการณ์ "อาหรับสปริง" ใน 6 ประเทศ ซึ่งเขาเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยหลายประการคือ เริ่มจากความไม่พอใจประชาชน เกิด "ม็อบไม่มีแกนนำ" เกิดการลุกฮือ เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว แม้สุดท้ายทั้ง 6 ประเทศจะได้ชัยชนะสามารถโค่นเผด็จการลงได้หมด แต่ 10 ปีผ่านไป ประเทศเหล่านั้นก็ยังตั้งหลักไม่ได้

"เราต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบไม่ให้เกิดขี้น เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้ว เอาไม่อยู่ มันเห็นตัวอย่างอยู่ 10 ปีนี่เอง" เขาส่งคำแจ้งเตือนถึงทุกฝ่าย

อียิปต์ รายได้ต่อหัวของประชากรหายไป 10% จากปกติประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจจะโตเท่าตัวในรอบ 10 ปี
ลิเบีย รายได้ต่อหัวของประชากรลดลงเหลือ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ จากเดิม 12,000 เหรียญฯ สหรัฐ
ซีเรีย ประชาชนเสียชีวิต 6 แสนคน อพยพไปนอกประเทศ 5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 21 ล้านคน

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ บรรยง พงษ์พานิช


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพ การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. ถือเป็นเหตุการณ์ที่กระทบใจประชาชนที่สุด นับจากการชุมนุมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ก.ค. 2533

"ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่สมควร... ท่านก็สามารถช่วยประเทศได้"

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่อาจหวนกลับและไม่อาจคาดเดาฉากจบ บรรยงเคยยก 4 เหตุการณ์ที่ ร.9 ทรงมีบทบาทในการนำประเทศออกจากวิกฤต ในจำนวนนี้คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 ทว่าในยุคสมัยปัจจุบัน ฉากจบด้วยการ "พึ่งพระบารมี" ดูจะไม่ใช่รูปแบบที่พึงปรารถนาของขบวนการนักศึกษาประชาชน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้จำกัดพระราชอำนาจโดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ น่าสนใจว่าความต้องการของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่จะบรรจบกันได้อย่างไรภายใต้แผ่นดินปัจจุบัน

บรรยงอธิบายเรื่องการโพสต์เฟซบุ๊กของเขาว่าเป็นเพียงการนำข้อเท็จจริงมาเรียงกันเพื่อให้ทุกคนพิจารณาเอาเอง

"ผมไม่ได้ให้ความเห็นอะไรนะเลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศไม่ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ที่ทรงระงับความฮึกเหิมของทหารหนุ่มไม่ให้ขึ้นมายึดอำนาจได้ ผมไม่ได้บอกว่าวิจารณญาณแม้แต่พระราชวินิจฉัยถูกต้องเลยนะ ผมเพียงแต่มาวิเคราะห์ในความเห็นของผม เวลามันเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่รู้หรอกว่าอีกข้างหนึ่งเป็นอย่างไร เราจะไม่รู้หรอกว่าถ้าเกิดพฤษภาทมิฬ ถ้าเกิดนองเลือดจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่รู้หรอกเพราะมันไม่เกิด แต่ผมมาเรียงให้ดูว่าถ้าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่สมควร ในบางครั้งบางเวลา ท่านก็สามารถช่วยประเทศได้ ทำให้เราพ้นเหตุการณ์ คือประวัติศาสตร์คือประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้พูดว่าต้องเหมือนเดิม..."

คำวิงวอนที่บรรยงต้องการส่งถึงทุกฝ่ายทุกคนคือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ส่วนจะดำเนินการอย่างไร เป็นหน้าที่และวิจารณญาณของแต่ละฝ่าย


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพ ร. 9 โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2535

หากผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์บางส่วนรู้สึกว่าเสียงที่เปล่งออกมาไม่ถูกได้ยินหรือได้รับการสนองตอบ และมีคำถามผุดขึ้นในหัวว่าทำไมประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีสถาบันฯ

คำตอบของชายวัยเกือบ 7 ทศวรรษ คือ เป้าหมายกับวิธีการไปถึงเป้าหมายเป็น 2 เรื่องที่จะต้องชั่งน้ำหนักตลอดเวลาว่าอันไหนจะนำไปสู่อะไร

"ถ้าคุณไปถึงเป้าหมาย แต่ระหว่างทางมันเต็มไปด้วยซากศพ ระหว่างทางเต็มไปด้วยความวินาศ มันไม่คุ้มอยู่แล้ว" บรรยงกล่าว

ชนชั้นนำที่เฝ้าสังเกตความเป็นไปของการเมืองไทยและการเมืองโลก ได้ร่ายเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซีย 1917 (ปี พ.ศ. 2460) โดยพรรคบอลเชวิค ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาสหภาพสังคมนิยมโซเวียตแห่งรัสเซีย แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศหยุดอยู่กับที่ไป 50 ปี หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (ปี พ.ศ. 2322) ที่นำไปสู่การสร้าง "เผด็จการใหม่" ขึ้นมา จนต้องปฏิรูปรอบ 2

เขาจึงคาดหวังให้ทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายผู้ชุมนุมพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วประเมินความเสี่ยง "ความเสี่ยงแปลว่าโอกาสที่จะไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจ มันกลายไปเป็นอย่างอื่น และสามารถนำไปสู่หายนะอันใหญ่หลวงได้เลยแม้ความตั้งใจอาจจะดี"

ความจงรักภักดีแบบ บรรยง กับ ประยุทธ์

การออกมานำเสนอแนวคิดในการปฏิรูปสถาบันฯ โดย "ถือความจริง" และใช้ "ความจริงใจ" ทำให้บรรยงต้องพบกับความเสี่ยงเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่เขาประเมินไว้ล่วงหน้าและรู้ดีว่ามีราคาที่ต้องจ่าย แม้ในฐานะ "ลูกวชิราวุธ" จะยืนยันในความจงรักภักดีสูงสุดก็ตาม

"ผมศึกษามาจากสถาบันที่พระมหากษัตริย์ตั้ง แต่ในโรงเรียนผมเขาสอนอย่างนี้ 'รู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นฉัตรชัย' รู้รักนะครับ พอเข้าใจไหม ไม่ใช่หลับหูหลับตารัก ต้องรักอย่างรู้ ถ้าบอกว่าจงรักภักดีไหม ผมก็ว่าผมจงรักภักดีนะครับ แต่ภายในความเข้าใจในเหตุผลเพื่อความสถิตสถาวรของสถาบันฯ" ศิษย์เก่า รร.วชิราวุธวิทยาลัย กล่าว

ขณะเดียวกัน "ความจงรักภักดี" ได้กลายเเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ ชายชาติทหารผู้ประกาศตัวขอ "อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี" ทำให้ข้อเรียกร้องข้อแรกของคนบนถนนยากจะได้รับการสนองตอบ

"จงรักภักดีต่อ... (สถาบันพระมหากษัตริย์) หรือต่อตัวพระมหากษัตริย์ ต่างกันไหมครับ" บรรยงตั้งคำถาม พลางบอกว่า "ขอทิ้งไว้แค่นี้"


THAI NEWS PIX

ท้ายที่สุดเมื่อความมั่นคงของชาติถูกนำไปผูกติดกับสถานะทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ สะท้อนผ่านการที่คนเสื้อเหลืองยกให้เขาเป็น "ผู้พิทักษ์พระเจ้าแผ่นดิน" ต่างจากสายตาของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นเขาเป็น "ผู้กีดขวางประชาธิปไตย" ต้องขับไล่ไปเสียให้พ้น แล้วทางเลือกของประมุขฝ่ายบริหารคืออะไร

"อันนั้นอาจจะเหนือความสามารถของผมแล้วครับ ต้องอยู่ที่สำนึกของท่านนายกฯ เอง ที่ท่านบอกว่าฟังทุกฝ่ายอยู่เนี่ยแล้วท่านก็จะเอาไปสรุป ผมไม่สามารถตอบแทนท่านได้" ชายผู้เคยร่วมงานกับ พล.อ. ประยุทธ์ มาก่อนในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ควบกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร กล่าว

แต่ถึงกระนั้นเขาทดลองคิดถึงทางเลือก-ทางรอด ผ่านการสมมุติบทบาท

"ถ้าผมเป็นท่าน ผมจะคิดว่าถ้าผมมีประโยชน์ในกระบวนการที่จะเดินหน้าไปสู่การแก้ปัญหา ผมก็จะอยู่และจะประกาศให้รู้ว่าข้อเสนอของกระบวนการนั้นมีอะไรบ้าง แล้วจะรักษาคำมั่นสัญญา มีขั้นตอน มีเงื่อนเวลาที่ชัดเจน หรือถ้าคิดว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่จะอยู่ในเงื่อนไข มันไม่เกี่ยวกับถูกอะไรผิดอะไร แต่มันอยู่ที่ว่าโดยเงื่อนไขและประโยชน์ต้องเสียสละหรือเปล่า ไม่ตอบแทนท่าน แต่เป็นเรื่องที่ท่านต้องคิดนะครับ" เขากล่าวทิ้งท้าย