ไม่ว่ารัฐบาลจะทำนิ่งเพียงไรกับการ ‘ปิดคดี’ ทายาทเร็ดบูลฆ่าตำรวจตาย ความเหลิงอำนาจในแวดวงตำรวจและอัยการ
ที่ทำให้เกิดคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหาต่อวรยุทธ อยู่วิทยา อย่างขัดต่อแบบแผนทางกฎหมายและครรลองความยุติธรรม
มันอยู่บนตักของประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว
ไม่เพียงสองหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้น
บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ออกคำสั่งฟอกมลทินให้แก่ผู้กระทำความผิด
ซึ่งบังเอิญเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับสองของประเทศ และบริษัทของบิดาเพิ่งบริจาคเงิน
๓๐๐ ล้านบาทแก่รัฐบาลนี้
ยังมีหน่วยงานที่มาจากการแต่งตั้งทางการเมือง
(แม้จะอ้างวิธีการ ‘สรรหา’ ก็ไม่พ้นผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐประหาร) คือ ปปช.ที่สมรู้ร่วมคิดกับกระบวนการตะแบงความยุติธรรม
วินิจฉัยความเอื้อต่อบรรดาตำรวจที่กระทำผิดช่วยเหลือผู้ต้องหาหลบหนีคดี
การแสดงความเห็นส่วนตัวต่อคดีทายาทอยู่วิทยาโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง
นอกจากเป็นการโยนเผือกร้อน (โดยปริยาย) ใส่หน้าตักนายกรัฐมนตรีแล้ว
ยังเป็นการชี้ให้เห็นความเสื่อมทรามในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทยยุคนี้อย่างจะแจ้ง
“อัยการที่ไม่สั่งฟ้องและตำรวจที่ไม่แย้ง
ซึ่งทั้งคู่เป็นองค์กรหลักในกระบวนการยุติธรรมที่เปราะบางอยู่แล้ว
ก็ยิ่งกลายเป็นความล้มเหลวและหมดหวังที่จะพึ่งได้อีกจากคนทั้งประเทศ” ทวีเกียรติ
มีนะกนิษฐ ให้ความเห็นไว้ในกรุ๊ปไลน์กฎหมาย
“จะทำให้ระบบความยุติธรรมหมดความหมาย
ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป” หนำซ้ำ “เศรษฐกิจก็ล้มเหลว โควิดก็คุกคาม สังคมก็แตกแยก
คนเบื่อและเกลียดรัฐบาลมากขึ้น” จะนำไปสู่ “จุดเริ่มต้นของการพังทลายลงของรัฐบาล
ซึ่งจะมาเร็วมาก”
ตลก.คนนี้แนะว่ารัฐบาลจะทำนิ่งเฉยต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว
เพราะคนทั้งประเทศมีความรู้สึกฝังใจว่า “รัฐบาลสั่งได้หมดมาตั้งแต่ คสช.แล้ว”
ฉะนั้นต้องตั้งกรรมการตรวจสอบให้เร็วที่สุด อย่าอ้างว่า “รัฐบาลจะไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม”
ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกนะนี่ที่มี ตลก.รธน.
ให้ความเห็นต่อกระบวนยุติธรรมไทยอย่างถึงแก่นหลักการและสะท้อนต่อความเป็นจริง
ขณะที่องค์กรของ ตลก.คนนี้เองก็ตกเป็นที่ครหาของสังคมว่าทำให้ความยุติธรรมมีสองมาตรฐาน
เอื้อ คสช.สุดกู่ กับ อัด ‘ชินวัตร’ สุดลิ่ม
การที่นายทวีเกียรติกล้าวิจารณ์การบิดคดีนายวรยุทธ
อยู่วิทยาอย่างจะแจ้งเช่นนี้ อาจเป็นเพราะมันอยู่นอกกรอบของมาตรฐานซ้อนที่ศาล รธน.ใช้อยู่
ไม่มีทั้งผลประโยชน์ของ คสช.และชินวัตรผูกพัน อาจอยู่ในขอบข่ายอำนาจของ
คสช.บางคนที่ ตลก.ไม่ได้อิงแอบแนบสนิทด้วยก็ได้
ถึงอย่างนั้น คำสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส’ ที่ออกมา เป็นการตบหน้าระเบียบกฎหมาย และละเมิดหลักการแห่ง
‘Law and Order’ เช่นที่ ตลก.อ้าง
จนเกินกว่าใครก็ตามที่ปาวารณาตัวไว้ว่าจะเชิดชูกระบวนการยุติธรรม
จะเอออวยไปด้วยได้ง่ายๆ
มีสองประเด็นเกี่ยวกับคดีที่ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นโดยกระจ่างว่า
การวินิจฉัยของหน่วยงานเกี่ยวข้องขัดแย้งตัวบทกฎหมายและหลักนิติธรรม
ดังที่เขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและ ผบ.ตำรวจแห่งชาติ
“เหตุใดพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจึงไม่ตั้งข้อหาเสพโคเคน
ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทสอง
และไม่ดำเนินคดีข้อหาขับรถโดยเสพสารเสพติดประเภทสองในคดีนี้ตั้งแต่แรก”
อีกทั้งไม่มีการออกหมายจับผู้กระทำผิด
“แต่รอถึงต้องมีหมายเรียกถึง ๗ ครั้ง
กระทั่งคดีบางส่วนขาดอายุความและผู้ต้องหาหลบหนีไป” กับอีกประเด็นที่ ปปช.ใช้ดุลพินิจเหมือนด้อยปัญญา
(จะเป็นเพราะประธาน ปปช.เป็นเด้กเส้นของ คสช.คนหนึ่งที่กำลังระเริงอำนาจ
หรือเปล่าไม่รู้ได้)
“พฤติการณ์ต่อไปนี้
ปปช.เห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง (สองในสี่ข้อ)...มาประกอบการทำความเห็น” คือ
๑.เจตนาละเว้นไม่ดำเนินคดีกับวรยุทธในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
๒.ไม่นำรายงานผลการคำนวณความเร็วของกองพิสูจน์หลักฐาน” มาใช้
“ซึ่งพบว่าวรยุทธขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วโดยเฉลี่ย
๑๗๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง” ในกรณีนี้ทางตำรวจมีวิธีลบล้างความผิดพลาดในภายหลังหลายปีนับแต่เกิดเหตุ
ด้วยการบันทึกคำให้การของพยานฝ่ายจำเลย หลายคนเป็นตำรวจ คนหนึ่งเป็นด็อกเต้อ
เป็นคำให้การแย้งผลการตรวจสอบของฝ่ายพิสูจน์หลักฐานซึ่งกระทำต่อจากการจับกุมในปี
๒๕๕๕ ต่างอ้างว่าความเร็จรถที่นายวรยุทธขับชนดาบวิเชียรเสียชีวิต แค่ ๗๐
กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมงบ้าง ๖๐ กว่า กม./ชม.บ้าง ทั้งที่ผลการตรวจเบื้องต้นมีอยู่แล้ว