วันจันทร์, กรกฎาคม 27, 2563

Law Inspiration แชร์เอกสารจากเพื่อนฝูงอัยการที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุด



ได้เอกสารมาจากเพื่อนฝูงอัยการที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุด
สรุปว่า คดีขับรถชนคนตายโดยประมาทที่เขาไม่สั่งฟ้องก็เพราะว่า
นายบอสไม่ได้ขับเร็วนะ ที่ตอนแรกบอก 170 km/hr คำนวณผิด จริง ๆ แล้วขับแค่ 76-79 km/hr ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ที่สำคัญ นายบอสเขาขับในเลนปกติ นายดาบต่างหากที่ขับปาดหน้านายบอสจนทำให้นายบอสชน การขับชนนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย
ประมาณนี้แหละครับ
@Harvey
...

Dr. Pete Peerapat
Yesterday at 9:31 AM ·

#ถอดบทเรียน #บอสกระทิงแดง #ทำไมอัยการสั่งไม่ฟ้อง
คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา (นายบอส) ขับรถชนตำรวจตายแล้วหนีถือเป็นคดีหนึ่งที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการนักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
เริ่มตั้งแต่ตำรวจปล่อยให้ผู้ต้องหาหนีเข้าไปในบ้านไม่ยอมให้จับกุม การดึงคดีให้ล่าช้าจนคดีขาดอายุความ ปล่อยให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศ และล่าสุดถึงขั้นสั่งไม่ฟ้องในทุกข้อกล่าวหา และให้เพิกถอนหมายจับทั้งในประเทศและ interpol
ปล่อยให้ฆาตกรที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตลอยนวล ตบหน้ากระบวนการยุติธรรมไทยอย่างแท้จริง
=============================
วันนี้เรามาลองไล่เรียงกันว่านายบอส หลุดพ้นข้อกล่าวหาและกลายเป็นผู้บริสุทธิได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นคดีนี้เกิดขึ้นมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 5.30 น.
นายบอสขับรถเฟอรารี่พุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ แล้วหลบหนีเข้าบ้านพักของตนในซอยทองหล่อ
ตำรวจตามไปจนถึงหน้าบ้าน แต่เจ้าของบ้านไม่ยอมให้เข้า และต่อมามีการส่งตัวพ่อบ้านออกมามอบตัวโดยให้ยอมรับว่าเป็นคนขับรถคันดังกล่าว แต่พยานที่เห็นเหตุการณ์หลายรายบอกว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่คนขับรถคันเกิดเหตุ
ผบช.น. ในขณะนั้นเจรจาอยู่นานหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าไปจับตัวนายบอสมาให้ปากคำที่โรงพักได้
สุดท้ายตำรวจแจ้งข้อหานายบอส อยู่วิทยา 5 ข้อหา ดังนี้
1. ขับรถขณะเมาสุรา
2. ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
3. ขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น
4. ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน
5. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โดยข้อหาที่ 5 เป็นข้อหาที่มีโทษหนักที่สุด และมีอายุความนานที่สุด 15 ปี โดยคดีดังกล่าวจะสิ้นสุดอายุความในปี 2570
มาดูความมหัศจรรย์กันครับว่า นายบอสหลุดพ้นแต่ละข้อหาได้อย่างไร
.
ขับรถขณะเมาสุรา [สั่งไม่ฟ้อง]
นายบอสรอดข้อหานี้ได้ เนื่องจากกว่าตำรวจจะตรวจแอลกอฮอล์นายบอสได้ ก็เกือบเย็นแล้ว เป็นเวลาที่ห่างจากเวลาเกิดเหตุมาก
นายบอสให้การว่าตนไม่ได้ดื่มเหล้าก่อนขับ แต่เนื่องจากตนเองขับรถชนเลยเครียด กลับมาดื่มเหล้า
สุดท้ายตำรวจก็ไม่สั่งฟ้องเนื่องจากเชื่อที่นายบอสบอกว่า #เมาหลังขับ ไม่ใช่เมาแล้วขับ
.
ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด [ขาดอายุความ]
คดีนี้ชั้นอัยการมีคำสั่งให้ส่งฟ้องนายบอส แต่ทนายของนายบอสก็ใช้กลยุทธ์ทำหนังสือขอความเป็นธรรมเข้าไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดหลายครั้ง ทำให้ต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมหลายรอบ
สุดท้ายอัยการก็ส่งฟ้องคดีนี้ไม่ทัน เนื่องจากขาดอายุความ เพราะคดีนี้มีอายุความเพียง 1 ปี
.
ขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น [ขาดอายุความ]
คดีนี้นายบอสก็รอดเนื่องจากส่งฟ้องไม่ทัน เพราะคดีขาดอายุความ (1 ปี) เช่นเดียวกันกับคดีขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
.
ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน [ขาดอายุความ]
คดีนี้พนักงานอัยการส่งฟ้องทันเนื่องจากมีอายุความ 5 ปี แต่กว่าอัยการจัดให้นายบอสมาพบครั้งแรกเพื่อนำตัวส่งฟ้องก็ผ่านไป 4 ปีแล้ว
โดยกลยุทธ์ที่ทนายใช้ คือ กลยุทธ์ขอเลื่อนคดีไปเรื่อย ๆ โดยใช้การทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดรัว ๆ เท่านั้นไม่พอ ยังไปร้องขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เพื่อดึงเวลาให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเลื่อนไปนานกว่านั้นได้อีกแล้ว เพราะคดีกำลังจะขาดอายุความในไม่ช้า
สุดท้ายนายบอสก็ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวหนีไปนอกประเทศ เนื่องจากตำรวจยังไม่เคยออกหมายจับนายบอสแต่อย่างใด ตม. จึงไม่มีอำนาจสกัดนายบอสไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศไทย
.
ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย [สั่งไม่ฟ้อง]
ข้อหาสุดท้ายเป็นข้อหาที่หนักที่สุด และอายุความนานที่สุดถึง 15 ปี ซึ่งเดิมที่ตำรวจและอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องในข้อหานี้แล้ว
แต่ฝั่งนายบอสและทนายก็ใช้กลยุทธ์ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมจนมีการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ ซึ่งได้ข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในตอนแรก เช่น
จากเดิมเชื่อว่าขับรถด้วยความเร็วประมาณ 170 กม./ชั่วโมง แต่จากการคำนวณใหม่พบว่าจริง ๆ แล้วนายบอสไม่ได้ขับเร็วขนาดนั้น นายบอสน่าจะขับเร็วเพียงแค่ 76-79 กม./ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้วิ่งในเขต กทม. ด้วยซ้ำ (ใน กทม. ห้ามขับรถเร็วเกินกว่า 80 กม./ชั่วโมง)
นอกจากนี้ยังมีพยานที่เห็นเหตุการณ์ด้วยว่า ด.ต.วิเชียรต่างหากที่เป็นผู้ขับรถเปลี่ยนเข้ามาในเลนของนายบอสในระยะกระชั้นชิด
การที่ชนจึงเป็น #เหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เกิดจากความไม่ระมัดระวังของนายบอส แต่เป็นความประมาทของ ด.ต.วิเชียรต่างหากที่มาขับรถปาดหน้านายบอสแบบนี้
แปลว่าจริง ๆ แล้วนายบอสสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทายาทของ ด.ต.วิเชียร ที่ทำให้รถเฟอร์รารี่เสียหายได้เลยนะครับเนี้ย
.
ดังนั้น อัยการจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและส่งให้สำนักงานตำรวจพิจารณา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เชื่อที่อัยการพิจารณามาดีแล้วจึงไม่มีความเห็นแย้ง
ทำให้ข้อหานี้ซึ่งเป็นข้อหาสุดท้ายก็เป็นอันสิ้นสุดลง
และเมื่อไม่มีข้อหาจะเอาผิดนายบอสได้แล้ว ทั้งหมดอายุความ ทั้งสั่งไม่ฟ้อง นายบอสก็กลับกลายมาเป็นผู้บริสุทธิ หมายจับที่เคยออกมาก็ต้องเป็นอันยกเลิกไป
นายบอสก็สามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้อย่างสบายใจ ไร้ข้อหา
=============================
นี่แหละครับบทสรุปที่ได้จากคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุด
อ่านแล้วได้บทเรียนในการสู้คดีเยอะเลย ทั้งกลยุทธ์เตะถ่วง ทำหนังสือขอความเป็นธรรมรัว ๆ พอถึงคราวจวนตัวก็หนีไปตั้งหลักต่างประเทศ
แล้วแบบนี้จะไม่ให้สังคมตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของไทยได้อย่างไรละครับ
สุดท้ายนี้ ผมก็ไม่อยากตำหนิว่าตำรวจหรืออัยการทุกคนเป็นคนไม่ดี เพราะ ทุกองค์กรย่อมมีทั้งคนดีและคนเลวปะปนกันไป สำนักงานอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เช่นกัน
แม้กฎหมายจะเอาผิดนายบอสไม่ได้ในวันนี้ แต่ผมเชื่อว่ากฎของสังคมและกฎแห่งกรรมจะลงโทษผู้ที่ทำผิดได้ในสักวัน

(https://www.facebook.com/drpeerapat.f/posts/3521426387875806)
...