ทุกวันนี้ 'Health Care' กลายเป็น 'Sick Care' : อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วง รัฐบาลบริหาร 'โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค' ผิดหลักการ จากส่งเสริมสุขภาพแข็งแรงและป้องกันโรค กลับกลาย 'เป็นโรค' แล้วค่อยรักษาhttps://t.co/WySqSwikMf#VoiceOnline— Voice Online (@VoiceOnlineTH) August 3, 2018
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วง รัฐบาลบริหาร 'โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค' ผิดหลักการ จากส่งเสริมสุขภาพแข็งแรงและป้องกันโรค กลับกลาย 'เป็นโรค' แล้วค่อยรักษา
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วง ระบบประกันสุขภาพของไทย ผิดเพี้ยนไปจากหลักการเดิมของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ริเริ่มโดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ
- ให้โอกาสคนที่ยากจนให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล
- การจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการจัดสรรงบประมาณตามขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนบุคลากร กลายเป็นการจัดงบประมาณตามรายหัวของประชากรที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นๆ เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ควบคู่ไปกับการรักษา ด้วยแนวคิดที่ว่า หากคนป่วยน้อยลง งบประมาณในการรักษาพยาบาลก็จะเพียงพอ เพราะการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคใช้งบประมาณน้อยกว่าการรักษาพยาบาล
- การมุ่งสู่การสร้างเสริมสุขภาพให้ทุกคนแข็งแรง โดยมีโรงพยาบาลเป็นเจ้าภาพ แพทย์ในโรงพยาบาลมีเครือข่ายเป็นสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และมีเจ้าหน้าที่อนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ทำทะเบียนสุขภาพของคนในชุมชนเพื่อให้แพทย์ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด
รูปแบบนี้มีจุดมุ่งหมายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพตัวเอง มีร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่การใช้ยารักษาโรคอย่างเดียว ประกอบกับนโยบายส่งเสริมสุขภาพส่วนกลาง ป้องกันไขมัน ความดัน เบาหวาน เช่น การเต้นแอโรบิก หรือการกินผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ยอมรับว่าช่วงแรกที่ทำโครงการต้องใช้เวลาปรับตัว ใช้งบประมาณมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการจัดงบประมาณรูปแบบเดิมไปสู่การจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ แต่ปัจจุบัน แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า กลับถอยหลัง และเป็นหนี้เยอะกว่าเดิม
ยิ่งหลังจากการทำรัฐประหาร ผู้ดำเนินนโยบายไม่เข้าใจหลักการ เปลี่ยนเป็นการรักษาฟรี เพราะคิดว่าเป็นโครงการประชานิยม เรียกคะแนนจากประชาชน Health Care จึงกลายเป็น Sick Care เช่น โรงพยาบาลไหนมีคนป่วยเยอะ ต้องให้งบประมาณเยอะ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
"พอมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ไปมุ่งสู่การแข่งกันรักษาฟรี คือ 30 บาทไม่เก็บละ ฉันให้รักษาฟรีเลย ซึ่งอันนี้คืออันตราย แล้วแนวคิดแบบนี้ก็ยังต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ คิดว่าโครงการนี้คือประชานิยม คิดว่าโครงการนี้ คือโครงการที่มอมเมาประชาชนว่ารักษาฟรี แต่จริงๆ แล้วหลักการของโครงการนี้ คือการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และมุ่งเดินไปสู่การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า"
การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ต้องอยู่ที่พื้นที่ แต่ปัจจุบันกลับกันกลายเป็นกันงบไว้ส่วนกลางเพื่อรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลยิ่งขาดเงินมากขึ้น กลายเป็นมุ่งรักษาโรค แต่ไม่มีเงินทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในพื้นที่
คุณหญิงสุดารัตน์ให้เหตุผลว่า การรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพบางอย่างใช้ระดับประเทศได้ แต่บางอย่างมันเป็นเรื่องของภูมิภาค เช่น คนในภาคใต้ ทานอาหารมันกับหวาน โดยเฉพาะที่เป็นมุสลิม พี่น้องในกลุ่มมุสลิมก็อาจจะเป็นเบาหวานมาก แต่คนในภาคอีสานเป็นพยาธิใบไม้ตับ เพราะกินของดิบ ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคแตกต่างกัน ดังนั้นจะรณรงค์แบบเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้ แต่ควรจะต้องเอาเงินกลับไปที่โรงพยาบาลท้องถิ่นให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดในหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็น Clearing House คือจัดการค่าใช้จ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเล็กมาโรงพยาบาลศูนย์ เช่น เคสผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดสมอง แต่ปัจจุบันกลับทำหน้าที่จัดซื้อยาเพื่อจัดส่งให้โรงพยาบาล ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และผู้ป่วยที่ต้องรอการเบิกจ่ายงบประมาณหลายขั้นตอน ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องโครงการ 30 บาทใหม่ทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สุขภาพราษฎร: ความ(ไม่)มั่นคงทางสุขภาพของคนรายได้ปานกลาง
ที่มา
https://www.voicetv.co.th/read/ryuYnp-BX