วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 30, 2563

ชัดแจ๋ว คดีไม่ไปรายงานตัวคณะรัฐประหารของ บก.ลายจุด และวรเจตน์ ภาคีรัตน์ "คือการสืบทอดอำนาจเผด็จการของแท้"

วันนี้จะมีการอ่านคำพิพากษาคดีที่ บก.ลายจุด ตกเป็นจำเลยในข้อหาไม่ไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว คดีนั้นศาลทหารได้ขยายขอบข่ายความผิดออกไปเป็นโทษหนักตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ และ พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา ๑๔

เพราะนอกจาก “ไม่ไปรายงานตัว” แล้ว ช่วง ๓๐ พ.ค. ถึง ๔ มิ.ย. ๕๗ สมบัติ บุญงามอนงค์ ยังรณรงค์ต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง จนถูกตำรวจบุกจับกุมถึงที่นอนในวันที่ ๕ มิ.ย. ถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่นและชักชวนประชาชน “ไปชูสามนิ้ว” ค้านอำนาจของ คสช.

หนูหริ่ง ถูกฝากขังในเรือนจำอยู่เกือบเดือน ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ ๖ แสนบาท จากนั้นศาลทหารก็ดองคดีไว้กว่า ๕ ปี จนต้องโอนคดีไปให้ศาลยุติธรรมปกติ เพราะคณะรัฐประหารเข้าไปเป็นรัฐบาลหลังจากจัดให้มีการเลือกตั้ง

ในการไปฟังคำพิพากษาวันนี้ “ผมถามทนายความของผมว่า ผมจะติดคุกไหม แกบอกว่าสมบัติ สมบัติไม่ติดหรอก แต่เพื่อความไม่ประมาทก็อย่าลืมพวกแปรงสีฟัน ยาสีฟันด้วย” นี่คือการมองรูปคดีความของเขาในบุคคลิกของนักต่อสู้ผู้รื่นเริงอยู่เสมอ

“โดยสามัญสำนึกของผม ผมไม่มีความผิด ผมไม่รู้สึกตัวเองผิด หากผมจะถูกลงโทษก็ไม่ใช่เพราะผมทำผิด หากผมจะถูกลงโทษก็เพราะว่าผมเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐประหาร” ที่ซึ่งไม่ควรเป็นไปได้ หากรัฐบาลนี้ไม่ใช่การ สืบทอดอำนาจรัฐประหาร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าๆ หลังจากที่หัวหน้ารัฐประหารเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาล แล้วเปลี่ยนผ่าน ผ่องถ่ายอำนาจมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เอาผลการเลือกตั้งมาเล่นแร่แปรธาติกับกฎหมายรัฐธรรมนูญกึ่งเผด็จการ เมื่อสภาพวกตนตั้งเอง ๒๔๐ เสียงประทับตรารับ

ก็ยังสืบเนื่องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่พวกยึดอำนาจจัดตั้ง คดีที่ใช้เพื่อทำร้ายหลายๆ คนซึ่งเห็นต่าง คัดค้าน และต่อต้านคณะรัฐประหาร ยังดำเนินมาจนทุกวันนี้ บก.ลายจุดคนหนึ่งละ กับอีกคนที่ควรเอ่ยถึงเพราะเขาเป็นนักวิชาการกฎหมาย

ซึ่งชี้ให้ทั่วประเทศมองเห็นว่า ผลแห่งการยึดอำนาจรังแต่ทำให้ประเทศตกต่ำล้าหลังแนวทางอารยะประชาธิปไตย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์ ก็เจอคดี ไม่ไปรายงานตัวคาราคาซังมาแล้ว ๖ ปี เช่นกัน

วานนี้ (๒๙ ก.ค.) มีการนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรก หลังจากที่คดีถูกย้ายมาสู่ศาลพลเรือน จำเลยขึ้นเบิกความด้วยตนเอง และมีการซักพยาน ซึ่งก็คือ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลย ในวันนี้จะมีการนำสืบพยานจำเลยต่ออีก ๓ ปาก

หากแต่การสืบพยานเมื่อวานมีนัยยะสำคัญอย่างหนึ่ง “วรเจตน์นั้นเบิกความต่อศาลในประเด็นข้อเท็จจริงในคดี และให้ความเห็นทางกฎหมาย ต่อประกาศ คสช. ที่นำมาบังคับใช้ในคดีนี้” ไม่เท่านั้น เขาใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๒

ขอให้ “ให้ศาลยุติธรรมส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่บังคับใช้ในคดี” คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ และ ๔๑/๒๕๕๗ ที่จะใช้เป็นฐานในการลงโทษ ว่าเป็นคำสั่งอันขัดต่อ รธน.

นอกจากนั้นในคำร้องยังชี้ให้เห็นว่า “ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจในการตรวจสอบประกาศ คสช. ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ หรือไม่ ถึงแม้จะมีมาตรา ๒๗๙ ที่รับรองความชอบทางกฎหมายของประกาศ คสช. ไว้ก็ตาม”

ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาแล้ว ศาลแขวงดุสิตจึงแจ้งว่า เมื่อ “กระบวนการหลังสืบพยานเสร็จ ศาลจะจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน” จะนัดวันมาฟังวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แล้วจึงมีคำพิพากษา

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164182075855551,  https://www.tlhr2014.com/?p=20010 และ https://www.tlhr2014.com/?p=19944)

คดีของวรเจตน์ต่างกับคดีของ บก.ลายจุด ชนิด คนละเรื่องเดียวกันเพราะเหตุแห่งการไม่ไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารของวรเจตน์ “เนื่องจากเขาอยู่ต่างประเทศ และเข้ารายงานตัวกับ คสช. ในภายหลัง” แล้วถูกจับ

ส่วนที่ต้องชะตาเดียวกัน ตรงข้อสังเกตุของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน#TLHR ต่อคดีของสมบัติที่ว่าคดีเกิดขึ้น “ในยุคสมัยที่ต้องการควบคุมความจริง ผ่านมาจนถึงยุคที่ตอนนี้หากพูดคำเดิมก็ไม่ถูกจับแล้ว แต่คดีก็ยังดำเนินต่อไป”

นี่คือการสืบทอดอำนาจเผด็จการของแท้