วันพุธ, กรกฎาคม 01, 2563

ถ้าท่านมีความรู้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย สักหน่อย ท่านคงจะทราบว่า "พ่อร้องขอประชาธิปไตย ลูกชายทวงคืนสมบูรณาญาสิทธิราชย์"




Three generations of leading Mons in Siam: Irony of History
(ถ้าท่านมีความรู้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ของไทย สักหน่อย
ท่านคงจะทราบว่า
พระองค์เจ้าบวรเดช ที่ได้ชื่อว่าเปน กบฎ และพ่ายแพ้จนต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี 2476 นั้น เป็นโอรสของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล กฤดากร ผู้ทรงเป็นโอรสของพระจอมเกล้า ฯ รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเปนชนชั้นนำใหม่
กรมพระนเรศฯ พระองค์มีความคิดประชาธิปไตย เปนอารยะ และเปนสากล ทรงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสยามประเทศ ให้มีระบอบรัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำงานบริหาร แต่มีนายกรัฐมนตรี ทำงานแทน แบบของญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร
พระองค์ยังทรงมีพระมารดา คือ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ซึ่งเปนธิดาของเจ้าเมืองพระประแดง ผู้สืบสายมาจากษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดี เจ้าจอมมารดา จึงเปนเจ้าย่าของบวรเดช เจ้าจอม เปนศิษย์เรียนหนังสือกับแหม่ แอนนา เลียวโนเวนส์ ที่ให้ศิษย์ของท่าน รวมทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงอ่านหนังสือ Uncle Tom's Cabin หรือกระท่อมน้อยของลุงทอม
จนทำให้เธอมีความคิดสมัยใหม่ ที่จะต้องเลิกทาสในสยาม ให้ทาสมีอิสระ และได้รับค่าจ้างแรงงาน
พระองค์เจ้าบวรเดช อาจจะจงรักภักดี ต่อพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ก้อจริงอยู่ แต่การก่อรัฐประหาร จนล้มเหลว กลายเปนกบฎไปนั้น สร้างความยุ่งยากลำบากในหมู่ของราชวงศ์ เปนอย่างยิ่ง จนกระทั่งพระปกเกล้าฯ ต้องเสด็จออกไปประทับที่ลอนดอน และทรงสละราชสมบัติในปี ต่อมา 2477/78
ร. 7 พระองค์มีได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ให้สืบราชสมบัติ ดังนั้น พระยาพหลฯ นายกฯ ของคณะราษฎรในขณะนั้น จึงได้กราบบังคับทูลให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งทรงพำนักอยู่ที่ประเทศสวิส ขึ้นครองราชสมบัดิเปนในหลวงรัชกาลที่ 8
และดังนั้น ก้อสรุปได้ว่า รัฐบาลคณะราษฎร ที่ก่อการปฏิวัติ 2475 นั้น มิได้มีความประสงค์จะ "ล้มเจ้า" ดังที่กล่าวหากันมานานถึง 88 ปีแล้ว แต่ประการใด ครับ)
และดังนั้น นี่คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ยอกย้อน ซับซ้อนของเจ้านาย ชนชั้นสูง หลาย ๆ ชั่วอายุคน generations เราคนรุ่นหลังถ้าไม่อ่านหนังสือ ไม่ศึกษาเล่าเรียนให้พอ ก้อจะไปรู้อะไรเล่า ดังที่อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ท่านได้กล่าวไว้ ครับ
เรื่องของเจ้าย่า เจ้าพ่อ เจ้าลูก/หลาน
1.เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น สตรีชั้นนำสมัยใหม่ ในโลกสยามเก่า
2.กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระโอรส ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ รศ. 103/พ.ศ. 2427
3.พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้นำการกบฎ เรียกร้องระบอบเก่า
ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์
Irony of History
(https://www.facebook.com/charnvitkasetsiri/posts/3181578548564959)
ปล.
credit
รามัญคดี - MON Studies
June 27

"พ่อร้องขอประชาธิปไตย ลูกชายทวงคืนสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

คู่ “พ่อลูก” หรือพระบิดาพระโอรสคู่นี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมอญทางเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี
เจ้าจอมมารดาท่านนี้เป็นธิดาในพระยาดำรงราชพลขันธ์ เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ชั้นหลานผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) อดีตเจ้าเมืองเตริน พระอนุชาในพญาทะละเจ้าเมืองหงสาวดีที่อพยพหนีพม่าเข้าสยามเมื่อสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2317
ผู้เป็นบิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุล กฤดากร) บุตรชายโทนในเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ส่วนโอรสคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ที่เกิดแต่หม่อมสุภาพ
หากกล่าวย้อนไปถึงเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ผู้เป็นย่า ท่านเป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้เกิดก่อนกาล เป็นสตรีในสยามคนแรกๆ ที่ได้เรียนภาษาอังกฤษและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ศึกษาอย่างแตกฉานกระทั่งสามารถแปลนวนิยายภาษาอังกฤษเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” (Uncle Tom’s Cabin) ของมิสซีสฮาเรียต บิชเชอร์สโตว์ (Mrs. Harriet Beecher Stowe) ได้สำเร็จ
อีกทั้งยังมีความคิดอันทันสมัย คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ สนับสนุนการตอบแทนค่าจ้างแรงงานแทนการใช้แรงงานทาส ที่สำคัญ มีความคิดที่จะปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระเหมือนตัวละครของมิสซีสฮาเรียต ซึ่งการรณรงค์ให้เลิกค้าทาสและปลดปล่อยทาสเป็นอิสระเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกตะวันตกเวลานั้น
และเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็ได้ปฏิบัติตามแนวคิดนั้นด้วยการจ่ายเงินเดือนให้กับพวกทาสรับใช้ในวังของตนเดือนละ 4 บาท รวมทั้งมอบเสื้อผ้า อาหาร ตลอดจนของมีค่าเช่นทองคำรูปพรรณทำเองเป็นของขวัญปีใหม่ (สงกรานต์) ด้วย ซึ่งคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แนวคิดเช่นนี้ยังคงร่วมสมัยในปัจจุบัน
ในส่วนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถทางการศึกษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มากกว่าพระราชกุมารรุ่นเดียวกัน ถึงกับทรงสามารถเป็นล่ามให้กับเจ้าพี่เจ้าน้อง และเมื่อทรงเจริญพระชันษาก็ทรงแสดงให้เห็นถึงความคิดที่ก้าวหน้า รวบรวมข้าราชการระดับสูงประจำสถานทูตอังกฤษและฝรั่งเศสทั้งหมด 11 ท่าน
แล้วเป็นผู้นำในการทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2428 ขณะเป็นอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน เพื่อเสนอให้ทรงแก้ไขระบบการปกครองประเทศให้ทันสมัย นับเป็นแนวคิดที่ล้ำยุคในสมัยนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับการบันทึกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ. 103” หรือปรากฏการณ์ “สยามหนุ่ม”
เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการพระราชทานอภัยโทษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมเหตุผลว่า บ้านเมืองยังไม่พร้อมและพระองค์ก็กำลังศึกษาเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฝังรากประชาธิปไตยในสังคมไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้างฝ่ายโอรส คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ประเทศอังกฤษ ทรงก่อการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476
นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการการปฏิวัติสยาม 2475 สาเหตุตามที่ทรงอ้างว่า เพื่อการทวงคืนอำนาจจากคณะราษฎร์ถวายพระราชอำนาจคืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
แต่จากการประมวลหลักฐานหลายแหล่งพบว่า เกิดจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระองค์ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ
เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จลี้ภัยทางการเมืองออกไปทางเมืองไซง่อน ประเทศเวียดนาม ภายหลังได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยว่า “กบฏบวรเดช”
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 คณะราษฎรได้ทำพิธีเปิด “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ” บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ก่อนจะถูกรื้อหายไปในคืนวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี
Admin อาโด๊ด
(https://www.facebook.com/RamannMon/posts/4011168178958004)



“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ” บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ก่อนจะถูกรื้อหายไปในคืนวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561



เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุล กฤดากร) โอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดแต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เกิดแต่หม่อมสุภาพ