วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 07, 2560

งบบัตรทอง ปี 61 จ่อถูกหั่นกว่า 1.3 หมื่นล้าน ‘หมอปิยะสกล’ เตรียมหารือ ‘นายกฯ’ แก้ปัญหาด่วน





งบบัตรทอง ปี 61 จ่อถูกหั่นกว่า 1.3 หมื่นล้าน ‘หมอปิยะสกล’ เตรียมหารือ ‘นายกฯ’ แก้ปัญหาด่วน


Tue, 2017-02-07
ที่มา hfocus

งบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ปี 61 จ่อถูกหั่นกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซ้ำยอดหักเงินเดือนขยับเพิ่ม บอร์ด สปสช.หวั่นกระทบบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เร่งประสานสำนักงบประมาณชี้แจง ด้าน “หมอปิยะสกล” เตรียมหารือนายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาด่วน พร้อมย้ำงบที่ได้รับปัจจุบันบริหารจัดการยากอยู่แล้ว ทั้งผู้สูงอายุเพิ่ม โรคภัยไข้เจ็บเพิ่ม

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทรรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการรายงานถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการจัดทำงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 สปสช.ได้นำเสนองบประมาณจำนวน 141,155.925 ล้านบาท ไม่รวมเงินเดือน โดยสำนักงบประมาณได้รายงานตัวเลขงบประมาณปี 2561 ต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่จำนวน 128,020.726 ล้านบาท ไม่รวมเงินเดือน แม้จะมากกว่างบประมาณปี 2560 จำนวน 4,554.98 ล้านบาท แต่น้อยกว่าตัวเลขที่ สปสช.นำเสนอของบประมาณ 13,135.1624 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีประเด็นสำคัญคือ การหักเงินเดือนในปี 2561 ยังมีสัดส่วนที่สูงกว่าปี 2560

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์นี้จึงรายงานให้บอร์ด สปสช.ทราบว่า จะส่งผลต่อการบริหารงบเหมาจ่ายในปี 2561 เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะลดลงและจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา ทั้งต่อหน่วยบริการและประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้นจึงต้องมีการประสานไปยังสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการขอปรับลดการหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐในปี 2561 ที่มากกว่าปี 2560 พอควร ซึ่งในปี 2560 จำนวนหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐอยู่ที่จำนวน 42,307.234 ล้านบาท ส่วนปี 2561 อยู่ที่จำนวน 43,828.28 ล้านบาท ขณะที่งบการบริหารจัดการของ สปสช.ในปี 2561 ได้ถูกปรับลดเช่นกัน จากที่เสนอจำนวน 1,853 ล้านบาท ถูกปรับลดลงอยู่ที่จำนวน 1,627.15 ล้านบาท

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้จะประสานกับฝ่ายบริหาร สปสช.เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้คงไม่น่ายอมรับได้ ซึ่งคงต้องปรึกษากับท่านนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งงบประมาณที่ได้รับในปัจจุบันก็บริหารจัดการได้ยากอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ สปสช.ส่งข้อมูลมาชัดเจนเพื่อที่จะได้นำเข้าหารือโดยเร็ว