พลันที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
(Transparency
International -TI) ประกาศผลการจัดดัชนีคอร์รัปชัน (Corruption
Perception Index –CPI) ประจำปี 2559 ว่าไทยได้เพียง 35 จาก 100 คะแนน
จากเดิม 38 คะแนน และตกจากอันดับเดิมถึง 25 อันดับจากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย มีทั้งทับถมและแก้ตัวด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ซึ่งผมจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็น ดังนี้
1)องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติมีขั้นตอนและวิธีอย่างไรในการวัด
อันดับแรกคือการคัดเลือกแหล่งข้อมูล โดยแต่ละแหล่งข้อมูลที่จะถูกนำมาใช้ในการจัดทำดัชนี
CPI จะต้องผ่านข้อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ คือ
ระบุถึงภาพของการคอร์รัปชันในภาครัฐเป็นเชิงปริมาณได้ ตั้งอยู่บนระเบียบวิธีที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ มีการให้คะแนนและจัดอันดับหลายๆ ประเทศในมาตรวัดแบบเดียวกันจัดทำโดยสถาบันที่เชื่อถือได้และคาดว่าจะมีการจัดทำขึ้นซ้ำในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม และมีเกณฑ์ให้คะแนนที่หลากหลายมากพอที่จะแยกความแตกต่างของแต่ละประเทศได้
โดยดัชนี
CPI ของปี
2559 นี้ใช้แหล่งข้อมูล 13 แหล่ง จาก 12 สถาบันที่แตกต่างกันแล้วนำมาประเมินแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วยการใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ อาทิ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในมาตรวัด 0-100 โดย 0 เท่ากับมีภาพของการคอร์รัปชันสูงสุด ขณะที่ 100 คือมีภาพของการคอร์รัปชันต่ำสุด
หลังจากนั้นนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยและจัดทำเป็นรายงานโดยระบุถึงค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน
2)ใช้ข้อมูลรวมทั้งหมดที่ผ่านมาหรือเฉพาะปี 2559
คำตอบก็คือใช้เฉพาะปี 2559
3)เหตุใดคะแนนจึงลดลง
ในรายงานได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนนลดลง
เนื่องเพราะผู้ที่ต้องการตรวจสอบโครงการของรัฐหลายๆ โครงการถูกปิดกั้นเสรีภาพและถูกคุกคามอย่างหนัก ทำให้กลไกการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จนส่งผลให้ลดทอนประสิทธิภาพการตรวจสอบลงไปอย่างมาก
การตรวจตราหรือทักท้วงอย่างจริงจังทำไม่ได้เหมือนในสภาวะปกติ ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์มีมากขึ้น
หรือถ้ามีกรณีทุจริตแล้วเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ปปช., สตง. ฯลฯ ก็ไม่กล้าดำเนินการ
4)ควรตอบโต้หรือชี้แจงหรือไม่
การดำเนินการในลักษณะตอบโต้ที่ฝืนมาตรฐานสากลที่ประชาคมโลกใช้วัดจะไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด ควรยอมรับและมาหาวิธีแก้ไขว่าควรจะทำอย่างไรให้คะแนนเพิ่มขึ้น เพราะคะแนนที่ลดลงจะมีผลต่อการลงทุนและความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ
5)แสดงว่ารัฐบาลปัจจุบันมีการคอร์รัปชันมากกว่าในอดีตใช่หรือไม่
ไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงขนาดนั้น เพราะเป็นเพียง perception ซึ่งหมายถึงการรับรู้หรือความเห็นหรือภาพ(สำนักข่าวหลายๆ สำนักใช้คำว่าภาพลักษณ์ซึ่งผมเห็นว่าไม่ตรงทีเดียวนัก) ที่มีต่อการคอร์รัปชันของประเทศนั้นๆ แต่สามารถชี้ได้ว่าการปิดกั้นการตรวจสอบทำให้มีโอกาสในการคอร์รัปชันมากกว่าเดิม
โดยในความเชื่อของคนทั่วๆ ไปต่างเชื่อว่าทุกรัฐบาลและทุกยุคทุกสมัยมีการคอร์รัปชันกันทั้งนั้น
ดังเช่น
กรณีการจ่ายสินบนของบริษัทโรลรอยส์ของการบินไทยและ ปตท., การจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระ (CTX), จีที 200, เรือเหาะที่บินไม่ได้, การต่อสัญญาเช่าศูนย์ประชุมฯ, การทุจริตจำนำข้าว, การซื้อเครื่องบินกริปเพนที่แพงกว่าประเทศอื่น, การรับค่านายหน้ากรณีซื้อที่ดินของอดีตผู้ว่ากทม., ไมค์ทองคำ, การพบเงินสดเต็มกระเป๋าเดินทางของอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, กรณีพระเครื่องของอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์, การทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอและนายสิบตำรวจ ฯลฯ
6)แล้วจะทำอย่างไร
การทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ฝังรากมากับสันดานของมนุษย์ไม่ว่าชนชาติใด ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผมเคยไปที่ศาลาว่าการของรัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา ที่เมืองสปริงฟิลด์ เขาชี้ให้ดูรูปผู้ว่าการรัฐที่ติดฝาผนังแปดคนสุดท้ายแล้วบอกว่าสีคนถูกดำเนินคดีข้อหาทุจริต ฮ่องกงและสิงคโปร์ซึ่งมีเชื้อสายจีนที่มีธรรมเนียมการให้ค่าน้ำร้อนน้ำชาแต่ทำไมสถิติการคอร์รัปชันถึงน้อยมาก (แต่ก็มี) คำอธิบายง่ายๆก็คือเขามีระบบการป้องกันการทุจริตที่ทำได้ยาก เปิดเผย โปร่งใสและมีระบบตรวจสอบที่ดีทั้งจากหน่วยงานอิสระและภาคประชาชน มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเสมอหน้า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการนำคนผิดมาลงโทษ ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่าหากเรามีระบบการป้องกันและการตรวจสอบที่ดี โอกาสที่จะมีการทุจริตก็ทำได้ยาก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าระบบจะออกแบบไว้ดีขนาดไหนก็ย่อมมีช่องว่างเสมอ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง หากคนหรือบุคคลากรในสถาบัน เช่น ตุลาการ ครูบาอาจารย์ แพทย์ นักบวช ฯลฯ ที่คนไทยเรามักเชื่อว่าเป็นคนดีไม่น่ามีการทุจริต ที่แท้จริงนั้นก็ต้องดูด้วยว่าคนดีที่ว่านั้นมีโอกาสทุจริตหรือไม่ หากมีโอกาสแต่ไม่ยอมทุจริตนั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นคนดีจริง
ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติหรือรัฐประหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เหตุผลหลักที่ผู้เข้ายึดอำนาจมักอ้างอยู่เสมอก็คือการอ้างว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นและตนเองหรือคณะฯเข้ามาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนี้ โดยใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงจนถึงขั้นประหารชีวิต
ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเมืองของทั่วโลกเช่นกันก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้ผล ดังคำกล่าวของลอร์ดแอกตันที่ว่า “อำนาจมักทำให้ฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จก็ยิ่งฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงมักเป็นคนเลว” (Power tends to corrupt,
and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.)
ระบบเดียวที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพก็คือ ระบบที่ให้สิทธิให้เสียงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งระบบที่ว่านี้นี้ก็คือระบบประชาธิปไตยนั่นเอง
ส่วนจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็สุดแล้วแต่ประชาชนของประเทศนั้นๆ เป็นคนกำหนด หากให้ผู้อื่นมากำหนดก็จะเป็นอย่างที่เห็นๆ นี้แหละครับ
-------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560