https://www.facebook.com/VoiceTVonline/videos/10156120811354848/
ปัญหาของคำสั่งศาลปกครอง ที่ยกคำร้องขอทุเลาของบุญทรง ก็คือ ศาลไม่ได้บอกว่า ่ให้ทุเลา หรือไม่ให้ทุเลา แต่กลับบอกว่า รัฐบาลยังไม่ใช้มาตรการบังคับ ฉะนั้น ศาลปกครองยังไม่มีอำนาจ
อะไรคือมาตรการบังคับ??? ต้องรอถึงเมื่อไหร่??? งงสิครับ การที่กระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่งให้บุญทรงกับพวก ให้ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็น "คำสั่งทางปกครอง" ที่มีผลบังคับแล้วไม่ใช่หรือ คือให้จ่ายภายใน 15 วัน ถ้าไม่จ่ายจะส่งกรมบังคับคดียึด เมื่อมีคำสั่งทางปกครอง ก็มีเหตุให้ขอทุเลา คือรอไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาว่าต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ คนละเท่าไหร่ ฯลฯ
แต่ศาลกลับบอกว่าคำสั่งให้จ่าย (ซึ่งวิษณุ เครืองาม พูดชัดๆ ว่ามีผลตามกฎหมายตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว) ยังไม่มีมาตรการบังคับ แล้วยกคำร้อง ทำให้กรมการค้าต่างประเทศ จะทำหนังสือไปถึงกรมบังคับคดี แล้วกรมบังคับคดีจะทำหนังสือไปถึงกรมที่ดิน ธนาคาร ฯลฯ เพื่อยึดอายัด ขายทอดตลาด ฯลฯ
เมื่อไหร่ ถึงจะถือเป็นมาตรการบังคับ ไม่ทราบเหมือนกัน บุญทรงอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้อีกต่างหาก ฉะนั้น ก็ต้องยื่นคำร้องใหม่ ต่อศาลไปเรื่อยๆ เช่น เมื่อกรมการค้าต่างประเทศ ทำหนังสือให้กรมบังคับคดียึดอายัด ก็ร้องอีกทีหนึ่ง ถ้าศาลบอกว่า เอ้า เป็นมาตรการบังคับแล้ว ศาลมีคำสั่ง (ทุเลาหรือไม่ทุเลาก็แล้วแต่) ก็เป็นอันจบ
แต่สมมติศาลบอกว่ายังไม่ใช่มาตรการบังคับ ยกคำร้องอีก ก็ต้องรออีก รอให้กรมบังคับคดียื่นหนังสือไปที่กรมที่ดิน ที่ธนาคาร แล้วยื่นคำร้องใหม่ๆๆ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน
ooo
อันนี้เขียนอธิบายไปแล้วในข่าวหุ้น เพิ่มความขำปนสังเวช ฟังวิทยุรายการเศรษฐกิจ นักข่าวใช้คำผิดๆ ถูกๆ ยังไม่เข้าใจประเด็นกฎหมายเลย แต่คอยไชโยโห่ร้องเวลาเขายึดทรัพย์
คำขอทุเลาหรือ "คุ้มครองชั่วคราว" ในคดี พรบ.ความรับผิดทางละเมิด มีหลักง่ายๆ ว่า หนึ่ง กฎหมายนี้ให้อำนาจฝ่ายบริหาร เรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ไม่ต้องรอศาลอาญาตัดสิน ฉะนั้นมันจึงอาจกลายเป็นการใช้อำนาจโดยพลการ หรือกลั่นแกล้งกัน กฎหมายจึงให้ศาลปกครองตรวจสอบและตัดสิน ว่ารัฐเรียกค่าเสียหายถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่
สอง คำขอทุเลา ศาลสั่งคุ้มครองเมื่อมองว่าคำสั่งรัฐน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในกระบวนการยุติธรรม เมื่อสู้คดีกันไปถึงที่สุด ศาลปกครองสูงสุดอาจไม่ตัดสินตรงตามรัฐก็ได้ การให้ยึดทรัพย์ไปก่อน อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ไม่อาจเยียวยา เช่น ยึดบ้านที่ดินมรดกเขาไปขายทอดตลาด ต่อมา ศาลบอกว่าไม่ต้องจ่าย จะทำไง ถ้าเป็นตัวเงิน รัฐยังอาจชดใช้เป็นเงินต้นบวกดอกเบี้ย แต่หลายอย่างชดใช้ไม่ได้ รวมทั้งกรณีที่เขาทำธุรกิจ ถูกยึดอายัด ประกอบธุรกิจไม่ได้ ก็เกิดความเสียหาย ที่ต่อมาภายหลัง เมื่อคดีถึงที่สุด ไม่อาจชดเชยได้
แต่คดีนี้ ศาลกลับไม่วินิจฉัยว่า ให้ทุเลา หรือไม่ให้ทุเลา กลับไปโน่นเลย บอกว่า "คำสั่งทางปกครอง" ที่บังคับให้จ่าย ถ้าไม่จ่ายจะยึด นั้นยังไม่ใช่ "มาตรการบังคับ" ฉะนั้น ศาลไม่มีอำนาจ ???
ที่มา FB
Atukkit Sawangsuk
ทายท้าวิชามาร
ที่มา ข่าวหุ้น
2017-02-15
ใบตองแห้ง
เมื่อวันอังคาร ฟังวิทยุรายการข่าวเศรษฐกิจ พูดถึงคดีกระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่งให้บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายขายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้านบาท แต่ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลา ฟังแล้วรู้สึก “ปวดตับ” ว่านักข่าวไม่เข้าใจประเด็นกฎหมายที่ตัวเองกำลังทำข่าวเลย
เช่นใช้คำพูดผิดว่า “ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาคำสั่งศาลปกครองยึดทรัพย์” (ที่จริงคือคำสั่งทางปกครอง) แต่กลับอ้างความเห็นนักกฎหมายที่ไหนไม่ทราบว่าอันที่จริงพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาอีกนาน บุญทรงกับพวกไม่น่ายื่นคำร้องขอทุเลา กลายเป็นเร่งให้รีบยึดทรัพย์
ไม่ยื่นแล้วจะทำไงล่ะครับ เมื่อกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือบังคับ เป็นคำสั่งทางปกครอง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ชดใช้ 2 หมื่นล้าน โดยให้ตอบรับหรือโต้แย้งใน 30 วัน หากเพิกเฉยจะส่งหนังสือเตือนรอบ 2 ต้องตอบกลับใน 15 วัน หากเพิกเฉยอีกจะส่งเรื่องให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์
นี่เป็นคำสั่งชัดเจน ประสาชาวบ้านยังฟังออกว่า “บังคับให้จ่าย” ไม่จ่ายจะยึด ฉะนั้นบุญทรงกับพวกก็ต้องไปฟ้องศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พร้อมกับขอทุเลาการบังคับ
เข้าใจตรงกันนะครับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลอาญาในคดีทุจริต แต่เมื่อเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจใช้อำนาจโดยพลการหรือกลั่นแกล้งกันได้ กฎหมายจึงให้ศาลปกครองตรวจสอบตัดสินอีกชั้น โดยให้ผู้ถูกเรียกค่าเสียหายฟ้องค้าน เช่นคดีนี้บุญทรงฟ้องนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้แทน
ในขณะเดียวกัน ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาคำสั่งบังคับ ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้บุญทรงกับพวกถูกสื่อกระหน่ำจนสังคมเชื่อว่าโกงก็ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม รอฟังคำพิพากษาโดยเปิดใจกว้าง ศาลอาจตัดสินว่าไม่ต้องจ่าย จ่ายเต็ม หรือจ่ายบางส่วน หรือจ่ายบางคนเป็นไปได้ทั้งนั้น
ในการยื่นคำขอทุเลา ผู้ฟ้องคดีก็จะอ้างเงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น คำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหากยึดไปก่อน แล้วศาลพิพากษาอีกอย่าง จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง (เช่น ยึดกิจการจนธุรกิจเสียหาย ยึดบ้านที่ดินมรดกขายทอดตลาด เป็นมูลค่าที่ไม่อาจชดใช้ภายหลัง)
กระนั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำสั่งยกคำร้องขอทุเลาครั้งนี้ ศาลยังไม่ได้บอกว่าให้ทุเลาหรือไม่ให้ทุเลาเลยนะครับ แต่ศาลกลับบอกว่า “ศาล (ยัง) ไม่มีอำนาจ” เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง
ตรงนี้ต่างหากที่นักกฎหมายควรงง กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งบังคับ แต่ศาลบอกว่ายังไม่ใช้มาตรการบังคับ รัฐมีคำสั่งทางปกครองแล้ว แต่ศาลบอกว่ายังไม่มีมาตรการ
การที่ศาลสั่งเช่นนี้ แปลว่าถ้ามีมาตรการเมื่อไหร่ ค่อยไปยื่นขอทุเลาใหม่ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น ต้องรอถึงเมื่อไหร่จึงจะถือว่ามีมาตรการบังคับ กรมการค้าต่างประเทศทำหนังสือถึงกรมบังคับคดี ถือว่ามีมาตรการแล้วหรือไม่ รอให้กรมบังคับคดีทำหนังสือถึงศาลจึงค่อยร้องขอทุเลาหรือขั้นตอนไหนแน่ ที่ศาลจะถือว่ามีมาตรการบังคับ หรือต้องยื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าศาลจะชี้ขาดว่ารับไม่รับ
เหล่านี้เป็นคำถาม ที่ต้องรอดูว่าศาลจะวางบรรทัดฐานอย่างไร
ooo
ดิฉันไม่เข้าใจว่านักกฎหมายใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและไว้วางใจจะใช้ความคิดของตนเองในการให้ข่าวเรื่องการจะยึดทรัพย์สินของดิฉัน โดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ทั้งๆที่รู้ว่าดิฉันได้นำคดีไปอยู่ในระหว่างการขอทุเลาคำสั่งและรอผลการพิจารณาจากทางศาลปกครอง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับดิฉันวันนี้ ท่านกลับไม่ได้คำนึงถึงหลักความยุติธรรมใดๆทั้งสิ้น ไม่ได้คำนึงว่า ศาลกำลังจะพิจารณาการร้องขอของดิฉันอยู่แม้แต่น้อย แต่กลับให้ข่าวว่า พร้อมที่จะยึดทรัพย์ดิฉันทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากศาลในเรื่องการขอทุเลาคำสั่งการทางปกครอง และหากศาลมีการทุเลาการบังคับคดีค่อยหยุดกระบวนยึดทรัพย์ แต่ทรัพย์ที่ยึดไปก่อนหน้านั้นก็จะไม่คืน
ดิฉันจึงอยากจะถามอีกครั้งว่านี่หรือนักกฎหมายของรัฐที่เพียรพูดว่าจะคำนึงถึงความยุติธรรมและเป็นกลางกับทุกฝ่าย แล้วอย่างนี้จะหวังให้ผู้เป็นรัฐบาลยุติธรรมกับผู้อื่นในยามบ้านเมืองต้องการเห็นการปรองดองแบบนี้เหรอคะ ขอตั้งคำถามไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
15 ก.พ. 2560
ที่มา FB
Yingluck Shinawatra