วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 03, 2560

นายกฯ วางโรดแม็ปปรองดอง ส่งไม้ต่อ รบ.หน้า ยัน จริงใจแก้ปัญหาทุจริต





นายกฯ วางโรดแม็ปปรองดอง ส่งไม้ต่อ รบ.หน้า ยัน จริงใจแก้ปัญหาทุจริต


3 ก.พ. 2560
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

นายกฯ แจงงาน ป.ย.ป.เพิ่มจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน เร่งขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์-ปฏิรูป-ปรองดอง" วางโรดแม็ปส่งงานต่อรัฐบาลหน้า พร้อมย้ำงานปรองดองไม่ใช่แค่แก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง มีสำนักงาน "พีเอ็มดียู" เร่งรัดติดตามงาน ยันมุ่งมั่นจริงใจแก้ปัญหาทุจริต เผยเร่งแก้ไขหลายเรื่อง

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า การสร้างเมืองเริ่มจากอิฐทีละก้อน การไปให้ถึงจุดหมายไม่ใช่การก้าวเดินให้ไวจนเสียการทรงตัว แต่อยู่ที่การไม่หยุดเดิน ใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กัน เพื่อการเดินที่ปลอดภัย ไม่ตกหลุม หรือสะดุดสิ่งกีดขวาง รัฐบาลจึงมีการเพิ่มศักยภาพ "จุดแข็ง" และแก้ไข "จุดอ่อน" ทบทวนในทุกขั้นตอนการทำงานทบทวนอยู่เสมอ 

เพราะเข้าใจว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาของประเทศ ยังอาจไม่สามารถแก้ไขจบสิ้นไปภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่า แต่เราก็ไม่อาจจะรั้งรอหรือละเลยได้ ปัจจุบันการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นั้น ตนถือว่า เป็นการปรับกระบวนการทำงานของรัฐบาล ร่วมกับแม่น้ำทุกสายเพื่อให้เป็นผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านขั้นตอน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อให้ 4 งานหลัก ได้แก่ 

1. การบริหารราชการ 
2. การปฏิรูป 
3. ยุทธศาสตร์ชาติ และ 
4. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สามารถเดินหน้าไปได้ และสามารถส่งต่อรัฐบาลต่อไปได้ 

สิ่งที่รัฐบาล และ คสช.ได้ดำเนินการไปแล้วมีอยู่มากมาย ทั้งที่ทำเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ กำลังเริ่มดำเนินการจัดระบบ ระเบียบ เพื่อเร่งรัดดำเนินการพร้อมกำหนดความสำคัญเร่งด่วน ขับเคลื่อนด้วยกลไกใหม่ที่สร้างความสอดคล้องบูรณาการ และติดตามประเมินผลได้ "ในทุกระดับ" อันประกอบด้วย

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ จะขับเคลื่อนงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการและขับเคลื่อนไว้อยู่แล้ว โดย กขป. 6 คณะ ที่เรียกว่าคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินทั้งงานฟังก์ชั่น Function และงาน Agenda ภารกิจแผนปฏิบัติการ ก็คืองานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบ และก็งานที่เป็นงานนโยบาย งานเร่งด่วน เพือให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว และสอดคล้องกัน "ทุกมิติ" 

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เป็นการนำวาระปฏิรูป "ทั้งหมด" ทั้งที่มาจากรัฐบาล คสช. สปท. สนช.และ กขป.มากกว่า 200 เรื่อง ซึ่งบางส่วนได้คิดและทำไปแล้วมาจัดกลุ่ม และกำหนดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยขั้นต้นในปี 60 นี้ มีทั้งหมด 27 วาระปฏิรูปที่สำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการ ส่วนวาระปฏิรูปที่เหลือนั้นก็ต้องจัดลำดับ และดำเนินการตามความสำคัญเร่งด่วน โดยเริ่มดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อพร้อมส่งมอบให้กับรัฐบาลใหม่ต่อไป โดยจัดทำโรดแม็ปการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้การส่งมอบ ผลการปฏิรูปสู่พี่น้องประชาชน มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น 

3. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีการแบ่งกลุ่ม เพื่อการพูดคุย ทั้งกลุ่มการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐกิจและสังคม ประชาสังคม การต่างประเทศ และสื่อมวลชน เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ตกผลึกในมุมมองของแต่ละกลุ่ม ที่พูดจาภาษาเดียวกัน ทั้งนี้ ก่อนที่จะนำทุกข้อเสนอจากการระดมสมองมาพิจารณาแบบบูรณาการกันในคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านั้น มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป ขอให้เข้าใจตรงกันว่าการปรองดองนั้น มิใช่เฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ภาครัฐและภาคประชาชน ยังเข้าใจไม่ตรงกัน จึงไม่เกิดความร่วมมือ จะส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม และประเทศชาติ อาทิ เรื่องพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น และเพื่อให้การขับเคลื่อนและติดตามการทำงาน ตามนโยบายของนายกฯ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยังกำหนดให้มีสำนักงานบริหารนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ (พีเอ็มดียู) ทำหน้าที่เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และถ่ายทอดนโยบาย คำสั่งการของนายกฯ ลงไปยังหน่วยงานระดับปฏิบัติอีกด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า รัฐบาลก็จะเร่งแก้ไขปัญหาในอีกหลายเรื่อง ทั้งวิธีการ กระบวนการ การทำกฎหมาย ให้สอดคล้องกับปัจจุบันและสากล ทั้งนี้ รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นและจริงใจ ที่จะพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ จึงขอให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนร่วมมือกัน.