สิทธิในการรับรู้ความจริง (Right
to the Truth)
ชำนาญ จันทร์เรือง
“ก็ดีนะถ้าพวกเขาจะบอกความจริงแก่เราเดี๋ยวนี้
แล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง” (“It’s okay if they give us
truth now, then the other things will follow.”)
คำกล่าวของภรรยาผู้ที่สูญหายชาวเนปาล
Wife
of disappeared man, Nepal
การค้นหาความจริงเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบที่สำคัญของ
“ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional
Justice)” ซึ่งประกอบไปด้วย การค้นหาความจริง (Truth
Seeking), การชดเชยเยียวยา (Reparations), การสอบสวนดำเนินคดี (Prosecutions) และการปฏิรูปสถาบัน
(Institutional Reform)
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการค้นหาความจริงเป็นบันไดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สิ่งอื่นๆต่อไป
เพราะสิทธิที่จะได้รู้ความจริงนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี
สิทธิในการรับรู้ความจริง หรือ
Right to the Truth นี้ คณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่
1 ตุลาคม 2009 (2552) โดยมีมติเน้นถึงความสำคัญสำหรับชุมชนนานาชาติที่จะรับรองสิทธิของเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และสิทธิของครอบครัวของเขาเหล่านั้น และสังคมที่จะได้รู้ถึงการละเมิดนั้น
และเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกันที่รัฐจะต้องจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะได้รู้ความจริง
สิทธิในการรับรู้ความจริงสำคัญอย่างไร
การรับรู้ความจริงเป็นสิทธิที่ครอบครัวผู้เสียหายจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับครอบครัวของเขา
และที่สำคัญที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และวางเเนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เเบบเดียวกันขึ้นอีก
(never again) อีกทั้งยังเป็นสิทธิที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์
จุดเริ่มต้น
สิทธิในการรับรู้ความจริงนี้เริ่มมาจากลาตินอเมริกา
ที่เรียกร้องเพื่อให้ได้รับสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริงกับเรื่องที่เกิดขึ้น
โดยมีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ มีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ
สืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของสมาชิกในครอบครัวตนเอง ต่อมาได้นำสิ่งที่ได้รับนั้นไปเสนอต่อองค์การสหประชาชาติที่เจนีวา
จนมีมติดังกล่าวออกมา
สิทธิที่จะได้รับรู้อะไร
ส่วนมากเมื่อเหยื่อเข้ามาขอความช่วยเหลือ อันดับแรกเลยคือการอยากรู้ว่าใครคือคนทำผิด
จะสามารถดำเนินคดีได้ไหม สิ่งต่อไปที่ทำได้มีอะไรบ้าง
องค์ประกอบของสิทธิในการรับรู้ความจริง
1)เป็นสิทธิที่ไม่สามารถยกเลิกได้ ห้ามไม่ให้มีข้อจำกัดสิทธิที่จะได้รับรู้
เช่น เเม้จะมีการยกเว้นการลงโทษให้ผู้ที่กระทำความผิด แต่ไม่สามารถนำมาเป็นข้อจำกัดสิทธิของผู้เสียหายหรือครอบครัวผู้เสียหายที่จะได้รับรู้ความจริง
รวมทั้งการยอมที่จะชำระเสียค่าเสียหายให้ผู้เสียหายแล้วก็ตาม ย่อมไม่จำกัดสิทธิของผู้เสียหายหรือครอบครัวที่จะดำเนินคดีเช่นกัน
2) ทุกกลุ่มในสังคมมีสิทธิที่จะได้รับรู้ การละเมิดสิทธิของประชาชนเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ทุกคนมีสิทธิจะได้รับรู้
ดังนั้น รัฐมีหน้าที่ที่จะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ รวมถึงบันทึก รูปภาพ วัตถุ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องจดจำและบันทึกเรื่องราวการละเมิดนั้นไว้ด้วย
การดำเนินการเพื่อให้ได้รับรู้ความจริง
การค้นหาความจริงเกิดขึ้นได้โดยหลายวิธี โดยอาจมีการจัดการอย่างเป็นทางการโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้นำในการค้นหาความจริง,
กสม.หรือ
คณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อค้นหาความจริงในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ
โดยมีการรวมผู้มีความรู้หลายฝ่ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการค้นหาความจริงนั้น
หรือโดยการค้นหาความจริงอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การรวบรวมข้อมูลจากภาคประชาสังคม
เป็นต้น
เหตุใดจึงไม่ให้ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงแต่เพียงองค์กรเดียว
เนื่องจากการดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากจะมีภาระมากในการสืบสวนสอบสวนแล้ว
บางครั้งยังใช้เวลาที่นานเกินไป และหลายครั้งที่คดีอาญาไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการที่จะได้รับรู้ความจริงได้
การสอบสวนข้อเท็จจริง การเก็บข้อเท็จจริง
โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คณะสืบสวนสอบสวนพิเศษ เช่น ในประเทศซูดานได้มีการการตั้งคณะทำงานเพื่อค้นหาความจริงโดยมีสมาชิกจากหลายฝ่าย
เช่น ทหาร ชาวบ้าน นักวิชาการจากต่างประเทศ เป็นต้น
ในด้านตัวบุคคลก็อาจมีการรวมบุคคลที่เป็นนักวิจัย นักคิด นักเขียน
นักค้นคว้าที่เป็นอิสระ
กอปรกับศาลนั้นมีข้อจำกัดในการรับรู้ความจริงเพียงเท่าที่มีการนำมาในคดีเท่านั้น
จึงเป็นการจำกัดสิทธิที่จะได้รับรู้ไปโดยปริยาย และศาลมีหน้าที่เพียงเพื่อพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่นำมานั้นครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่เท่านั้น
ส่วนคณะกรรมการค้นหาความจริงตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนเรื่องราวสำคัญ
โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นข้อโต้แย้งเพื่อจัดการให้ได้ความจริงมา แล้วนำมาประกอบในการทำความเห็นหรือออกนโยบาย
ประเด็นสำคัญที่สุดต้องการยุติเรื่องเพื่อให้คำตอบกับสังคม
ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้มีการดำเนินคดี แต่จะมีการระบุตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
เพื่อที่จะบันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ละเมิดนั้้นมีใครบ้าง เเละอาจเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในอนาคต
ฉะนั้น
การที่รัฐไทยพยายามที่จะดำเนินการปรองดองทั้งในปัญหาระดับชาติ โดยตั้งคณะกรรมการ
ปยป. (เป็นชื่อย่อที่ยาวมากจนผมเชื่อว่าไม่มีใครจำได้ถ้าไม่อ่านจากที่จดหรือบันทึกไว้)
หรือการพยายามแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการจัดตั้งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ครม.ส่วนหน้าขึ้นมา
แต่ไม่มีการดำเนินการค้นหาความจริงหรือให้ความจริงแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหลาย
ย่อมไม่อาจที่ประสบผลสำเร็จที่แท้จริงได้
กระบวนการ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
(Transitional Justice)” ที่ให้ความสำคัญต่อการแสวงหาความจริง
(Truth Seeking) เป็นอันดับแรกนี้
ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ได้ผลมาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นที่อาฟริกาใต้, รวันดา,
กัวเตมาลา, โมรอกโค, ติมอร์ เลสเต, โซโลมอนไอร์แลนด์, กัมพูชา, บังคลาเทศ, กรีนสโบโร
คาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา, อาเจะห์ อินโดนีเซีย, บังสาโมโร ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
นั้นสมควรที่รัฐไทยจะนำมาศึกษาแล้วนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
การเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
ย่อมดีกว่าที่เราจะมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือสักแต่ว่าทำๆ พอเป็นพิธี ‘แก้ผ้าเอาหน้ารอด’ ไปวันๆ
หากเป็นเช่นนั้นก็นับว่าเป็นเคราะห์กรรมของคนไทยโดยแท้
-------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15
กุมภาพันธ์ 2560