วันเสาร์, มิถุนายน 10, 2560

85 ปี ปฏิวัติสยาม: ประวัติศาสตร์ที่ “ต้องจัดการ” - BBC Thai





85 ปี ปฏิวัติสยาม: ประวัติศาสตร์ที่ “ต้องจัดการ”


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
10 มิถุนายน 2017

กว่าแปดทศวรรษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร และการปกครองโดยทหารที่พยายามบอกให้ประชาชนลืมความเป็นมาของ 24 มิถุนายน 2475 ท่ามกลางปริศนาการหายไปของ "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" กว่า 2 เดือนมาแล้ว

ในสายตาของ "ผู้ก่อการ" 24 มิถุนายน 2475 คือวันแห่งการ "สร้างชาติใหม่" ภายใต้การปกครอง "ระบอบใหม่" จึงเลือกฝังหมุดทองเหลืองที่มีข้อความว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" ลงบนถนนอู่ทองใน หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ตรงจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางส่วน เปรียบเปรยหมุดนี้เป็นเสมือน "รอยเท้า" ของคณะราษฎร

แต่ในความคิดของคณะเจ้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม 24 มิถุนาฯ คือประวัติศาสตร์ที่ต้องจัดการ นั่นคือจุดเริ่มต้นในการแปลงคณะราษฎร จาก "ผู้นำเข้าประชาธิปไตยแบบสากล-ผู้สร้างความศิวิไลซ์" ให้เป็น "ผู้ร้าย"

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่าขบวนการโจมตีคณะราษฎรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาและเติบโตของขบวนการอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย โยงกับฝ่ายนิยมเจ้าที่หมดบทบาทไปหลังปี 2476 แต่มาได้รับการฟื้นฟูบทบาทในยุคประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ และมีบทบาทสูงมากเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายถูกรัฐประหาร นั่นคือการล่มสลายของรัฐบาลคณะราษฎร


กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักเลขาธิการสภาฯคำบรรยายภาพโฉมหน้าคณะราษฎรสายทหารบก 33 คน โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (คนที่ 5 แถวกลางจากซ้ายมือ) และ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (คนที่ 3 แถวกลางจากซ้ายมือ) ร่วมในภาพด้วย


"สิ่งหนึ่งที่จะทำให้แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมมั่นคงและพัฒนา คือการโจมตีคณะราษฎร นักคิดอนุรักษ์นิยมทุกสมัยมักคิดเสมอว่าประชาชนไม่มีคุณภาพ ต้องให้ชนชั้นสูง ชนชั้นนำ คนกลุ่มน้อยที่เป็นคนดีมีความสามารถปกครองบ้านเมือง สถาบันชั้นสูงเป็นสัญลักษณ์ของคนดีมีความสามารถ.. แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะมีไม่ได้นะ อาจเป็นประชาธิปไตยก็ได้ แต่ประชาธิปไตยต้องมาจากการพระราชทาน ดังนั้นพวกคณะราษฎรจึงเป็นกบฏโดยนัยเช่นนี้ คือไปจี้ไปบังคับให้พระองค์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชทาน ประเด็นที่เขาโจมตีในระยะต้นๆ ไม่ได้โจมตีประชาธิปไตย แต่โจมตีกบฏว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และ 'ชิงสุกก่อนห่าม' ในเมื่อในหลวงจะพระราชทานอยู่แล้ว ทำไมต้องไปแย่งยึดมา" รศ.ดร.สุธาชัยกล่าว

มรดกของคณะราษฎรคล้ายถึงกาลอวสาน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารปี 2501 ปฏิบัติการ "ลบความทรงจำ" ของสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันปฏิวัติสยาม 24 มิถุนาฯ ที่ถูกกำหนดให้เป็น "วันชาติ" มีมรณะ ไม่ต่างจากสถานะของหมุดคณะราษฎรที่ถูกทำให้หมดความสำคัญ ก่อนหายไปอย่างเงียบๆ ครั้งแรกในปี 2503



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


ทว่าในทัศนะของ รศ.ดร.สุธาชัย นี่อาจเป็นเพียงความ "บังเอิญ"

"ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าสฤษดิ์เป็นคนสั่งหรือเปล่า แต่อาจเกิดจากความไม่สนใจ เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร (หลังจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต เลขาธิการสภา ได้นำหมุดมาวางคืน) จริงๆ ปีแรกหลังรัฐประหารยังมีวันชาติอยู่นะ เพิ่งมายกเลิกแล้วเปลี่ยนวัน เพราะสฤษดิ์ต้องการสร้างสัญลักษณ์ใหม่โดยเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลาง ดังนั้นสฤษดิ์ไม่ได้ยุบวันชาติ แต่เปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิถุนายน เป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ ผมเข้าใจว่าความหมายของวันชาติเสื่อมลงหลังจากนั้นต่างหาก ไม่ได้เป็นความจงใจของสฤษดิ์ แต่ในฐานะที่เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษามีความสำคัญในนัยอื่นมากขึ้น เช่น กลายเป็นวันพ่อ และอื่นๆ อีกหลายความหมาย คือมันถูกใส่ความหมายมากเกินไป ทำให้ความหมายของการเป็นวันชาติเลือนหายไป"

ปัจจุบันสังคมอาจรู้สึกว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นคนทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎร ทว่าก่อนวันวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เขาคือมรดกของการยึดอำนาจปี 2475

"ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจับโยงกับคณะราษฎร แล้วบอกว่า 'นี่ไงคือพวกที่ก่อการรัฐประหารทำลายบ้านเมือง' แล้วเอาประชาธิปไตยไปโยงกับรัชกาลที่ 7 เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจึงเกิดจากรัชกาลที่ 7 แล้วค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถึงอัญเชิญพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 มา และตีความว่าพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 7 คือประชาธิปไตย แต่กรอบเหล่านี้มาพังหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะราษฎรได้รับการฟื้นฟูบทบาท"