เมื่อดูโมเดลการปั้น เดอะมาร์คเป็นนายกรัฐมนตรี จะพบว่า ไม่ได้ต่างอะไรกับความพยายามจะปั้น ประยุทธ์ เป็น นายกฯ คนต่อไป เพราะเครือข่ายทางการเมืองในวันนั้น สอดรับกับวันนี้ โดยเฉพาะ ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรทางการเมือง “สุเทพ – เนวิน – สมศักดิ์” โดยมีกองทัพที่พร้อมโอบอุ้ม
กำนันสุเทพแสดงความมั่นอกมั่นใจมากว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะได้เป็นพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ท่ามกลางสุนทรพจน์ของทักษิณที่ประกาศว่า จะชนะเลือกตั้งแบบ Avanlanche ที่ต้องไม่ลืมคือโอกาสที่กำนันสุเทพ จะปั้นนายกรัฐมนตรีต่อจากเดอะมาร์ค ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อย้อนดูเหตุการณ์วันปั้น เดอะมาร์คเป็นนายกฯ ล้วนสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองที่กำลังมีอำนาจ และโหยหาอำนาจอยู่ในเวลานี้ทั้งสิ้น
หนังสือชีวประวัติ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่จัดทำขึ้นระหว่างการชุมนุม กปปส. บอกเล่าฉากทรรศน์ทางการเมืองถึงปฏิบัติการปั้น เดอะมาร์ค เป็นนายกรัฐมนตรีไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เมื่อรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อ่อนแรงด้วยม็อบมีเส้น ที่ถึงขนาดสามารถยึดทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินไว้แล้ว สุเทพเริ่มเดินเกมส์การเมือง “เพื่อขายไอเดียเรื่องการเปลี่ยนขั้นทางการเมือง”
คุยกับกลุ่ม 16
ในเวลานั้น สุเทพเริ่มขายความคิดนี้กับนักการเมืองกลุ่ม 16 เป็นลำดับแรก นักการเมืองกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในพรรคต่างๆ สุเทพเริ่มคุยไปทีละคน ไม่คุยพร้อมกันทั้งหมด “อย่างน้อยที่สุดสิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับในตัวผมก็คือคำพูดของผมเชื่อถือได้ ผมเป็นคนพูดจริงทำจริง นี่คือต้นทุนของผม” คุยไปทีละคนจนครบถ้วน ทั้ง “เนวิน-บรรหาร-สุวิทย์-สุวัจน์-สุชาติ-สรอรรถ-สมศักดิ์ เทพสุทิน”
คนแรกที่สุเทพไปคุยด้วยคือ “เนวิน ชิดชอบ” นักการเมืองที่มีภาพจำจาก “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” กลายเป็น นักพัฒนาบุรีรัมย์จากเมื่องผ่านเป็นเมืองพักด้วยการกีฬา “ผมรู้ว่าคุณเนวินไม่ค่อยมีความสุขอยู่ในพรรคหลังจากที่คุณสมัครพ้นตำแหน่งนายกฯ แล้วพรรคหักหลังไม่เสนอชื่อเป็นนายกฯอีก” ทุกคนที่ไปต่อรองทางการเมือง สุเทพจะยึดหลัก “ผมศึกษานิสัยใจคอหลายคนมาก่อน”
เนวินอยู่ใกล้ใคร คนนั้นจะหลงมนต์เสน่ห์ “นายกสมัคร สุนทรเวช” เป็นหนึ่งในนั้น สุเทพอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง เนวินและสมัครว่า “ทั้งสองคนเขาไปกันได้ และที่ต้องยอมรับคือคุณสมัครได้ชื่อว่าเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันมาก..คุณทักษิณเห็นว่าสั่งคุณสมัครไม่ได้ทุกเรื่องก็เลยเปลี่ยนเอาสมชาย น้องเขยตัวเองขึ้นมา” สุเทพชี้ว่า ตรงนี้คือจุดตาย ที่ทำให้ “คนที่ชอบพอและนิยมคุณสมัคร ทางการเมืองที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนมีอาการไม่ค่อยชอบใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคุณเนวิน”
นัดพบ “เนวิน” ที่อังกฤษ
การนัดหมายพบปะระหว่าง “เนวิน-สุเทพ” เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เวลานั้น “นายกฯ ทักษิณ” พำนักอยู่ที่นั่นด้วย ทักษิณเผยทีหลังผ่านหนังสือของหมวดเจี๊ยบให้หลังว่า “เขาทราบนัดหมายระหว่างทั้งคู่” หลังเล่าถึงฉากพบปะระหว่างสองเสือทางการเมือง จะตัดไปที่หนังสือของหมวดเจี๊ยบเพื่อเล่าความทรงจำของทักษิณ ต่อการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งนั้น
“ผมหาทางเจอคุณเนวินตอนที่เขาไปส่งลูกเรียนที่อังกฤษ ส่วนผมกับคุณศรีสกุลก็ไปส่งลูกเหมือนกัน จึงไม่มีใครรู้ ผมนัดเจอกันที่ร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ต่างคนต่างทำทีไปซื้อนาฬิกาแล้วก็ไปคุยกัน ผมก็พูดยืนยันกับเขาว่ารัฐบาลชุดนี้ไปไม่รอด”
สุเทพ ต่อรองทางการเมืองกับเนวิน ด้วยคำถามสำคัญว่า “คุณกล้าตัดสินใจมาอยู่กับพวกผมไหม มาเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกัน” เนวินแย้งสุเทพขึ้นมาว่า “จะเอาเสียงที่ไหนมาเพียงพอ พี่มีกี่เสียง” สุเทพตอบกลับว่า “ผมบอกว่า ไม่เป็นไร คุณไม่ต้องสนใจว่าผมมีเท่าไหร่ คุณทำใจไว้ก่อนก็แล้วกันว่า คุณเอาด้วยไหม ไปด้วยกันไหม” สุเทพย้ำกับเนวินอีกว่า “จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง หรือจะหัวปักหัวปำอยู่กับระบอบทักษิณ”
ความบังเอิญที่คงเป็นความตั้งใจต่อมาคือ สุเทพเล่าว่า ขากลับจากลอนดอน “บังเอิญขากลับเราได้นั่งเครื่องบินกลับมาเที่ยวเดียวกันอีก ก็ได้พูดคุยกันต่ออีกนิดหน่อย” ข่าวนี้ถึงหูของทักษิณในที่สุด
เมื่อกลับถึงไทยได้ไม่นาน บทอวสานของพรรคพลังประชาชนก็เกิดขึ้น เมื่อมีคำสั่งยุบพรรค
หลักการต่อรองทางการเมือง
ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังเปิดเผยถึงหลักการเจรจาต่อรองทางการเมืองของสุเทพด้วย เมื่อในวงสนทนา สุเทพเล่าว่า เขายึดหลักไม่เอาเปรียบใคร “วิธีต่อรองเจรจาของผมก็คือผมไปยื่นข้อเสนอให้ชนิดที่เขาปฏิเสธไม่ได้ ข้อเสนอผมก็คือว่า พวกคุณที่เคยอยู่กับทักษิณนี่เคยบริหารงานกระทรวงไหนบ้าง ผมให้กระทรวงนั้นคุณเลย คุณพอใจไหมละ ถ้าไม่พอใจตรงไหนมาเจรจาได้” เขายกตัวอย่างประกอบ ผ่านตัวละครชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ซึ่งปัจจุบันเป็นมือวางคนสำคัญในการรับงาน “สมคิด” มาปั้น “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
“คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน นี่ผมให้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ เขาแทบจะกระโดดกอดเอวผมเลย คุณสมศักดิ์ยังบอกว่า พี่สุเทพเขายื่นเงื่อนไขแบบที่ผมปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ผมก็ติดต่อให้เขาดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เขาถนัด”
ถึงที่สุด คะแนนเสียงทางการเมืองในสภา 235 เสียง ส่งผลให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 27” สมการรอคอยของโอบามาร์คมาอย่างยาวนาน
เมื่อย้อนรอยดูตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 จะพบร่องรอยที่น่าสนใจและอาจช่วยให้อ่านเกมส์การเมืองปัจจุบันได้เจนจัดมากขึ้น
“ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ 3 ป. คุม “กลาโหม”
“เนวิน-สมศักดิ์-อนุทิน” คว้ากระทรวงระดับเกรดเอไปครอง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วย) , กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย
แบ่งปันบางส่วนให้ “สายบรรหาร” ที่ต่อรองโดยยอดฝีมือ “สนั่น ขจรประศาสน์” ประปรายเช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตำแหน่งรัฐมนตรี), กระทรวงคมนาคม (รัฐมนตรีช่วย)
ตำแหน่งเกรดเอในลักษณะนี้ อาจถูกครอบครองโดย “มิตรทางการเมือง” ที่กำลังเดินสายดูดมิตรเพิ่มเติมในเวลานี้ การหยิบยื่นตำแหน่งทางการเมืองในกระทรวงเกรดเอ งบประมาณหนา เป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในทางการเมือง สูตรจัดตั้งรัฐบาลของสุเทพในเวลานั้นคือ ใครจะเอากระทรวงไหนก็เอาไป แต่ขอนายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพเผยบนสนทนาในการประชุมพรรค “บางคนที่ประชุมพรรคยังบอกว่า พรรคเราไม่ต้องไปต่อรองเลือกสรรว่าจะคุมกระทรวงอะไรหรอก ให้เลขาฯ พรรคจัดการเต็มที่ ขอให้หัวหน้าอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พอ”
ตั้ง “รัฐบาลในค่ายทหาร”
สุเทพ พูดตรงๆในประเด็นนี้ว่า จะทำให้การเมืองในระบอบรัฐสภาดำเนินไปได้ ทหารต้องเอาด้วย “ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการตั้งรัฐบาลในขณะนั้นถ้ากองทัพไม่เอาด้วยคงแย่ ผมถึงได้ไปเจอผู้นำกองทัพเพื่อถามตรงๆ ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้โดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขารับได้ไหม”
ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น คือ “พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” ซึ่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน ตอบสุเทพว่า “ทหารก็มีวินัยของทหาร ใครเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายกองทัพก็ไม่มีปัญหา” แม้จะเป็นคำตอบที่ดูบริสุทธิ์ แต่ก็ซ่อนนัยยะของการปฏิเสธที่มาอันชอบธรรมทางการเมืองที่หลังควรพิงประชาธิปไตยไว้มากอยู่ทีเดียว
สุเทพ เดินสายหา “หัว” ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคอีกรอบ โดยเล่าบทสนทนาระหว่างตัวเขาและอนุพงษ์ให้คนอื่นๆ ฟัง “คุณบรรหารก็ยังสงสัยอยู่ว่า จริงหรือเปล่า เขายืนยันไหม ผมบอกว่าเอาแบบนี้ก็แล้วกัน ผมจะนัดไปพบกับกองทัพเพื่อให้ทุกคนได้รู้ ให้คุณบรรหารได้มั่นใจ” นาทีนั้นเหลือบรรหารเพียงคนเดียว ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ “เนวิน-สมศักดิ์-อนุทิน-กลุ่ม 16” เคาะเรียบร้อยแล้ว
สุเทพ นัด บรรหาร ไปที่ “กรมทหารราบที่ 1” ก็บังเอิญอีกว่า “ในขณะที่มีการเปลี่ยนรถเพื่อที่จะเข้าไปในพื้นที่ของทหารก็มีทีวีช่องหนึ่งถ่ายภาพได้ แล้วเอาไปรายงานว่ามีการจัดรัฐบาลในค่ายทหาร” จึงเป็นที่มาของการโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า เป็น “รัฐบาลเทพอุ้มสม” “รัฐบาลในค่ายทหาร”
ทักษิณ รู้นัดหมาย “สุเทพ-เนวิน”
นายกทักษิณเปิดเผยถึงเรื่องนี้ ในหนังสือ “ทักษิณ Are You OK” ที่เขียนโดย หมวดเจี๊ยบ” ถึงนัดหมายลับระหว่าง “สุเทพ-เนวิน” ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ซึ่งเป็นการเจรจาเพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล “ผมรู้ตั้งแต่อังกฤษแล้ว คุณเนวินไปหาผมที่อังกฤษ พร้อมกับคุณ โป๋ ธีระพล นภรัมภา คุณวิชัย คิงส์เพาเวอร์ ก็ต่างคนต่างไปหาผม แล้วตอนนี้ ก็มีคุณสุเทพไป แต่ไม่ได้ไปหาผมนะ คุณสุเทพเขาก็ไปของเขาเอง”
“แล้วก็บังเอิญเหลือเกิน มาไปเครื่องบินเที่ยวเดียวกัน แล้วก็นั่งหัวชนกัน คุยกันเนี่ย ก็มีคนบนเครื่องบินรายงานผมมา แล้วก็เล่าให้ผมฟังว่าอะไรเป็นอะไร ทำให้ผมรู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น”
เมื่อถูกถามถึงความผิดหวังในตัว “เนวิน” ทักษิณมองประเด็นนี้ต่างออกไป “ต้องทำใจนะ การเมืองไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร แต่ว่าผมต้องขอบคุณ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ยังอยู่ทุกวันนี้ ที่ไม่ทิ้งกันไป ถือว่า ส.ส.กลุ่มนี้เนี่ย คือ ส.ส.ที่รักประชาชน และมีอุดมการณ์”
ทักษิณ เล่าละเอียดถึงนาทีที่โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับเนวิน ซึ่งเป็นการโทรศัพท์ไปหาตั้งแต่ตอนจัดตั้งรัฐบาลไม่เรียบร้อยดี แต่มีสัญญาณตีจากชัดเจนแล้วว่า “ที่ผมโทรไปเข้าเครื่องคุณเนวิน ก็เพื่อจะไปแสดงความยินดีเท่านั้นแหล่ะ เขายังคิดว่าเป็นคนอื่น ผมบอกว่า เออ เนวินแสดงความยินดีด้วยนะ เขาบอกว่า ก็เป็นความสำเร็จของพี่ด้วยน่ะครับ เพราะเขานึกว่าคนอื่นโทรมา ผมก็เลยบอกเลยว่า ผมทักษิณนะ เขาก็เลยเปลี่ยนเป็นพูดว่า ครับๆ นายครับ ก็จบแค่นั้นเอง” ไม่มีประโยค “มันจบแล้วครับนาย” แบบที่รับรู้กัน
ทักษิณ เล่าถึง “ปัจจัย” ที่ทำให้มีการ “เปลี่ยนใจ-เปลี่ยนขั้วทางการเมือง” ด้วยว่า “รู้อยู่แล้วว่า เขาจ่ายตังค์กัน ใช้เงินดิวตี้ฟรีบ้าง ใช้เงินอะไรบ้าง จ่ายตลอด ก็รู้อยู่แล้ว ..ก็เห็นบางคนบอก ได้มา 20 แล้วแต่ ผมไม่รู้เหมือนกัน..โอ๊ย 100 ล้าน มันนิดเดียว หลายร้อย บางคนได้ 20 น่ะ แล้วมันกี่คนล่ะ ย้ายข้างน่ะ”
ทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างที่ “สุขุม นวลสกุล” เคยให้ความเห็นไว้ต่อความเป็นไปทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า “ที่สำคัญคุณต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้ เขาคือคนที่เคยทำงานการเมืองด้วยกันมา เขาเคยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เขาไม่ใช่คนแปลกหน้ากันเพราะฉะนั้น เป็นคนรู้ทางกันอยู่”
เสียแต่ว่า เสียงประชาชนในระดับ Avalanche จะตอบแทนนักการเมืองที่ไม่สนอุดมการณ์ทางการเมือง แต่หวงผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นที่ตั้ง นั่นจะทำให้ความมั่นใจของสุเทพล้มเหลวในที่สุด
(https://www.voicetv.co.th/read/BJ_2_TfBQ)