วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 10, 2561

ขอแสดงความนับถือ มารู้จักส่วนหนึ่งของกลุ่ม ‘MBK39’





ทำความรู้จักกลุ่ม ‘MBK39’


2018-02-07
ที่มา ประชาไท


หลังจากถูกออกหมายเรียกครั้งที่สอง พร้อมเพิ่มข้อกล่าว 39 บุคคลที่ปรากฏตัวที่สกายวอล์กปทุมวันในวันที่ 27 ม.ค. 2561 รวมเป็นสองข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

ตามหมายเรียกมีการนัดให้ทุกคนไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.) โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการผลัดฟ้องต่อศาล พร้อมขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งหากศาลอนุญาตฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวแน่นอนว่าพวกเขาต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

ในจำนวน 39 คน อาจมีหลายคนเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่จำนวนมากกลับเป็นคนที่สปอตไลท์ของสื่อมวลชนส่องไปไม่ค่อยถึง ประชาไทรวบรวมบทสัมภาษณ์ ควาามรู้สึก ความคิดเห็น มุมมองต่อสถานการณ์ของคนธรรมดาที่วันหนึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง หลายคนระบุชัดว่าตั้งใจไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่บางคนระบุว่าเพียงแค่ไปสังเกตการณ์เพียงเท่านั้น แม้จะมีเหตุผลที่ต่างกันออกไป แต่ความน่าสนใจอาจจะอยู่ที่คำถามว่า อะไรกันที่ทำให้พวกเขาก้าวเดินไปที่สกายวอล์กปทุมวันในวันนั้น คำตอบที่ได้อาจต่างกัน แต่หากขมวดรวมให้เห็นจุดร่วมที่ชัดเจนคือ การปรากฏตัวที่สกายวอล์กไม่ว่าจะไฮปาร์ก ไม่ว่าจะร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะไปสังเกตการณ์ ทุกอย่างล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันล่วงละเมิดมิได้




โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ


อายุ 40 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุมมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง มีอาชีพทำป้ายไวนิล

“วันที่ไปชุมนุมบริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน เรามีอาชีพทำป้ายไวนิล ตอนที่ไปชุมนุมเรามักจะเป็นคนทำป้ายไวนิลต่างๆ วันที่ไปชุมนุมตรงสกายวอล์กแยกปทุมวันเราก็ทำป้ายไปยืนถือ เขียนว่า ‘หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดยื้ออำนาจ’ เราไม่ได้พูดไม่ได้ปราศรัย แค่ยืนถือป้ายเฉยๆ เลย แต่คนอื่นบางคนที่อยู่ใน 39 คน เขาก็ไปยืนเฉยๆ ไม่ได้ถือป้ายด้วยก็โดนในข้อหาเดียวกัน และเราคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เราแค่ไปเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

จุดประสงค์ที่ออกมาชุมนุมในครั้งนี้คืออยากมาทวงสัญญาที่จะมีการเลือกตั้งที่บิดพลิ้วมาหลายรอบ แล้วคุณก็คอร์รัปชันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งที่รัฐบาลประกาศนโนบายปราบคอร์รัปชันเอง และหน่วยงานอิสระก็ไม่ดำเนินการสอบสวน

ตอนนี้โดน 2 ข้อหาคือคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 กับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งที่เราไปชุมนุมอย่างสงบ เราไม่ได้คิดว่าเราทำผิดกฎหมาย ตอนนี้เราก็คิดว่าจะไปปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่เพื่อนก็มีหลายคนที่โดน เราก็ไม่ได้เสียใจอะไร ไปอยู่ข้างในก็คงไม่เหงา

ขอเห็นแย้งกับพล.ต.อ.ศรีวราห์ (รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ถ้าให้ประกันตัวไปแล้วผู้ต้องหาหลบหนีใครรับผิดชอบ เราอยากแย้งเต็มๆ เลยว่า แม้โดนคดี แต่เราไปเรียกร้องการเลือกตั้ง เราจะหนีไปไหน เราก็ต้องอยู่รอเลือกตั้ง มันไม่ใช่คดีร้ายแรงที่จะต้องหลบหนี แล้วหมายเรียกครั้งแรกเราเซ็นรับ วันที่ 31 ม.ค. ไปขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ก.พ. เพื่อมาเตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัว แต่พล.ต.อ.ศรีวราห์ไม่อนุญาตให้เลื่อน ไม่อนุญาตไม่ว่า แต่ภายในวันเดียวกันออกหมายครั้งที่สองตามไปที่บ้านอีก ในขณะที่ตัวเราเองยังอยู่ สน. ภายใน 48 ชั่วโมง ออกหมายเรียกถึง 2 ครั้ง และไม่ให้เลื่อน แล้วถ้าครั้งนี้ไม่มารายงานตัวก็สามารถออกหมายจับได้ ทั้งที่ความจริงแล้วประชาชนมีสิทธิขอเลื่อนตั้งแต่หมายเรียกครั้งแรก นี่เหรอที่คุณบอกว่าเป็นไปตามกฎหมาย แล้วล่าสุดจากหลักทรัพย์ประกันตัว 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท

ระบอบประชาธิปไตยประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ มีฝ่ายค้านที่ช่วยตรวจสอบ มีวาระ 4 ปี ถ้ารัฐบาลไม่ดีก็มีวาระของมัน แต่ตอนนี้ทหารฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็เขียนใหม่โดยเราไม่มีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2535 ที่เราเห็นเป็นต้นมา ประเทศวนอยู่แบบนี้ ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์สักที”




มัทนา อัจจิมา

อายุ 57 ปี จบรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
สนใจด้านการเมือง ชอบไปนั่งฟังงานเสวนาต่างๆ

“วันแรกที่มีการรัฐประหารปี 57 เราก็ไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปถือป้ายต่อต้านเพราะเราไม่ชอบ หลังรัฐประหาร บริษัทที่เราทำงานปิดตัวลงเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ข้อดีก็คือทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่างๆ ได้ พอมีกลุ่มใดๆ ที่มีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตยเราเข้าร่วมหมด ทั้งกับกลุ่มนักศึกษา หรืองานเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะเราไม่ชอบความไม่เป็นธรรม

ที่ไปชุมนุมวันนั้นคือเราไม่ไหวแล้วจริงๆ อยากเลือกตั้งเพราะอยากใช้สิทธิของเราเลือกคนมาบริหารประเทศ เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่ให้สิทธเสรีอะไรกับพวกเราเลย อะไรๆก็ใช้แต่มาตรา 44 สิทธิในการออกเสียง สิทธิในการพูดแสดงความคิดเห็นไม่มีเลย

คือเขาเลื่อนเลือกตั้งอีกแล้ว มันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไงก็ต้องร่วม เราก็ไปยืนถือป้ายเฉยๆ ช่วยน้องๆ เท่าที่ช่วยได้ ไม่ได้โวยวายหรือก่อความไม่สงบ แต่ที่อัดอั้นคือทำไมเราถึงถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันกับอีกฝ่ายทั้งที่เขาก็ออกมาชุมนุมเหมือนกัน แล้วค่าประกันตัวจากตอนแรก 20,000 บาท อยู่ดีๆ ก็ขึ้นเป็น 60,000 บาท

พอโดนข้อหานี้เราไม่กลัวแต่มีความกังวล เพราะคนในบ้านมีความคิดต่างจากเรา ทุกวันนี้ครอบครัวยังไม่รู้ว่าเราโดนคดี ถ้าเขารู้ว่าเราโดนก็อาจจะมีการห้ามบ้าง แต่เขาคงไม่สามารถห้ามเราได้ เพราะเราออกไปไหนเราก็ไม่ได้บอกใคร เขาก็จะคิดว่าเราไปหาเพื่อน

ต้องรอดูวันที่ 8 ก.พ.นี้ว่าศาลจะว่ายังไง เขาจะให้เราเซ็น MoU อะไรไหม เราต้องฟังความคิดเห็นของทนายด้วย เราเคยโดนคดีราชภักดิ์มาก่อนหน้านี้ ก็โดนให้เซ็น MoU ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง ห้ามออกนอกประเทศ พอเราเซ็นแล้ววันรุ่งขึ้นเรายังออกมาร่วมกับน้องๆ อีก ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกกลัวนะ เพราะเราถือว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาจะให้เราผิดแบบไหนเราไม่รู้




เอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์

อายุ 59 ปี สนใจการเมืองมานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยม

“ที่ออกมาชุมนุมเพราะต้องการให้รัฐบาลรู้ว่าคุณไม่ทำตามสัญญา เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่แฟร์สำหรับประชาชน สนช. ออกกฎหมายที่ยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน มันไม่ถูกต้อง สนช.ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ดังนั้นมันเหมือนคุณสัญญากับประชาชนไว้แล้วแต่ไม่ทำตาม

ถ้าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเราด่านายกฯได้ แต่พอเป็นรัฐบาล คสช. ถามว่าด่าได้ไหม เขาด่าประชาชนอีกต่างหาก ตะคอกประชาชนอีกต่างหาก เหมือนเขาเหนือกว่าเรา เขาทำอะไรโดยที่ไม่ได้ถามเรา บางครั้งก็ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายโดยไม่ได้ผ่านการอภิปราย เหมือนเป็นคำสั่ง เราทำอะไรก็ไม่ได้ เราถึงอยากเลือกตั้ง เลือกพรรคที่มีนโยบายตรงใจเรา

การเมืองมันเกี่ยวข้องในทุกอณู สินค้ามีราคาแพง ภาษีขึ้น ฯลฯ ทุกอย่างมันเกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของนโยบายที่เราต้องมีส่วนร่วม มีสิทธิเลือก อย่างกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค ของทักษิณ ชาวบ้านเลือก แต่ทำไมนโยบายรักษาฟรีของอภิสิทธิ์ชาวบ้านถึงไม่เลือก เพราะการรักษาฟรีทำให้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนไข้อนาถา เหมือนมาขอเขารักษา ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงกับหมอหรือพยาบาลได้ ในขณะที่จ่าย 30 บาท ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองได้จ่ายเงินไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีสถานะด้อยกว่าหมอหรือพยาบาล

ที่เราออกมาชุมนุมวันนั้น เราไปยืนนิ่งเฉยๆ ไม่มีการตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ที่เราโดนอาจเพราะออกมาร่วมชุมนุมค่อนข้างบ่อย ตำรวจนอกเครื่องแบบก็จำหน้าได้ เขาก็เคยถ่ายรูปเรา

ที่เขาใช้ข้อหานี้คิดว่าเขาต้องการให้เราหวาดกลัว แต่เราไม่กลัว พอโดนข้อหาเราก็เฉยๆ กลางคืนก็นอนหลับ หลับยันสว่างปกติ เพื่อนที่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่า กูบอกมึงแล้วๆ พูดกันปากต่อปากแล้วก็พากันหวาดกลัว ไม่อยากออกมา จริงๆ ถึงเวลาแล้วที่จะออกมา

สมมติถ้าเราไม่ออกไปชุมนุม เราก็ไม่เดือดร้อน แล้วเงินในกระเป๋าก็ยังอยู่ แต่พอเราออกมาเคลื่อนไหว ค่าใช้จ่ายเราก็ต้องออกเอง แต่ที่ออกไปชุมนุมเพราะคิดว่า ถ้ามีแต่คนเกี่ยงกัน คุณออกไปสิ คุณออกไปสิ มันไม่ได้ มันต้องเริ่มที่ตัวเรา เราถึงต้องออกมาเรื่อยๆ เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าทุกคนเอามือซุกหีบมันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น เราทำไม่ได้”




อ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์

นิสิตปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจการเมืองมาตั้งแต่ช่วงความขัดแย้งก่อนรัฐประหารปี 57

“ปกติก็สนใจกิจกรรมแบบนี้อยู่แล้วก็เลยแวะเวียนมา ประเด็นเรื่องเลือกตั้งเป็นเรื่องที่คนสนใจและเป็นผลประโยชน์ของประเทศ เราไม่พอใจกับการเข้ามาของ คสช. อยู่แล้ว ถือเป็นการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ คสช. อยากแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่หลายกลุ่มที่ต้องการการเลือกตั้ง

วันนั้นเราแค่ยืนคุยกับเพื่อนเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นครั้งแรกที่โดนข้อหา ก็รู้สึกงงๆ เพราะวันนั้นไม่ได้ทำอะไรจริงๆ แต่อาจเป็นเพราะเราเคยมีชื่อทำกิจกรรมมาก่อน (ล่าชื่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่) รู้สึกไม่ยุติธรรมมากๆ ที่ถูกตั้งข้อหา

พอโดนแล้วก็ไม่ได้กลัว แต่มีเครียดนิดหน่อย เพราะเราหยุดทำกิจกรรมทางการเมืองไปนานแล้ว หันไปทำกิจกรรมละครที่เราชอบมากกว่า แต่ก็ไม่ได้กลัว ไม่ใช่เรื่องที่จะมากลัวต่อรัฐบาลที่มาปล้นสิทธิประชาชนไป

อย่างการทำละครมันก็มีทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่การทำละครมันเป็นกิจกรรมคนละแบบกับการออกมาชุมนุมแบบนี้ เรามองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การออกมาประท้วง การเข้าไปในกลุ่มศิลปวัฒนธรรมก็เป็นการเคลื่อนไหวประเภทหนึ่ง แต่มันเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ในการใช้อีกมุมหนึ่งเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ

การเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่างในชีวิตเราอยู่แล้ว คนที่รู้จักบางคนเขาอาจมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่จริงๆ มันมีคนให้คำนิยามว่าการเมืองเป็นเรื่องการจัดการผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งมันหมายความว่าเป็นผลประโยชน์ของทุกคน ทุกคนในประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต เช่น รัฐออกนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มันก็มีผลกับการใช้เงินในชีวิตประจำวันเรา หรือนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา เราที่เป็นนิสิตนักศึกษาก็ได้รับผลกระทบในทางหนึ่ง ไม่ว่านโยบายออกมาแบบไหน แม้เราจะคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรา มันห่างไกลจากเรา แต่สุดท้ายมันก็จะกระทบกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สิ่งที่กระทบกับเราตอนนี้ก็คือเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม การตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมส่งผลกระทบต่อเพื่อนๆ เราด้วย เราอาจจะเห็นมุกตลกบ่อยๆ ว่า อย่าไปพูดนะเดี๋ยวโดนจับ ชอบกินอะไรเดี๋ยวเอาข้าวผัด โอเลี้ยงไปฝาก มันเป็นการสร้างความคิดว่าเราไม่ควรพูดอะไรเกินเลยกว่าที่เขากำหนด เพราะเราจะเดือดร้อนได้ ซึ่งบางเรื่องจริงๆ เราสามารถพูดได้อย่างอิสระ แต่การใช้อำนาจของ คสช. จับกุมนักศึกษาหรือคนทั่วไป ส่งผลให้คนที่เหลือเขามีความรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องอันตราย น่ากลัว ไม่อยากไปยุ่ง ทำให้สำนึกทางการเมืองยิ่งน้อยลง แทนที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทในประเทศ พัฒนาไปในทางที่ตัวเองต้องการ แต่ก็ถดถอยไปเรื่อยๆ จนวนเข้าลูปเดิม คือการที่การจัดการ ออกนโยบาย ถูกคิดขึ้นมาจากส่วนบน ส่วนกลาง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ขนาดนั้น

แต่พอเราโดนข้อหา เท่าที่คุยกับเพื่อนเขาก็ไม่ได้พูดว่ากลัว แต่ออกจะไม่พอใจ คสช. มากกว่า เพื่อนที่คุยด้วยก็ไม่ใช่เพื่อนที่ทำกิจกรรมอย่างเดียว จะมีเพื่อนที่ปกติไม่ได้ทำกิจกรรม แต่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราและคนอื่นโดนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอามาเล่นงานทางการเมือง เขาก็เลยไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก เหมือนกับการที่เราโดนข้อหาทำให้เพื่อนที่อาจจะไม่ได้สนใจการเมืองหันมาสนใจและรู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์นี้และรัฐบาล คสช. ก็หวังว่าการที่เราโดนแบบนี้อาจเป็นสิ่งดีก็ได้ที่ทำให้คนหันมาตระหนักปัญหามากขึ้น”




อรัญญิกา จังหวะ

อายุ 22 ปี นิสิตคณะประมง ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เราแวะผ่านไป แล้วก็ไปเจอพวกรุ่นน้อง รุ่นพี่ แล้วก็ป้าๆ ที่รู้จักกัน ก็ไปทักทายยืนคุยปกติ แล้วก็เจออาจารย์เราก็ทักทายธรรมดา พอเขาเสร็จแล้วเราก็กลับ ก็แค่ไปสังเกตการณ์ แต่ตอนแรกเราว่าจะไม่ไป แต่พอดีว่ามีน้องที่เรารู้จักเขาไปเราก็เลยแวะไปหาน้อง

ก่อนหน้านี้เราก็เคยโดนจับเพราะกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ไปจัดกิจกรรมวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ก็ถูกตำรวจจับไปครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นเราเป็นคนจัด แต่ครั้งนี้เราแค่ไปยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ที่เราอยากไปครั้งนี้ก็เพราะมันมีรุ่นน้องที่รู้จักซึ่งเขามาจากต่างจังหวัดไป เราก็แค่อยากไปคุยกับน้องเฉยๆ แล้วพอมาถึงตอนนี้เราโดนแจ้งข้อกล่าวหา เราว่ามันไม่แฟร์อะ คือเราแค่มายืนดูเฉยๆ หรือแม้แต่การออกมาเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นแล้วโดนคดีเราก็ไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเสรีภาพและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ออกมาแค่นี้แล้วโดนจับมันก็เป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิของประชาชนเกินไป

กับสิ่งที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเรียกร้อง คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. เราก็เห็นด้วย เพราะการเข้ามาของ คสช. ตั้งแต่เริ่มมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย การทำรัฐประหารมันก็ผิดหลักการอยู่แล้ว ไม่ควรอยู่ได้นานถึงขนาดนี้ ไม่ควรเข้ามาตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

วันที่ 31 ม.ค. เราก็เพิ่งรู้ว่ามีคนโดนคดีเพิ่ม แล้วก็เห็นรายชื่อตัวเอง ก็เลยโทรไปบอกที่บ้านไว้ก่อนว่าจะมีหมายไปที่บ้าน จากนั้นตำรวจเขาก็ไปที่บ้าน แล้วก็มาถามว่าพ่อแม่เรามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เราออกมาร่วมทำกิจกรรมอะไรหรือเปล่า แล้วก็ถามถึงน้องเราที่เรียนพยาบาลอยู่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือเปล่า คือเราว่ามันเป็นการละเมิดเรามากเกินไป เราโดนแจ้งข้อกล่าวหามันก็ควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวเรา แต่เขาไปถามหาคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง เรารู้สึกว่ามันเป็นการคุกคามเรากับครอบครัวเราด้วย แล้วมันยิ่งทำให้เรามีปัญหากับที่บ้าน คือครอบครัวเราก็กังวลว่าเราจะเรียนไม่จบ จะเจอปัญหาอยู่แล้ว การที่เขาทำแบบนี้อีกมันก็ยิ่งทำให้เราคุยกับที่บ้านยากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”




คุณภัทร คะชะนา

อายุ 23 ปัี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

“จริงๆ วันนั้นเสร็จจากไปดู BNK 48 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผมก็แค่แวะมาที่สกายวอล์กปทุมวันเพราะรู้ว่าเขามีกิจกรรมกัน ผมก็แค่อยากมาดูว่ามีคนมากันเยอะไหม เราก็ยืนอยู่วงนอก แล้วก็เดินไปเดินมา ไม่ได้เข้าไปใกล้ตรงที่นักข่าวอยู่กันเยอะๆ เจอเพื่อนก็เดินไปคุยกับเพื่อน

พอเจอเพื่อนก็แค่ยืนคุยกันบรรยากาศเป็นไง คนมาเยอะดีนะ เขาทำอะไรกันบ้าง แค่นี้เอง ส่วนสาเหตุที่เราไปที่นั่นก็เพราะรู้สึกว่า มันเป็นวันแรกของปีนี้ที่มีการออกเรียกร้องการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการแก้ไขกฎหมายทำให้การเลือกตั้งอาจจะเลื่อนออกไปอีก เราก็อยากรู้ว่าจะมีคนมาเยอะไหม แล้วเราเองก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้วก็แค่เดินไปดู

ส่วนสิ่งที่มีการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งเราก็เห็นด้วย แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องอย่างเดียวมันยังมีเรื่องการสืบทอดอำนาจอยู่ด้วย เพราะว่ารัฐบาลเขาก็วางแนวทางในการสืบทอดอำนาจของตัวเอง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในวันนั้นเหมือนมีสันติบาลคนหนึ่ง เขาจำหน้าผมได้แล้วก็ถ่ายรูปผมไป ตรงนี้แหละที่อาจจะทำให้เราถูกออกหมายเรียก จนถึงวันนี้ผมก็ยังสับสนอยู่นะว่าตัวเองโดนได้อย่างไร เราก็ยังงงกับชีวิต แค่ไปดูเฉยๆ ก็โดน เราพยายามอยู่ห่างๆ แล้ว แต่สุดท้ายการเมืองก็วิ่งมาหาเรา เข้ามาส่งหมายถึงที่บ้านด้วย แล้วยิ่งโดนเพิ่มข้อกล่าวหาด้วยเราก็งง หนักเข้าไปอีก”




กันต์ แสงทอง

อายุ 30 ปี อดีตอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
ปัจจุบันศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

“เรารู้ว่าจะมีการชุมนุมวันนั้น แต่ที่เราไปเราไม่ได้ตั้งใจจะไปชุมนุมด้วยแต่เราตั้งใจจะไปถ่ายรูปเก็บไว้ เน้นเป็นภาพข่าวส่วนใหญ่ เพื่อที่จะเอาไปขายต่อได้ นี่คือจุดประสงค์หลัก ซึ่งไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว เราก็ทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ไปถ่ายแค่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มอื่นๆ มีกิจกรรมอะไรเราก็ไปหมด การเก็บรูปในสถานการณ์แบบนี้มันหาได้ยาก เพราะเป็นสถานการณ์ที่มีการท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการ

วันนั้นเราก็ไม่ได้ไปมีบทบาทอะไร เรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องกิจกรรมเราถอยมาเยอะแล้ว เพราะเราต้องเรียนหนังสือ แล้วช่วงนี้เราทำวิทยานิพนธ์ด้วย เราไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรมอะไรกับใครมาก เราถอยออกมามากพอสมควร แต่ก็ยังคุยกันอยู่ในฐานะเพื่อน แต่ไม่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมหรืออะไรต่างๆ หน้าที่หลักตอนนี้คือการเขียนวิทยานิพนธ์ เพื่อที่จะเรียนจบโท ที่จุฬาฯให้ได้แค่นั้นเอง

ส่วนประเด็นที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ออกมาเรียกร้อง จริงๆ เราอยู่ในพื้นที่ของการทำงานวิชาการมากกว่า เราเห็นด้วยบางประเด็น บางเรื่องเราก็มีคำถาม แต่ในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ เราเห็นด้วยทั้งหมด แต่ในเชิงเนื้อหาที่ทางกลุ่มได้ให้สัมภาษณ์ หรือไฮปาร์กเราก็ยังมีคำถามในบางประเด็น แล้วเราก็ต้องเอามาถกกับอาจารย์ในคลาสเรียน แต่สิทธิในการแสดงออกเราไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในทางอุดมการณ์ทางการเมืองเราไปทางเดียวกับเขา แต่เราก็จัดว่าตัวเองว่าเราไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่มวลชน เราเป็นแค่ประชาชนทั่วไปที่สนใจเราก็ไปดู

เราเข้าใจได้ว่ารัฐตอนนี้มันได้ตั้งอยู่บนหลัก Rule of Law มันอ้างเพียงแต่ว่าคุณทำผิดกฎหมาย ใช่ผมทำผิดกฎหมาย แต่เขาไม่เคยพูดเรื่องของหลักนิติรัฐว่า รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากขนาดไหน รัฐพูดอยู่อย่างเดียวว่าเราทำผิดกฎหมายทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ออกมาแล้ว รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจอื่นๆ ไปละเมิดประชาชนอยู่ ตรงนี้เราคิดว่าในทางวิชาการมันคือการขัดกันกับรัฐธรรมนูญ คุณประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ก็ยังใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญเก่าอยู่ เขายังใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ได้อยู่ ทุกวันนี้เท่ากับว่าเราไม่สามารถจะยืนอยู่บนหลักการอะไรได้เลย

สิ่งที่เราเจอคือสองข้อกล่าวหา ซึ่งเราว่ามันเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า พูดให้แรงๆ มันเป็นการกวนตีนของรัฐ แล้วผลกระทบที่เราจะต้องเจอคือปัญหาด้านเวลา เพราะหลังจากนี้เราต้องไปลงพื้นที่ไปฝังตัวอยู่ในชุมชนเป็นเดือนๆ เพื่อที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ แต่ถ้าเราต้องมารายงานตัวกับศาลบ่อยๆ มันจะทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการเดินทาง แล้วมันกำหนดเวลาทำงานยาก”


MBK39 บางส่วนแอคชั่นหน้า สน.ปทุมวัน ยันพรุ่งนี้มาตามหมายเรียกแน่
คนส.ประกาศระดมนักวิชาการและเงินประกันตัว MBK 39
นักศึกษาเชียงใหม่-ปัตตานี-ม.เกษตรเรียกร้องตำรวจยุติดำเนินคดี MBK39
คุยกับ ‘แม่จ่านิว’ เหตุแห่งน้ำตาในวันรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมสกายวอล์ก
ตร.ไม่ให้ MBK39 เลื่อนฟังข้อกล่าวหา แต่จะออกหมายเรียกรอบสอง 8 ก.พ.นี้


*ขอบคุณภาพบางส่วนจาก เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ooo