วันพุธ, กรกฎาคม 22, 2563

ยุคของคุณมันผ่านไปแล้ว ทวนอีกที ยุคของคุณมันผ่านไปแล้ว




ยุคของคุณมันผ่านไปแล้ว

ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก มีแต่หลาน ซึ่งเขาก็คงคิดเหมือนกันใน 2 ชั้นด้วยกันว่า เมื่อปู่ย่าเขา ลุงป้าเขาไม่อยู่แล้ว เขาจะทำอะไรกับบ้านบ้าง หรือไม่ เขาก็อาจจะรื้อทิ้ง ไม่ก็ขายทิ้งแล้วย้ายบ้านหรือไปอยู่ที่อื่นในโลกไปเลย

ถามว่าผมนึกเสียดายไหม ผมคิดเสมอว่า จะไปเสียดายอะไร ในเมื่อตอนนั้นผมตายไปแล้ว และยังอยากให้เขาเปลี่ยนมันเร็วกว่านั้นด้วย เผื่อจะได้ตอบโจทย์ชีวิตเขาได้เร็วทันเวลาชีวิตเขา

นี่แค่บ้านนะ ยังมีอะไรๆ อีกมากมายที่เปลี่ยนไปต่อหน้าต่อตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ผมทำงานสอนหนังสือ ทำวิจัย เขียนงาน ทำมาถ้านับเฉพาะช่วงทำงานจริงๆ ก็เกือบ 20 ปี ถ้านับตั้งแต่เริ่มสนใจเข้ามาสู่แวดวงวิชาการก็เกือบ 30 ปี 20-30 ปีที่ผ่านนี้แวดวงวิชาการทั้งสากลและในประเทศเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งที่ผมรู้ เรียน และอ่านมา ใหม่กว่าที่ครูบาอาจารย์รู้มากมาย เอาว่าความรู้ในสาขาวิชามานุษยวิทยาที่ผมร่ำเรียนมาน่ะ มักเปลี่ยนทุกๆ อย่างน้อย 10-15 ปี

หากคุณจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่ดื้อด้านสอนแต่เฉพาะเรื่องเดิมๆ ที่เรียนมา คุณก็จะต้องอ่านใหม่ ค้นคว้าใหม่ ทำวิจัยใหม่ๆ ไปรับรู้เรื่องใหม่ๆ จากเวทีวิชาการสากลอยู่ตลอดเวลา ผมเองในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ต้องเปลี่ยนความรู้ใหม่อย่างน้อยๆ 2 ช่วงด้วยกัน หลังเรียนจบ ต้องอ่านหนังสือใหม่ๆ มากกว่าที่เคยเรียนมาอีกชุดหนึ่ง หลังทำงานมาเกือบ 10 ปี ก็ต้องอ่านหนังสือใหม่อีกชุดหนึ่งอีกแล้ว

สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรที่จะให้คนรุ่นใหม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีระบบ มีทักษะการเรียนรู้ที่เพียงพอ แต่ก็จะต้องไม่กีดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ของเขาเอง ทุกวันนี้ผมจึงพยายามทั้งเรียนรู้โลกและวิธีเข้าใจโลกแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็สอนทักษะและความรู้ของโลกและวิธีเรียนรู้โลกแบบคนรุ่นผมให้กับพวกเขา

นั่นแค่ระดับครัวเรือนและระดับของวิชาขีพ ซึ่งผมคิดว่า คนรุ่นผมหลายๆ คนก็จะต้องมีประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่แบบเดียวกันนี้ ในสาขาอาชีพและชีวิตประจำวันที่แตกต่างออกไป แต่สิ่งที่เราได้เห็นขณะนี้คือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่กว่ามาก ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ 

ด้านเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง คนรุ่นใหม่เห็นความไม่น่าไว้วางใจ ความไม่เข้าใจกลไกความเป็นไปของการบริหารประเทศในรัฐบาลทหารต่อเนื่องมายังรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อมาผูกกับด้านการเมือง เขาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและอำนาจการมีส่วนร่วมกำหนดชีวิตตนเอง เรื่องนี้คุณคนรุ่นผมและที่แก่กว่าเข้าใจไม่ได้เหรอ 

คนอายุ 15-20 ต้นๆ เขาอยู่กับระบอบทหารมาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่ 2549-50 และ 2557-63 ระหว่างนั้นตั้งแต่ 2548-57 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เขาเห็นความขัดแย้งทางการเมือระหว่างสองขั้วการเมืองมาตลอด เขาต้องการตัวเลือกทางการเมืองแบบใหม่ 

พอมีตัวเลือกใหม่ ฝ่ายทหารและอนุรักษนิยมก็ปิดกั้นการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของคนกลุ่มใหม่ พอผู้คนแสดงออกทางการเมือง แม้แต่การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50, 60 การเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ก็เห็นรัฐปิดกั้น คุกคามเสรีภาพ
เขาเห็นปัญหาข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขาเห็นการลิดรอนสิทธิ์ เขาเห็นความกักขฬะ ไร้ยางอาย และความฉ้อฉลที่มีพรรคพวกร่วมกันปกป้องของผู้มีอำนาจ เขาเห็นไปถึงว่าประเทศนี้ไม่มีใครน่าศรัทธาอีกต่อไปแล้ว

พวกเขากำลังสงสัยว่า ทำไมพวกผู้ใหญ่ “ไม่เก็ต” ว่าประเทศนี้กำลังมีปัญหา พวกเขาสงสัยว่า การที่พวกผู้ใหญ่นิ่งเฉย เป็นเพราะพวกผู้ใกญ่ไม่รู้เรื่อง เพราะนั่งดูแต่ทีวีที่ถ้าไม่ถูกปิดกั้นการเสนอข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่พวกเขารู้จากแหล่งอื่นแล้ว ทีวีก็จะเป็นกระบอกเสียงให้กับระบอบที่ฉ้อฉลพิกลพิการ ถ้าคุณไม่เห็น พวกเขาก็อยากเล่าให้พวกคุณฟัง ถ้าพวกคุณไม่ฟัง พวกเขาก็อยากจะเดินหน้าไปแก้ไขด้วยตนเอง

ด้านสังคม คนรุ่นใหม่ทนไม่ได้กับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบอำนาจนิยมของครูและโรงเรียน ระบบรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ระเบียบที่เกินเลยและสังคมอำนาจนิยมที่บังคับควบคุมเรือนร่างและการแสดงออกของนักเรียน ไปจนกระทั่งการละเมิดทางเพศและความรุนแรงของครูต่อนักเรียน ที่เคยถูกกลบเกลื่อนอยู่ บัดนี้ถูกเปิดโปงออกมามากขึ้นเรื่อยๆ 

พวกเขามีเครื่องมือใหม่ๆ ในการหาความรู้ ที่ยิ่งกว่านั้นคือ มันเป็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างชุมชน สร้างสังคมของพวกเขา คนรุ่นใหม่สร้างเครือข่ายความร่วมมือกันอย่างหลวมๆ ผ่านสังคมที่ถูกคนแก่ตราหน้าว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” แทนที่จะเป็นสังคมของคนเหงา พวกเขาก้มหน้าก้มตาหาเพื่อนใหม่ๆ หาคนที่เข้าใจเขา ถูกบ้างผิดบ้าง ในที่สุดก็ทำให้พวกเขาเจอคนพวกเดียวกัน คนที่คุยกันรู้เรื่อง 

อย่าลืมว่าคนเหล่านี้จำนวนมากเป็นลูกคนเดียว ครอบครัวสมัยนี้ก็ไม่ได้เป็นครอบครัวขยายที่ญาติพี่น้องจะพบเจอคุ้นเคยแลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกต่อไป พวกเขาอยู่กับเพื่อนมากกว่ากับครอบครัว เจอเพื่อนมากมายนอกพรมแดนครอบครัว เครือญาติ และขอบรั้วโรงเรียน และผมคิดว่าสิ่งที่ที่พวกคุณคนแก่กลัวคือ คนเหล่านี้อยู่ไกลสายตาและการกำกับควบคุมแบบที่คุณคุ้นเคยมา

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปตลอด โลกก็เปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่มีที่ไหนเป็นสังคมอุดมคติเพียงพอที่จะเป็นต้นแบบของที่ไหนได้ แม้แต่ในตะวันตก สังคมประชาธิปไตยก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ คนรุ่นใหม่ซึ่งแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนตลอดเวลารู้ดีว่าสังคมต่างๆ ล้วนมีปัญหาของมันเอง คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่เห็นโลกต่างจากเรา แต่พวกเขาเห็นโลกปัจจุบันนี้ในหลายๆ ด้านมากกว่าเรา มากกว่าที่เราเข้าใจว่าเรารู้จัก 

พวกเขาอาจยังด้อยทักษะในการจัดระบบความเข้าใจ ขาดประสบการณ์และความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความบกพร่องผิดพลาด แต่เขาก็มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะเห็นว่า ระเบียบสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ บิดเบี้ยว ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่พวกเขาเผชิญอยู่

สำหรับคนอายุ 50 ขึ้นไป ยอมรับเถอะครับว่ายุคของคุณมันผ่านไปแล้ว ยิ่งใครที่อายุ 60 ขึ้นไป คุณไม่รู้จักโลกที่คุณอาศัยอยู่ขณะนี้ได้ดีไปกว่าคนรุ่นปัจจุบันหรอก 

แทนที่จะขัดขวางดื้อดึง สู้ร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ ใช้ประสบการณ์ ทักษะชำนาญของพวกคุณ ช่วยส่งเสริมให้สังคมใหม่ การเมืองใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ทะยานไปแบบสมจริงตามยุคสมัยของมันไม่ดีกว่าเหรอ

ยุกติ มุกดาวิจิตร

ที่มา FB ชาติพันธุ์นิพนธ์