วันจันทร์, สิงหาคม 13, 2561

คุณพร้อมที่จะเป็น "นักศึกษาในศตวรรษที่ 21" หรือไม่ ? และอย่าลืมถาม "เคยเป็นทาสโดยใจสมัคร" หรือไม่ ?




ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์


เมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เชิญผมไปบรรยายในงานปฐมนิเทศนักศึกษา ในหัวข้อ "การเป็นนักศึกษาในศตวรรษที่ 21"

ผมขอคัดย่อบางส่วนที่ผมได้บรรยายมาให้อ่านกัน

...

นักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ควรมีคุณสมบัติ 5 ประการ

ประการแรก นักศึกษาที่มีทักษะรอบด้าน

นักศึกษาจำเป็นต้องมีทักษะหรือ skill ที่หลากหลายรอบด้าน เพื่อใช้ทักษะเหล่านี้ในการพัฒนาตนเอง กล่าวให้ถึงที่สุด คือ ทักษะเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ได้แก่

1. ทักษะการคิด

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต

การคิดเป็นเสรีภาพอันสัมบูรณ์ของมนุษย์ ที่อำนาจรัฐไม่มีวันจำกัดได้ อำนาจรัฐทำได้เพียงสร้างกลไกมาบีบคั้นไม่ให้มนุษย์ได้แสดงออกซึ่งความคิดเท่านั้น แต่ห้ามมิให้มนุษย์คิดไม่ได้

เราอาจแบ่งการคิดออกเป็น การคิดแบบวิเคราะห์ และการคิดแบบวิพากษ์ อันแรก คือ การจำแนกแยกแยะ คัดประเด็นหลัก ประเด็นรอง แบ่งแยกส่วนประกอบ อันหลัง คือ การวิพาษ์สิ่งที่เป็นอยู่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สิ่งนั้นมาจากอะไร การประเมินคุณค่า

การคิดวิเคราะห์ - จำแนกแยกแยะสิ่งที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่
การคิดวิพากษ์ - ตั้งคำถาม ประเมินคุณค่า สิ่งที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่

2. ทักษะการสื่อสาร

เมื่อมนุษย์คิดได้ ความคิดของมนุษย์จะปรากฏได้ก็ต้องผ่านการสื่อสาร การแสดงออก

ในวรรณกรรมเรื่อง Das Liebeskonzil ของ Oskar Panizza เรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า ปี 1495 ณ เมืองนาโปลี ศาสนจักรคาทอลิกเน่าเฟะมาก โป๊ปอเล็กซานเดอร์ที่ 6 และเหล่าคาร์ดินัลทั้งหลาย หมกมุ่นอยู่กับเรื่องงานรื่นเริงและกามกิจ

มีสายขึ้นไปรายงานพระเจ้าถึงเหตุการณ์ที่เมืองนาโปลี พระเจ้าหารือกับเมียและลูกแล้ว เห็นตรงกันว่าต้องคิดหาวิธีการสั่งสอนพวกมนุษย์ จึงไปตามตัวซาตานมา โดยมอบหมายให้ซาตานไปคิดหาวิธีการใดมาก็ได้ ที่จะทำให้พวกมนุษย์โง่เขลาเหล่านี้ได้รับบทเรียนเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการร่วมเพศ

ซาตานคิดแล้วคิดอีก สุดท้ายจึงสร้างเชื้อซิฟิลิสขึ้นมา และประกาศหาอาสาสมัครจากเหล่านางทั้งหลายบนสวรรค์และนรก รับอาสาพาเชื้อซิฟิลิสติดไปกับตัว แล้วลงไปโลกมนุษย์ ยั่วยวน-ร่วมรัก กับเหล่ามนุษย์มากตัณหา สุดท้าย โป๊ป คาร์ดินัล บาทหลวง ผู้คนทั่วไป ก็ติดซิฟิลิสกันหมด

ชื่อเรื่อง Le Concile d’amour หรือ Das Liebeskonzil แปลตามตัวได้ว่า การปรึกษาหารือด้วยความรัก พระเจ้า-มารี-เยซู มีและใช้ "ความรัก" ในการควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ (รวมทั้งโป๊ปด้วย เพราะโป๊ปก็คือมนุษย์) เอาคำว่า "ความรัก" ไปตัดสินคนนั้นคนนี้ ไปปิดปากคนนั้นคนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มบุคคลที่นิยมการครอบงำผู้อื่น โดยอาศัยคุณค่าบางประการในนามของ “ความดีงาม ความรัก ศีลธรรมจรรยา”

และแม้นจะอ้างเรื่องความรัก (ที่ทำให้พระเจ้าหน้ามืดตามัว คิดเรื่องอัปรีย์แบบนี้ขึ้นมา) แต่พระเจ้าคงลืมคิดไปว่า ถ้าเอาเชื้อซิฟิลิสลงไปติดคนทั้งโลกจนคนสูญพันธุ์ แล้วพระเจ้าจะเหลือมนุษย์หน้าไหนให้อภิบาล

ซาตานขอข้อแลกเปลี่ยนตอบแทนจากการที่ซาตานต้องไปคิดแผนสั่งสอนมนุษย์

ซาตานขอควบคุมเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิด เพราะ "การที่ใครบางคนคิด และไม่มีสิทธิในการเผยแพร่ความคิดของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้ นั่นแหละ... เป็นความสยดสยองที่สุดในบรรดาวิธีการทรมานทั้งปวง"

ใช่ครับ... การที่มนุษย์คิดได้ แต่ไม่สามารถแสดงออกในสิ่งที่ตนคิดออกมา นี่คือ การทรมาน

การสื่อสาร คือ การนำเสนอสิ่งที่เราคิดในหัวของเรา ให้ปรากฏออกมา

การสื่อสาร ได้แก่ การพูด การเขียน

การสื่อสาร เพื่อแสดงสิ่งที่เราคิดออกมา ใช้เหตุผลสนับสนุนสิ่งที่เราคิด ใช้เหตุผลโต้แย้งความคิดที่เราไม่เห็นด้วย

3. ทักษะด้านภาษา

ถ้าภาษาไทยเป็นภาษาสากลได้ เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอื่นมากนัก แต่แทบเป็นไปไม่ได้ที่ภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาสากล เราจึงต้องรู้ภาษาอื่น

การรู้ภาษาอังกฤษ และการรู้ภาษาที่สาม ที่สี่ ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งทำให้เรามีเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ได้ด้วยตนเอง

4. ทักษะด้าน IT

5. ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
เมื่อเราคิดได้ คิดเป็น เราก็ต้องสื่อสารออกไปให้ผู้อื่นได้ มิเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์

การสื่อสาร กระทำการผ่านทางภาษาและ IT

และการคิด การสื่อสาร ทั้งหมด ต้องทำร่วมกับผู้อื่น

ดังนั้น ทักษะทั้ง 5 นี้ ช่วยทำให้นักศึกษาสามารถดำรงชีวิต ใช้ชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง นักศึกษาที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก ชนิดที่เรียกว่า หากเรานอนหลับไม่ตื่นไปสัก 10 ปี เมื่อเราตื่นขึ้นมาใหม่ จะพบว่า นี่คือคนละโลกกับที่เราเคยเห็น

ความเปลี่ยนแปลงที่มาเร็ว กระแสเทคโนโลยี วัฒนธรรมใหม่ ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

ต้องไม่ปฏิเสธ ต้องไม่เบือนหน้าหนี แต่ต้องเท่าทัน

"เท่าทัน" คือ รู้จักกับมัน ใช้โอกาสจากมัน และไม่ตกเป็นทาสมัน

ความเป็นไทย ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความเป็นสากล
ความเป็นไทย ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง

เราสามารถเป็นไทยได้ รักชาติได้ ด้วยกระแสสากล

ประการที่สาม นักศึกษาที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล

แก่นสำคัญของประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ประชาชน คือ คนทั่วไป คนทุกคน
การตัดสินใจมาจากประชาชน
ประชาชนจะตัดสินใจได้ ต้องมีเสรีภาพในการคิด การแสดงออก
ประชาชนจะใช้เสรีภาพในการคิดได้ แสดงออกได้ ต้องมีความมั่นคงในชีวิต ต้องสามารถดำรงชีวิตได้มาตรฐาน
ดังนั้น ประชาธิปไตย จึงสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง

เมื่อประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในรัฐ รัฐจึงต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน รัฐจึงพรากเอาสิทธิมนุษยชนไปไม่ได้

ประการที่สี่ นักศึกษาที่คิดถึงสังคม คิดถึงผู้อื่น

ประการที่ห้า นักศึกษาที่ไม่ยอมจำนน

Jean-Jacques Rousseau กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ไว้ใน Discours sur l’origine et les fondements de l’inégalité parmi les hommes ว่า ในทางกายภาพ มนุษย์กับสัตว์ก็เหมือนกัน แต่มี ๒ องค์ประกอบหลักที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อย่างสิ้นเชิง คือ เสรีภาพ (La liberté) และความสามารถในการทำให้ตนเองสมบูรณ์ (La perfectibilité)

เสรีภาพ คือ อำนาจที่จะเลือก ในขณะที่สัตว์ถูกชี้นำจัดการด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็น Agent อิสระในการตัดสินใจ มนุษย์มีเสรีในการเชื่อฟังหรือต่อต้าน และจิตสำนึกแห่งเสรีภาพนี้ที่แสดงถึงจิตวิญญาณของตน มนุษย์ไม่ได้รับมอบเสรีภาพจากใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีผู้ใดมีอำนาจดลบันดาลมอบเสรีภาพให้แก่มนุษย์ แต่มนุษย์มีเสรีภาพติดตัวมาตั้งแต่เกิด และมีมาตลอดกาล เสรีภาพเป็นธรรมชาติที่มาพร้อมกับมนุษย์

ผมเห็นว่า นักศึกษาควรใช้เสรีภาพนี้เพื่อต่อต้านขัดขืน ไม่ยอมจำนน เพื่อยืนยันถึงการดำรงอยู่ของตนเอง เมื่อเราตั้งคำถาม เมื่อเราต่อต้าน เมื่อเราขัดขืน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการยืนยันว่าเรามีชีวิตจริงๆ เราไม่ใช่หุ่นยนต์หรือสัตว์

เอเตียน เดอ ลา โบเอซี เขียนไว้ใน "ว่าด้วยความเป็นทาสโดยใจสมัคร" ตั้งแต่ปี 1576 ว่า

"ธรรมชาติของมนุษย์ คือ ความเป็นอิสระและความต้องการเป็นอิสระ แต่มนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างง่ายดายเมื่อการศึกษาทำให้เขาเปลี่ยน ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเขาเคยชิน สิ่งเดียวที่ยังคงอยู่ในลักษณะตามธรรมชาติของพวกเขา คือ มนุษย์ปรารถนาอะไรที่ง่ายและไม่เปลี่ยนแปลง

เหตุผลประการแรกของความเป็นทาสโดยใจสมัคร คือ ความเคยชิน นั่นแหละ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับม้าที่กล้าหาญที่สุด เริ่มแรก มันกัดเหล็กปากม้า แต่ไม่นาน มันกลับเล่นสนุกสนานกับเหล็กนั้น เริ่มแรก มันไม่ยอมให้ใครเอาอานมาใส่หลัง แต่ตอนนี้ มันกลับวิ่งเข้าไปให้ใส่บังเหียนด้วยความภาคภูมิใจ และโอ้อวดในชุดเกราะ"

ดังนั้นนักศึกษาจะเป็นทาสหรือไม่ มาจากการตัดสินใจของตัวนักศึกษาเอง

นักศึกษาในห้องนี้ เกิดเมื่อปี 2542 2543

ตลอดชีวิต18-19 ปี อยู่กับรัฐบาลเผด็จการทหารไปเกือบครึ่งหนึ่ง เจอการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีไม่ปกติไป 3 ครั้ง เป็นรัฐประหาร 2 ครั้ง เป็นการสมรู้ร่วมคิดจากหลายฝ่ายอีก 1 ครั้ง

ตลอดชีวิต18-19 ปี อยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกไปเกือบครึ่่งหนึ่ง

ตลอดชีวิต 18-19 ปี ต้องรับ "มรดกบาป" ที่คนรุ่นก่อนสร้างมาให้

ในอนาคต ก็มีแต่ความมืดมิด ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไป อำนาจเผด็จการยังคงมีอยู่ต่อไป ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีแต่มากขึ้น โอกาสในการมีชีวิตที่ดีน้อยลง

พวกเราในห้องนี้ คนที่มีอายุ 18-19 และต้องอยู่ในโลกใบนี้ไปอีกนาน จึงมีความชอบธรรมสูงสุดในการส่งเสียงว่า

"พอกันที เราไม่ต้องการสังคมแบบที่พวกคุณสร้างให้เรา เราต้องการกำหนดอนาคตของประเทศ อนาคตของสังคม อนาคตของเรา ด้วยตัวเราเอง"

อย่ายอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่ จงแปรความไม่พอใจในชีวิต ในสังคมที่เป็นอยู่ จงแปรความคับข้องใจในชีวิต ในสังคมที่เป็นอยู่ จงแปรความโกรธ ให้กลายเป็นพลัง

แล้วความไม่พอใจ ความโกรธ จะกลายเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลง

Alain Badiou เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง La vraie vie หรือ ชีวิตที่จริงแท้ ซึ่งเป็นหนังสือที่สื่อสารไปถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ว่า ศัตรูภายในใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการไปสู่ชีวิตที่จริงแท้ มีสองข้อ

ข้อแรก แรงปรารถนาของชีวิตแบบฉับพลันทันทีทันใด

ข้อสอง แรงปรารถนาอยากประสบความสำเร็จ

ศัตรูภายในสองข้อนี้ ขัดกันเอง

ด้านหนึ่ง คือ การทำลาย ความปรารถนาแบบฉับพลันทันที กิเลส อาจทำให้ เยาวชนตัดสินใจเลือกทางเดินผิด หลงผิด จนทำลายตนเอง

อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้าง ความปรารถนาอยากสำเร็จในชีวิต ทำให้เยาวชนไม่คิดอะไร นอกจากจะทำแต่สิ่งที่จะไปถึงฝัน ไม่คิดถึงสังคม ไม่คิดถึงผู้อื่น เห็นแก่ตัว ยอมจำนนกับระบบ เพื่อต้องการความสำเร็จในชีวิต

ด้านหนึ่ง ผลักดันให้เราเป็น ไอ้ขี้แพ้

อีกด้านหนึ่ง ผลักดันให้เราเป็น ทาส

ศัตรูทั้งสองนี้ ต่างก็ทำลายชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ สิ่งหนึ่ง ทำลายทันที อีกสิ่งหนึ่ง การสร้างเพื่อไปสู่การทำลาย

ผมเห็นว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ ต้องไม่ยอมจำนน ต้องไม่เป็นทั้งไอ้ขี้แพ้ ต้องไม่เป็นทั้งทาสของระบบ แต่ต้องพัฒนาความรู้ ค้นหาชีวิตที่จริงแท้ เพื่อนำไปสู่การปลดปล่อยตนเองและสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เมื่อนั้น ชีวิตจึงเป็นชีวิต มิใช่หุ่นยนต์หรือกลไกของรัฐ

ช่วงเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญ มีอิสรภาพมากขึ้น มีเวลาในการค้นหาชีวิตมากขึ้น อยู่ในวัยที่กระตือรือร้นและมีพลัง

ขอให้นักศึกษาใช้เวลาใน 4 ปีนี้ เพื่อค้นหาชีวิตที่จริงแท้ ชีวิตที่ไม่ยอมจำนน ชีวิตที่เสรี


Piyabutr Saengkanokkul