วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 13, 2560

ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ เตือน นายพลเรือแฮรี่ ระวัง! คสช.ฉวยโอกาสโฆษณา รัฐบาลทรั้มพ์ไม่ใส่ใจเรื่องความเป็นประชาธิปไตยของไทย ในการเข้าร่วมโคบร้าโกลด์





พลันเมื่อพรรคการเมืองที่ในยุคก่อนเผด็จการ คสช. ซึ่งไม่ค่อยได้ชนะเลือกตั้งเท่าไหร่ ออกมาสนับสนุนแนวทางของ คสช. ในการขจัดสินบน โดยเรียกแม่น้ำทั้งสี่ซ้าห้าสาย (ปปช. สตง. ปปง. และดีเอสไอ) มาประชุมหาหนทางปรองดอง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า “เห็นด้วยที่มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดใช้อำนาจผ่าน พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ประสานขอข้อมูลกับผู้ประสานงานกลางของสหรัฐ-อเมริกาและอังกฤษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสืบสวนคดี และเป็นข้อมูลที่เป็นทางการสามารถใช้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทันที”

(http://www.thairath.co.th/content/857361)

ก็มีอดีต ปปช. ติดใจคดีบริษัทสุราในอเมริกาให้สินบนเจ้าหน้าที่ไทย บอกว่าเรื่องแดงมา ๕-๖ ปีแล้ว ไหงคดียังค้างเติ่ง

“ไม่ทราบว่าติดขัดประการใด ซึ่งหากผมยังมีหน้าที่อยู่ก็แน่ใจว่าเรื่องจะไม่ช้าเช่นนี้ ข้อมูลที่ผมไปประสานมาจากอัยการของสหรัฐฯ มีระบุชื่อทั้งหมดว่าใครรับสินบนบ้าง” นายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเกิดความข้องใจ

(http://www.thairath.co.th/content/857470)

ว่าแต่ คสช. ซึ่งกุมอำนาจทั้งประเทศอยู่ขณะนี้มีหรือจะใส่ใจ ที่สนใจสุดๆ ตอนนี้เห็นจะเป็นเรื่อง ‘วาเล็นไทน์’ วันแห่งความรักที่พวกทหารกำลังพยายามจับพรรคการเมืองมาฮั้วกัน ก่อนเลือกตั้งกลางปี ๖๑ ให้เห็นว่าประเทศมีความปรองดอง ตามพระราชประสงค์ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

ถึงได้ให้ปลัดกลาโหมเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกพรรคการเมืองต่างๆ ไปคุย เวลานี้มีสามพรรคแล้วที่เข้าไปคุย หวังใหม่ เครือข่ายชาวนา และคนธรรมดา (ชื่อพรรคทั้งนั้นนะ อย่าสับสน) หลังวาเล็นไทน์จะมีพรรคชาติพัฒนาอีกราย

ข่าวว้อยซ์บอกว่า “ด้วยบรรยากาศเดือนแห่งความรัก” http://news.voicetv.co.th/thailand/461322.html





อีกความสำคัญวันวาเล็นไทน์ ๑๔ ก.พ.นี้ อยู่ที่จะมีการซ้อมรบ ‘โคบร้าโกลด์’ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ทำท่าไม่แน่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีสหรัฐ แล้วอเมริกายกเลิกการซ้อมรบร่วมกับประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนก่อน

ของไทยครานี้มีกำลังพลเข้าร่วมโคบร้าโกลด์เกิน ๔ พันคน ขณะที่สหรัฐมีกว่า ๓ พัน ๕ ร้อย มากกว่าครั้งที่แล้วเล็กน้อย ทำให้สื่อไทยที่สนับสนุน คสช. อย่าง ‘ไทยโพสต์’ ตีความไว้ก่อนว่า

“เป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการปกครองที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ได้ส่งผลให้การแสดงออกทางบวกของสหรัฐถูกกฎหมายค้ำคอเสมอไป”

(http://www.thaipost.net/?q=9B)

ไม่ว่าการตีความโดยไทยโพสต์จะอ้าง ‘นักวิเคราะห์ทางทหาร’ ว่าดูท่ารัฐบาลทรั้มพ์ไม่ใส่ใจเรื่องความเป็นประชาธิปไตยของไทย และน่าจะมองที่ตลาดการค้าอาวุธมากกว่า

แต่ประเด็นที่ฝ่ายการทหารสหรัฐต้องการแสดงแสนยานุภาพและกระชับความมั่นคงของตนในภูมิภาค รัฐบาลทรั้มพ์จึงได้ส่งนายพลเรือ แฮรี่ แฮริส นายทหารระดับสูงสุดของสหรัฐสำหรับภาคพื้นแปซิฟิคไปร่วม

อันเป็นผลให้องค์การ ‘ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์’ เขียนบทความทักท้วง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ออนไลน์เมื่อวานนี้ (๑๒ ก.พ.)

นายจอห์น ซิปตัน ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียของ HRW ระบุว่า “มีการเปลี่ยนแปลงโดยนัยยะสำคัญ แต่ก็น่าเป็นห่วง ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง”

(https://www.washingtonpost.com/…/is-the-trump-administrat…/…)

“เจ้าหน้าที่ไทยพยายามที่จะอ้างการไปร่วมของแฮริสว่า เป็นสัญญานที่สหรัฐยอมรับการครองอำนาจโดยไม่มีที่สิ้นสุดของ คสช.”

ถึงอย่างนั้นนายซิปตันให้ข้อคิดด้วยว่า ขณะที่การส่งนายพลเรือแฮรี่ไปเป็นคนสำคัญของการซ้อมรบ อาจถูกรัฐบาล คสช.เอาไปใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเชิดชูตนเองได้





“หากแต่นายพลเรือแฮริส สามารถผ่อนปรนความเสียหาย (จากการที่ถูก คสช. ฉวยโอกาส) ด้วยการยกประเด็นที่สหรัฐเป็นห่วงขึ้นมาเสนอต่อฝ่ายไทยอย่างแน่วแน่

ด้วยชื่อเสียง (ของแฮริส) ว่าเป็นคนตรง มักพูดยืนยันหลักการอย่างไม่ย่นย่อ แฮริสควรที่จะใช้โอกาสนี้พูดกับ คสช.ถึงเรื่องการทรมาน การข่มเหง การใช้กฎหมายรุนแรงลดทอนอิสรภาพ จำคุกคนที่เห็นต่าง การกดขี่สื่อและสังคมอารยะ”

ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ยังได้เสนอให้นายพลแฮริสแสดงต่อ คสช. ให้เห็นว่าต่อต้านการมีประชาธิปไตยครึ่งใบ “เขาต้องทำให้เห็นชัดทั้งในที่สาธารณธและส่วนตัวเลยทีเดียวว่า

ถ้าหากนโยบายกดขี่ของ คสช. ยังดำเนินต่อไป และประชาชนถูกปฏิเสธสิทธิรื้อฟื้นการปกครองโดยพลเรือนกลับคืนมาละก็ สหรัฐจะไม่ยอมให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ไทย”

แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐ (โดยเฉพาะรัฐบาลทรั้มพ์) ไม่มีความจำเป็นจะต้องฟังเสียงขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ แต่การที่องค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ มักมีผลต่อการที่รัฐบาลนำข้อคิดไปชั่งน้ำหนักพิจารณาเสมอ

ประจวบกับก่อนหน้านายดอแนลด์ ทรั้มพ์จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐแสดงแจ้งชัดแล้วว่า ไม่ได้เป็นปลื้มกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในประเทศไทยเท่าไรนัก

ไม่ว่านายทรั้มพ์จะห่ามห้าวในการดำเนินนโยบายของตนเพียงไร สำหรับกิจการต่างประเทศมีปัจจัยมากมายอันเป็นข้อจำกัด ไม่ให้ประธานาธิบดีและ/หรือรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ หักหาญจัดการเปลี่ยนนโยบายอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ ได้ง่ายๆ

การจะยกเลิกข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยไว ย่อมเกิดได้ยากเช่นกัน