วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 17, 2560

อัปยศ! วันที่ผู้นำประเทศไทยเลือกเดินหน้าถ่านหิน





อัปยศ! วันที่ผู้นำประเทศไทยเลือกเดินหน้าถ่านหิน

โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 17, 2560
ที่มา Greenpeace.org

หลังจากชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาชนขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มาเป็นเวลากว่า 3 ปี ในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนที่มารอฟัง ซึ่งไม่เห็นด้วยและกังวลต่อผลกระทบของโครงการ

“เราไม่ได้ประท้วงอย่างไร้เหตุผล เราเป็นประชาชน เราอยากให้นายกฯฟังเสียงเรา”


นี่คือเสียงหนึ่งของประชาชนที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งเปล่งเสียงขึ้นมาหลังจากที่ทราบผลการตัดสินของนายกฯ เมื่อ 12.20 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ทางกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจากเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และประชาชนจากทุกภาคส่วนที่ออกมาคัดค้านถ่านหิน ได้รวมตัวกันต่อเนื่องที่บริเวณหน้าประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาล โดยมีการกดดันให้เครือข่ายออกจากพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความพยายามจับตัวคุณประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

พลังงานหมุนเวียนเหลือเฟือจนต้องเผาทิ้ง ทางเดินที่ถูกทางแต่ไม่ถูกเลือก

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ ได้เผยข้อมูลถึงประสิทธิภาพพลังงานหมุนเวียนของกระบี่ว่า

“42 เมกะวัตต์ และมีศักยภาพทำได้เพิ่มอีก 271 เมกะวัตต์ เมื่อดูว่า กระบี่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 150 เมกะวัตต์ นอกจากจะเพียงพอแล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้จังหวัดอื่นในภาคใต้ได้อีก การนำน้ำเสียและเศษปาล์ม มาผลิตไฟฟ้า จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน้อย 5,000 ล้านบาทต่อปี หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกระบี่ทุกๆ ปี หากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเดินเครื่องเมื่อใด ก็จะมีน้ำเสียและเศษปาล์มมาผลิตไฟฟ้าได้เสมอ ซึ่งนอกจากจะได้ไฟฟ้าที่มั่นคงแล้ว ยังบำบัดน้ำเสีย ลดมลพิษ ลดโลกร้อน และได้ปุ๋ยอินทรีย์ด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินของกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องนำเข้าถ่านหินทุกๆ วัน ปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่จะเป็นรายได้เพิ่มขึ้นของเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ ซึ่งก็มีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของไทยไม่กี่บริษัท … แต่ กฟภ. ปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานปาล์มมาตั้งแต่ปี 2558 บางโรงจึงต้องเผาพลังงานหมุนเวียนทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย” ซึ่งจากการรายงานของไทยพีบีเอสระบุว่ามากถึงปีละ 2,425 ล้านบาท ในเมื่อพลังงานหมุนเวียนในกระบี่มีศักยภาพเพียงพอ และยังไม่รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แล้วทำไมถึงไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านนี้





เสียงเล็ก ๆ จากประชาชนผู้คัดค้านถ่านหิน

ทำไมถึงไม่เอาถ่านหิน? ลองหันมาฟังเสียงเล็ก ๆ จากประชาชนธรรมดา ที่ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่ผู้นำเครือข่าย ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ผู้กังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และวิถีชีวิตของคนไทย

“คนอาจจะลืมไปว่าเชียงใหม่ติดกับลำปาง 20 กว่าปีมาแล้วที่คนลำปางได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คนที่ตายก็ตายไป นี่คือตัวอย่างที่เราเห็นว่าแย่มาก สิ่งแวดเล้อมที่เสียไปไม่มีทางฟื้นฟู นายทุนทิ้งความฉิบหายให้คนไทย แต่รัฐก็ไม่เหลียวแล เรามีสิทธิเรียกร้องสิ่งไม่เป็นธรรมกับเรา ไม่อยากเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องจังหวัดอื่น ของที่เป็นอันตรายไม่ใช่อยู่เพียงแค่ปีสองปี ต้องดูระยะยาว นายกฯต้องฟังคนในพื้นที่ เขารู้ว่าอะไรดีไม่ดี เห็นแก่ประชาชน ไม่ดีต้องบอกตรงๆ ให้ประชาชนตัดสินใจ เพราะลูกหลานเราก็จะได้รับผลกระทบ” -- คุณนิตยาพร สุวรรณชิน จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

“ทรัพยากรเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศที่ต้องปกป้อง กระบี่เป็นจังหวัดสำคัญทางการท่องเที่ยว อาหารทะเล ถ่านหินส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ทำไมยังดันทุรังสร้าง ในเมื่อมีทางเลือกตั้งเยอะ แต่คุณเลือกใช้พลังงานสกปรก นี่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศที่จะร่วมกันปกป้อง เรามีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นหลัก ที่ผ่านมาเรากินอาหารที่มาจากประมงพื้นบ้าน คนจนถึงออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ เพราะเป็นเรื่องที่คนในสังคมจะมารับผิดชอบกัน แม้แต่รัฐเองก็ควรออกมาปกป้องไม่ใช่ทำลาย” -- นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค

“นายกฯเป็นคนตะบัดสัตย์ ตั้งแต่กรรมการไตรภาคี ตั้งแต่การสั่งชะลอครั้งที่สอง การทรยศของนายกจะทำให้ประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น” -- นางจันประไพ โสมปาน จากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่





“ตลอดสามปีที่ผ่านมาเราได้ใช้ทุกวิธีการพิสูจน์ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดไม่มีจริง ... เราขอประกาศว่า ถ้ารัฐบาลไม่ประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจะไม่กลับ รายได้จากการท่องเที่ยวอันดามันจำนวนสี่แสนล้านในแต่ละปีจะต้องถูกทำลายลงโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐบาล เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นการไม่ใยดีต่อประชาชนเลยทั้งสิ้น ทุกพื้นที่ในประเทศไทย หลังจากนี้เป็นต้นไปไม่มีใครรอดจากกลุ่มทุน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำเป็นต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าสองแสนล้าน ทั้งหมดนี้คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบ เราใช้แพงขนาดนี้เพราะการผลิดไฟฟ้าเกินกว่า 10,000 เมกะวัตต์ มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้การไฟฟ้าไม่ได้จ่าย แต่เป็นประชาชนจ่าย .. เรายอมแล้ว.. เราไม่หนีไปไหน ให้โลกได้รู้ว่าพลเอกประยุทธ์กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราปล่อยให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปจะหมายความว่า หลังจากนี้ทรัพยากรของชาติจะถูกย่ำยีไม่จบไม่สิ้น” ประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวเบื้องหน้าทำเนียบรัฐบาล

การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของพลังงานไทย และผิดคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับนานาชาติในการะประชุมความตกลงปารีส (COP21) โดยรัฐบาลกลับเลือกถ่านหิน แทนที่จะก้าวหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และสร้างความขัดแย้ง ไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำให้ถ่านหินสะอาดได้อย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สายที่นายกรัฐมนตรี และผู้กำหนดนโยบายของประเทศ จะหันมาตัดสินใจอย่างถูกต้อง เลือกพลังงานหมุนเวียนที่กระบี่และประเทศไทยมีศักยภาพพร้อม ยุติความขัดแย้ง และก้าวมาเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนที่โลกยอมรับต่อไป