วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 23, 2563

ฟัง อ.ปฐวี โชติอนันต์ วิเคราะห์ ทำไม "เราไม่ทนอีกแล้ว…และให้จบในรุ่นของเรา" ของเยาวชนอุบลฯ




https://isaanrecord.com/2020/07/22/new-thai-generation-joins-protest-2/

“เราไม่ทนอีกแล้ว…ให้จบในรุ่นของเรา” การต่อต้านรัฐบาลของเยาวชนในอุบลราชธานี

22/07/2020
Patawee Chotanan

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
The Isaan Record

“อนาคตของผม ผมคิดเองได้ อนาคตมันอยู่ที่คนรุ่นใหม่” เยาวชนคนหนึ่งปราศรัย

“เมล็ดพันธุ์เป็นของชาวนาไทยมาตลอด เป็นของพวกเรามาตลอด ทำไมต้องมี CPTPP ใครเป็นคนสร้างเมล็ดพันธุ์มา ธรรมชาติหรือไม่? รัฐบาลมีสิทธิเอาไปไหม?” นักเรียนหญิงจากโรงเรียนเบญจมหาราชปราศัย

“ทุกคนเห็นภายนอกเราอาจจะเป็นผู้ชาย แต่เราเป็นผู้หญิง ทำไมสิทธิของพวกเราไม่ได้รับการยอมรับสักที ทำไมถึงมีคนมาด่าว่าเราผิดเพศ ผิดเพศแล้วมันผิดตรงไหน” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนนารีนุกูลปราศัย

“ทุกคน พ่อแม่เราคนจนจ่ายภาษีไหม แล้วทำไมถึงเจริญแค่กรุงเทพฯ ที่เดียว ทำไมเราต้องกระเสือกกระสนไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ทั้งที่เราสามารถทำงานเรียนในที่ของเราได้ แล้วภาษีเราก็จ่ายเหมือนกับคนอื่น” นักเรียนชายจากโรงเรียนเบญจมหาราชปราศัย

“วันนี้ผมถามจริงๆ ว่า ทุกคนอยากเห็นลูกหลานเราออกมาอย่างนี้ไหม วันนี้ทุกคนต้องเลิกพูดว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ทุกคนดูสิ รายได้เราหายไปไหนหมด พ่อแม่เราลำบากเปล่า คุณรับผิดชอบอย่างไร” เยาวชนคนหนึ่งปราศัย

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในการปราศรัยของเยาวชน บริเวณหน้าศาลหลักเมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคร่วมรัฐบาลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 พ.ศ. 2562 ปรากฏการณ์การชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาที่มีต่อรัฐบาลได้เริ่มปรากฏขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะไม่มีผลในการจัดการชุมนุม ดังนั้น พื้นที่มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่เหมาะที่จะให้นักศึกษาจัดกิจกรรมการเมืองโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

แต่นักศึกษาอาจจะต้องต่อสู้เรียกร้องกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารคณะเพื่ออนุญาตให้จัดกิจกรรมทางการเมืองได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2563 ก่อนที่รัฐจะประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อรับมือและป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2519 หรือโควิด-19 นักศึกษาได้จัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อแสดงจุดยืนและความรู้สึกที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

กลุ่มนักศึกษาและประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่เรียกตัวเองว่า “คนอุบลฯ ไม่ทนเผด็จการ” จัดกิจกรรมด้านหน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2563 


การจัดกิจกรรมของนักศึกษาได้หยุดพักไปประมาณเกือบ 4 เดือน อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส-19 การอยู่ในช่วงปิดเทอมของนักศึกษา รวมถึงการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเพื่อเป็นกฎหมายให้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง กฎหมายฉบับดังกล่าว นักวิชาการหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการแก้ไขปัญหาความไม่มีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลในการบริหาร จึงต้องรวบอำนาจกลับมาไว้ที่ปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญคือ กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมไม่ให้จัดกิจกรรมทางการเมือง ทั้งที่ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน มีเหตุการณ์สำคัญที่จะเป็นเงื่อนไขให้นักศึกษาและประชาชนรวมตัวชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้ เช่น เหตุการณ์รำลึกถึงการล้อมปราบประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ 2553 รวมถึงเหตุการณ์รำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้น

เมื่อมีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ผู้จัดงานได้ประเมินตัวเลขของผู้เข้าร่วมว่ามีกว่า 5 พันคน โดยได้ประกาศเจตนารมณ์และมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐบาล ได้แก่ 1. ยุบสภาและประยุทธ์ลาออก 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย

ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีเหตุผลมาจากความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มีการทุจริตในหลายกรณี รวมถึงรัฐบาลมีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมาจากการเลือกของ ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช. การใช้กฎหมายสองมาตรฐาน ข่มขู่ คุกคามนักจัดกิจกรรมและการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ของรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานจำนวนมาก เป็นต้น

การจัดการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ได้สร้างกระแสความสนใจทางการเมืองให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ มีการติดแฮชแทก #เยาวชนปลดแอก สูงถึงประมาณ 10 ล้านบนทวิตเตอร์ ส่วนในพื้นที่กายภาพนั้น ในจังหวัดต่างๆ ได้มีเสียงขานรับจากนักเรียนและนักศึกษาแล้วจัดงานขับไล่รัฐบาลในนามกิจกรรมที่ชื่อว่า “เยาวชนปลดแอก” เช่นเดียวกัน

จังหวัดอุบลราชธานี บนเพจคนวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี ประกาศเชิญให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ณ บริเวณศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

การชุมนุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน กิจกรรมหลักเป็นการอ่านแถลงการณ์ 3 ข้อของกลุ่มเยาวชนปลดแอก การร่วมร้องเพลงและการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล ตลอดจนความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้

จากการที่ได้เข้าไปมีสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้น ผู้เขียนคิดว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจในการจัดกิจกรรมเยาวชนปลดแอกของจังหวัดอุบลราชธานีดังต่อไปนี้

ประการแรก ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีช่วงอายุประมาณ 17-25 ปี คนเหล่านี้เติบโตมาในช่วงการเมืองที่มีความรุนแรงและความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ที่สำคัญ จ.อุบลราชธานี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองอย่างมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บางคนเคยดูพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องไปต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 หรือ บางคนได้ดูข่าวหรือเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพ่อแม่เมื่อปี 2553 แต่วันนี้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเขากลับมานั่งเอาใจช่วยและดูเยาวชนเหล่านี้ปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง ประเด็นที่เยาวชนนำมาปราศรัยนั้นไม่ได้เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เป็นประเด็นปัญหาในชีวิตประจำวันที่พวกเขาได้สัมผัส

นักเรียนชายคนหนึ่งจากโรงเรียนเบญจมหาราชปราศรัยเรื่องของระเบียบการตัดผมของโรงเรียนที่ไม่ยุติธรรม เพราะว่ากฎกระทรวงไม่ได้กำหนดให้นักเรียนตัดผมเกรียน แต่ทางโรงเรียนยังให้ทำอยู่

นักเรียนที่เป็น LGBT จากโรงเรียนเบญจมหาราช คนหนึ่งปราศรัยถึงเรื่องการให้สังคมยอมรับการมีเพศไม่ตรงกับสภาพและสิทธิที่พวกเขาควรได้ในฐานะพลเมืองไทย


นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่ถูกอุ้มหายไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม เคยเรียนหนังสือ


นอกจากนี้ยังมีนักเรียนและนักศึกษาออกมาพูดถึงเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เรื่อง CPTPP ซึ่งกระทบพ่อแม่ของพวกเขาที่เป็นเกษตรกร การทำถนน รถประจำทาง การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างกรุงเทพฯ กับอุบลฯ ทั้งที่จ่ายภาษีเหมือนกัน มากกว่านั้นก็มีการพูดถึงประเด็นปัญหาของผู้ที่ถูกทำให้สูญหายโดยรัฐ ซึ่งกรณีล่าสุดคือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้า รุ่นพี่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ของพวกเขา

ประการที่สาม ประเด็นที่เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัยพบว่า เยาวชนเหล่านี้ติดตามปัญหาการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่สำคัญคือ พวกเขาเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงว่าการเมืองระดับชาติว่าส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไรและตระหนักว่า ถ้าพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจต้องทนอยู่กับสภาพปัญหาเหล่านี้ไปตลอด

ประการที่สี่ การชุมนุมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมนอกจากนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอเมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศมหาราช โรงเรียนนารีนุกูล และโรงเรียนลือคำหาญ ทั้งสามโรงเรียนนี้ถือว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี

มากไปกว่านั้น ผู้ที่ขึ้นปราศรัยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมากกว่านักศึกษา ประเด็นที่นักเรียนนำขึ้นพูดในที่ปราศรัยคือ ปัญหาที่เขาพบเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งที่พบในโรงเรียนและนอกห้องเรียน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการรับรู้ทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่นักศึกษาที่สนใจกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่ความสนใจได้แพร่ไปถึงนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งอีกไม่กี่ปีจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ประการที่ห้า การชุมนุมของเยาวชนรุ่นนี้มาพร้อมกับเทคโลยีที่ทันสมัย พวกเขาเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่มีการพูดถึงประเด็นการเมือง รับข่าวสารจากสำนักข่าวต่างๆ หรือ ติดตามนักวิชาการทางการเมืองที่เขาชื่นชอบผ่านทาง Facebook และ Twitter

ผลที่ตามมาคือ เขามีข้อมูลมหาศาลในการตัดสินใจว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ผ่านการเปรียบเทียบข้อมูลกับสิ่งที่เขาประสบด้วยตัวเขาเอง การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพวกเขาจึงผ่านการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะถูกชักจูง

ประการที่หก เทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่ในมือเยาวชนส่งผลให้พวกเขากลายเป็นเนื้อหาในสื่อและผู้ผลิตสื่อ เมื่อมีเหตุการณ์ กิจกรรม หรือคำพูดจากนักปราศรัยที่ชอบ พวกเขาก็จะถ่ายรูป พิมพ์ความคิดเห็น และโพสต์ลง Application ในสังคมออนไลน์ที่มี เพื่อบอกให้ผู้คนรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในกิจกรรม การกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งเรื่องยากที่รัฐจะควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวหรือควบคุมความคิดเห็นเหมือนในยุคก่อนๆ ที่รัฐสามารถคุมสื่อหนังสือพิมพ์หรือรายการโทรทัศน์ได้

ประการที่เจ็ด มีลักษณะที่เป็นแนวนอนและยืดหยุ่น กล่าวคือ มีการรับประเด็นการจัดกิจกรรมจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ แล้วปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ทำให้การจัดกิจกรรมเกิดขึ้นเสมือนว่าทุกคนเข้าร่วมเป็นผู้จัดงานทั้งหมด

ที่สำคัญ การจัดกิจกรรมไม่ยืดเยื้อ มีเวลาที่แน่นอน เมื่อกิจกรรมจบ ต่างคนต่างกลับบ้าน ส่งผลให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่ายที่ต่ำ ไม่ต้องค้างคืน และมีเวลาได้กลับไปทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ พวกเขาหวังว่า เมื่อมีความผิดพลาดที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาลขึ้นอีก พวกเขาก็จะได้กลับมารวมกันใหม่

ประการที่แปด การชุมนุมรอบนี้มีสัญลักษณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ผ่านการเขียนข้อความในแผ่นไวนิลและกระดาษที่ผู้ชุมนุมนำมาร่วมในกิจกรรม การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาที่ต้องการส่งข้อความกับรัฐบาลและชนชั้นนำได้รับทราบว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้

ประการที่เก้า การทำกิจกรรมของเยาวชนรอบนี้เป็นการจัดกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน แต่เป็นการจัดบริเวณศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของจังหวัด

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนว่า พวกเขาไม่กลัวรัฐบาลหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐบาลใช้ขู่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองอีกแล้ว แต่สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิที่พวกเขาสามารถที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะได้

ประการที่สุดท้าย ก่อนที่การชุมนุมจะเริ่ม ได้มีการตั้งด่านของตำรวจเพื่อตรวจสกัดรถที่เข้ามาในบริเวณตัวเมือง การตั้งด่านส่วนใหญ่จะเน้นตรวจสอบรถมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเยาวชนที่เดินทางมาจากอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้นใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาหลักของผู้เข้าร่วม แต่สร้างความรำคาญและทำให้การจราจรติดขัด

จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า การลงสู่ถนนและพื้นที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำในการเรียกร้องในครั้งนี้คือ เยาวชนที่เป็นอนาคตและพลังสำคัญของประเทศชาติ

ที่สำคัญ การเรียกร้องเหล่านี้กำลังแพร่ขยายไปทั่วประเทศ จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ อุบลราชธานี สกลนคร และมหาสารคาม เพราะพวกเขาต้องการออกจากวังวนปัญหาที่เป็นอยู่และเพื่ออนาคตของพวกเขาในภายภาคหน้าที่ไม่ต้องการส่งต่อสังคมแบบนี้ให้รุ่นต่อไป ดังคำพูดของกลุ่มของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ว่า“เราไม่ทนอีกแล้ว…ให้จบในรุ่นของเรา”