สุขุม สมหวัง ยังวัน
17h ·
พักนี้ มีประเด็นเรื่องคำหยาบคาย กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในเพจต่างๆ ผมจึงขอนำเสนอบทความนี้ เพราะตัวเองก็คลุกคลีอยู่กับวงการภาษามาพอสมควร ถ้ามีคนสนใจ จะเขียนตอนต่อๆไปครับ..
ภาษากับชนชั้น
1. กำเนิดของคำหยาบคาย
"ไอ้ห่า" "แม่ง" หรือ "ยัดแม่ง" ดูเหมือนจะเป็นคำสบถที่ผมใช้บ่อยๆ เวลาเจออะไรที่ขัดหูขัดตา
ถามว่าคำพวกนี้หยาบไหม? ผมตอบได้แบบฟันธงเลยว่า มันขึ้นอยู่กับว่าผมใช้ในบริบทไหน
ถ้าผมทำงานไม้อยู่คนเดียว แล้วดันตัดไม้ผิด แล้วสบถด้วยคำพวกนี้อย่างหัวเสีย ใครจะมาว่าผมหยาบคายได้?
ถ้าผมนั่งคุยกับเพื่อนแล้วเพิ่งรู้ว่าเพื่อนอีกคนที่นัดไว้ไม่มา แล้วสบถ คงไม่มีเพื่อนคนใดมาว่าผมหยาบคาย
แต่ถ้าผมไปสัมภาษณ์สมัครงาน แล้วเจอคำถามงี่เง่า แล้วผมดันสบถออกมาดังๆ แน่นอนว่าผมคงไม่ได้งานนั้น เพราะว่าหยาบคาย
ตัวอย่างง่ายๆที่ยกมานี้ ทำให้พอจะเห็นว่า ความหยาบคาย มันขึ้นอยู่กับบริบท ทั้งทางเวลา สถานที่ และบุคคลที่เราใช้
ความหยาบคายมันไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ หากแต่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบุคคล สถานที่ และเวลาตลอดๆ
จะตกใจไหม ถ้าผมจะบอกว่าโลกนี้ ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน คำหยาบไม่เคยมีอยู่จริง!
ทุกๆคำที่มนุษย์แต่ละชาติพันธุ์บัญญัติขึ้น ล้วนแล้วแต่ใช้เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจกันได้ในชาติพันธุ์นั้นๆ ทุกคำมีความหมายเฉพาะของตัวเอง ไม่มีคำใดเลยที่ถูกบัญญัติให้สุภาพ หรือให้หยาบคาย ทุกๆคำในทุกภาษา ใช้ได้กับทุกคน ไม่เคยมีชนชั้น
แต่เมื่อสังคมมนุษย์ ถูกจำแนกเป็นชนชั้นต่างๆ ตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มีทาส มีนายทาส มีไพร่ มีศักดินา มีกรรมกร มีนายทุน ชนชั้นสูงในสังคมที่เชื่อว่าตนอยู่สูงกว่า วิเศษกว่าชนชั้นล่าง ก็สร้างภาษาของตนเองขึ้น จากกินก็มีรับประทาน มีเสวย จากเย็ดก็มีผสมพันธุ์มีสังวาส และเหยียดคำสามัญที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ใช้และเข้าใจกัน ให้กลายเป็นคำหยาบคาย ด้อยค่าคำเหล่านั้นว่า เป็นคำพูดของคนชั้นต่ำ ไร้การศึกษา
แต่คำก็มีจำนวนมากเกินกว่าที่ชนชั้นสูงจะบัญญัติได้ทั้งหมด จึงยังมีคำที่ทุกชนชั้นยังต้องใช้ร่วมกันอีกจำนวนมาก
คำสุภาพ และคำหยายคาย จึงกำเกิดขึ้นจากสังคมชนชั้นนี่เอง
และเราก็ถูกฝังหัวโดยชนชั้นสูงและตำรับตำราที่พวกเขาแต่งขึ้น ให้เชื่อว่า การใช้คำสุภาพแบบพวกเขา เป็นสิ่งที่ชอบธรรม พูดง่ายๆคือ เขาสอนให้พวกเรา พูดกับพวกเขาด้วยคำสุภาพ ในขณะที่พวกเขายังใช้คำหยาบคายพูดกับพวกเราอย่างหน้าตาเฉย เคยมีเจ้านายคนไหน เรียกบ่าวไพร่ว่าคุณแดงคุณเขียวไหม เห็นมีแต่จิกหัวเรียกไอ้เขียวอีแดงทั้งนั้น และไม่เห็นมีคนแต่งตำราภาษาสุภาพคนไหน ลุกขึ้นมาท้วงติงตีอกชกตัวเลยสักคน.
สุขุม สมหวัง ยังวัน
14h ·
ภาษากับชนชั้น 2
ยุคสมัยกับคำหยาบ
เมื่อตระหนักแล้วว่า คำหยาบคายเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์โดยตรงกับบริบทของกาลเวลาที่ใช้ การจะชี้ให้ชัดๆลงไปว่า พูดจาอย่างไรจึงนับเป็นการพูดหยาบคาย จึงต้องคำนึงถึงยุคสมัยที่พูดด้วยเสมอ
ในยุคศักดินาครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะพูดกับพระน้ำพระยาหรือพระเจ้าอยู่หัว จะต้องใช้ศัพท์สูงประเภทราชาศัพท์ที่เขาบัญญัติขึ้น ใครขืนพูดด้วยภาษาชาวบ้าน อาจถึงขั้นถูกลงโทษหนัก เช่นเอามะพร้าวห้าวยัดปาก ดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง หรือกฎหมายลักษณะอาญาสมัยก่อน
พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ข้อวินิจฉัยเรื่องคำหยาบก็เปลี่ยนไป
"อีห่า มึงเห็นไหม แม่งทำเหี้ยโคตรๆ" ผมเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้จากเด็กนักเรียนหญิง น่าจะไม่เกินชั้นมัธยมต้น แรกๆฟังแล้วสะอึกไปเหมือนกัน ไม่คิดว่าเด็กจะใช้ภาษาแบบนี้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ถ้าเป็นด็กผู้ชายยังพอทำเนา แต่พอมาเจอกับหลานสาวตัวเอง พูดจาคล้ายๆกันอย่างหน้าตาเฉย ขึ้นกูขึ้นมึงกับเพื่อนของเขา มีคำสบถประดับในแทบทุกประโยค ก็เลยต้องมาคิดต่อ
ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว เพศชายกับหญิง มีความทัดเทียมกันขึ้นมาก พอๆกับค่านิยมเรื่องเจ้าเรื่องไพร่ ถูกทดแทนด้วยความเสมอภาค คนรุ่นใหม่ๆ โยนความคิดเรื่องวาสนา เวรกรรม ทิ้งลงในถังขยะของกาลเวลาไปแล้วอย่างไม่ไยดี ยุคสมัยของเขา มีโอกาสทำมาค้าขายได้ร่ำรวยไม่แพ้หรือมากกว่าพวกเจ้าด้วยซ้ำ ยุคสมัยของพวกเขา หญิงสามารถทำทุกอาชีพที่ชายเคยผูกขาดยึดครองได้อย่างทัดเทียม แม้กระทั่งอาชีพทหารออกศึกสงคราม
ยุคสมัยเช่นนี้ไม่ใช่หรือ ที่พวกเขาหันมาใช้ภาษาที่ครั้งหนึ่งถูกสงวนไว้ให้กับชนชั้นสูง หรือสงวนไว้ให้กับเพศชาย
คำด่าที่เจ้านายเคยใช้กับบ่าวไพร่ประเภทไอ้เหี้ยไอ้ห่าฯลฯ หรือ คำด่าประเภทอีดอก ฯลฯ ที่ผู้ชายเคยใช้จนติดปาก ทำไมพวกเขาจะไม่มีมีสิทธิใช้บ้างเล่า
ตัวอย่างชัดๆเรื่องนี้คือ คนระดับนายกรัฐมนตรี ก็ยังสบถใส่นักข่าวว่าไอ้ห่าออกทางทีวีมาแล้ว เด็กรุ่นนี้ก็ได้เห็นเต็มสองตา ได้ยินเต็มสองหู กองเชียร์ลุงตู่กลับชื่นชมว่าท่านพูดตรงๆแบบชาวบ้านดี เด็กรุ่นนี้จึงมีสิทธิคิดว่า ตนย่อมใช้คำพูดทำนองนี้ได้เหมือนกัน
พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ยุยงส่งเสริมว่าเด็กๆควรพูดจาหยาบคาย แค่อยากจะเตือนให้บรรดาผู้ใหญ่คนแก่คนเฒ่า ก้าวข้ามกับดักของมรรยาทหรือสมบัติผู้ดี ที่ถูกฝังหัวโดยคำสอนเก่าๆ แล้วมองให้ลึกลงไปถึงเนื้อหาคำพูดของเยาวชนยุคนี้มากกว่า
"อีห่า มึงเห็นไหม แม่งทำเหี้ยโคตรๆ" ประโยคนี้ ถ้าเด็กหญิงที่พูด ตะโกนออกมาด้วยความเดือดดาล เมื่อเห็นตำรวจฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่เพื่อนของเขาที่มาชุมนุมอย่างสงบ คุณยังรู้สึกว่าหยาบคายอยู่ไหม?
สำหรับผมแล้วไม่แม้แต่น้อย อาจจะช่วยตะโกนต่อท้ายไปด้วยว่า "ยัดแม่ง!"