วันอังคาร, สิงหาคม 07, 2561

พอนายกฯ ขี้อวดคนนี้ บอกให้ประชาชนปรับตัวรับน้ำท่วมขัง พลันให้คิดถึง 'หนูดี' ขึ้นมาอีกทันที


น้ำล้น ไม่ล้น จนถึงวันนี้ (๗ ส.ค.) แล้วก็ยังไม่รู้แน่ รู้แต่นายกฯ ขี้อวด (เก่ง) บอกผ่านทางโฆษกฯ ขี้ปด (เช่น เรื่องผังล้มเจ้า) ให้ประชาชน ปรับตัว เตรียมรับมือกับสถานการณ์ “น้ำท่วมขังราว ๑๒ เดือน ซึ่งนานกว่าปีก่อน”

โดยเมื่อวาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศให้ “เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในระยะนี้” ในพื้นที่เสี่ยงภัย ๒๐ จังหวัด เนื่องจากจะมีฝนตกหนักไปทุกภาคจนถึงวันที่ ๙ สิงหา

คือนอกจากบริเวณท้ายเขื่อนต่างๆ ในภาคตะวันตกและอีสานแล้ว ท้องที่ริมแม่น้ำในทั้งสองภาคก็น่าห่วง เช่นเดียวกับพื้นที่ใกล้ทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยจากภาวะลมแรงและคลื่นสูง

น่าห่วงกว่าเพื่อนเป็นพื้นที่ต่ำลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ในบริเวณ ๕ อำเภอตั้งแต่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชรบุรี ได้แก่อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม และอำเภอแก่งกระจาน
ส่วนอีสานไม่ต้องห่วง ท่วมแน่ มากหรือน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำที่ไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ตามปกติ เพราะระดับน้ำโขงเองก็สูงเอาสูงเอา เนื่องจากไม่เพียงภาวะฝนตกชุก

หากแต่เป็นเพราะจีนซึ่งสร้างเขื่อนไว้มากมายต้นแม่น้ำโขง เพื่อกักน้ำ ใช้น้ำ ได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจำนวนมหาศาลป้องกันเขื่อนพัง โดยไม่มีมาตรการเตือนภัยต่อประเทศปลายทางน้ำ จังหวัดอีสานที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร รวมถึงอุบล


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๕ สิงหา ทั้ง รมว.เกษตรฯ และนายกรัฐมนตรี (ผ่านทางโฆษกไก่อูอีกเช่นกัน) ออกมารับประกันน้ำไม่ล้นแก่งกระจานแน่นอน อ้างว่าสมรรถนะในการระบายน้ำล้นฉุกเฉิน หรือ สปิลเวย์อยู่ที่ ๑,๓๘๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที “มากกว่า เท่าของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน” ซึ่งอยู่ที่ ๒๔๕ ลบ.ม./วินาที

สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อตอนสายวันที่ ๕ ว่า “เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรลิกกำลังสูง เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากเขื่อน” แก่งกระจาน ซึ่งมีความจุน้ำอยู่ที่ ๗๑๐ ล้าน ลบ.ม.

และจากสถิติที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นนำมาเสนอ “เปรียบเทียบน้ำกักเก็บย้อนหลังสามปี...พบว่า ปี ๒๕๕๙ อยู่ที่ไม่เกิน ๔๐๐ ล้าน ลบ.ม.” พอถึงปี ๖๐ เก็บกักไว้ไม่เกิน ๕๐๐ ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้ (สิงหา ๖๑) ฟาดเข้าไปกว่า ๗๐๐ ล้าน ลบ.ม. แล้ว

เรียกว่าถึงจะผันน้ำออกทัน รักษาเขื่อนไว้ได้ไม่แตกหรือล้น ชาวบ้านใกล้เคียงก็อ่วม “อาจเกิดภาวะอุทกภัยและน้ำท่วมฉับพลัน ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเพชรบุรี” โทรสาร ด่วนที่สุด ของ ปภ. ระบุ
 
เชื่อนใหญ่ๆ อีกสามเขื่อนในเขตจังหวัดกาญจนบุรีก็ไม่น้อยหน้า ปริมาณน้ำเกินขีดปลอดภัย ใกล้ขีดความจุ ที่ ๘๓-๘๖ เปอร์เซ็นต์ ต้องเร่งพร่อง หรือระบายออกในขนาดวันละกว่า ๔๐ ล้าน ลบ.ม. และกว่า ๒๐ ล้าน ลบ.ม.อย่างต่อเนื่อง


ทั้งที่เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์พื้นที่โดยรอบเป็นป่าเขา แต่น้ำเร่งระบายไปเพิ่มที่เขื่อนแม่กลองและลำน้ำท้ายเขื่อน กระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่สงบสุขของชาวบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง จะต้องปรับตัวตามคำของนายกฯ รูปหล่อคนนี้อย่างช่วยไม่ได้

การที่ต้องเผชิญกับภาวะคล้ายๆ กันเช่นนี้ตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนที่ความจำไม่สั้น บ้างนึกถึง หนูดี ขึ้นมาทันที บ้างก็คิดถึงเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงฯ ปลายปี ๕๔ ทั้งที่น้ำปี ๖๑ นี้ (เฉพาะที่ติดอยู่ในเขื่อนต่างๆ) ปริมาณมากกว่าปี ๕๔ เยอะแยะ

จะว่ารัฐบาลทหารเก่งกาจ รู้ตัวล่วงหน้า ไม่โง่ อย่างที่หนูดีว่า ทั้งรัฐบาลโน้นรัฐบาลนี้ก็ต่างรับฟังจากข้าราชการประจำด้วยกันทั้งนั้น ต้นปี ๕๔ ยิ่งลักษณ์ถึงได้บอกว่า เอาอยู่นี่กลางปี ๖๑ ประยุทธ์บอก ไม่ล้น
 
เสร็จแล้วยิ่งลักษณ์เอาไม่อยู่ ประยุทธ์ก็ดูเหมือนจะยอมให้ล้น เพียงแค่ขอให้ประชาชน ปรับตัว แต่การเอาไม่อยู่ของยิ่งลักษณ์กลายเป็นคะแนนติดลบสะสมมาจนกระทั่งถึงเวลาสุกงอมพร้อมเข้าขย้ำของ เสือตะวันออกเมื่อพฤษภา ๕๗

แม้นว่าการเอาไม่อยู่นั้นได้รับการยืนยันจาก ศาลปกครองกลาง ในอีกสองเดือนต่อมาว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องร้องว่าบริหารจัดการน้ำท่วมผิดพลาดนั้น “ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า...

การกระทำของผู้ร้องไม่ได้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ” แต่เป็นเหตุสุดวิสัยทางธรรมชาติ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

(ดูข่าวเก่า https://www.thairath.co.th/content/438688)

นายกรัฐมนตรีสมัยนี้ก็คงได้อานิสงค์เดียวกัน ทั้งจากหนูดีและจากศาลปกครอง ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยปีนี้ต้องเดือดร้อนกันอีก เฉกเช่นเกือบทุกปีที่ผ่านมา

แล้วรัฐบาลที่ปิดปากประชาชนส่วนหนึ่ง (อีกส่วนหุบปากกันเอง) นี้จะวิเศษกว่า ดีกว่าก่อนยึดอำนาจตรงไหน