วันเสาร์, มกราคม 07, 2560

ดร.โสภณ ยกหลักธรรมสอน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวัดไหนสอนให้จน ความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ใช่ผิดบาป ย้อน "นายกฯ ก็รวยล้นฟ้า"


ooo 

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าสอนให้รวย

นายกฯ ถามไม่เคยเห็นวัดไหนสอนให้คนรวยแบบธรรมกาย ดร.โสภณ ตอบ มีหลวงพ่อคูณและทุกวัดเลย ย้อนแล้วมีวัดไหนสอนให้จนไหม ความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ใช่ผิดบาป นายกฯ ก็รวยล้นฟ้า






โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย 


ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตถกเรื่องความมั่งคั่ง โดยมีสมติฐานว่า คนที่มั่งคั่งมักไม่โกง คนที่โกงมักขาดแคลน และขออนุญาตยกคำสอนของพระศาสดา รวมทั้งกิจของสงฆ์วัดต่าง ๆ ที่สอนให้คนรวย ไม่เป็นภาระแก่ใคร ความรวย (Wealth) ไม่ใช่บาปเคราะห์ แต่ก็เป็นสิ่งน่าละอายที่จะตายอย่างมั่งคั่ง





ตามข่าวเกี่ยวกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถามว่า ""บิ๊กตู่"หาเวลาเหมาะจับ"ธัมมี่"เฉ่งพระสอนให้คนรวยก็มีด้วย" (http://bit.ly/2hWmN1q, http://bit.ly/2hPvkOW, http://bit.ly/2j9QPLf หรือฟังเสียงนายกฯ ได้ที่ http://bit.ly/2hWzIvL) ประเด็นนี้:

1. แม้ว่านิพพานและการหลุดพ้นจะเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอน แต่สำหรับชีวิตปุถุชน พระองค์ก็สอนให้คนรวย ด้วยคาถา “หัวใจมหาเศรษฐี” หัวใจของคามหาเศรษฐีนี้มี 4 คำสั้น ๆ และสามารถท่องได้ง่ายว่า อุ อา กะ สะ ถือเป็นหลักธรรมที่จะอำนวยประโยชน์สุขในขั้นต้นให้คนทั่วไป หรือเรียกว่า ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือ ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ 1. อุฎฐานสัมปทา 2.อารักขสัมปทา 3. กัลป์ยาณมิตตตา และ 4. สมชีวิตา

1.1 อุ : อุฎฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือให้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ ขยันทำงานและประกอบอาชีพโดยสุจริต หมั่นฝึกฝนในวิชาชีพให้มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาในการจัดการงานให้เหมาะสมและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้เราก็จะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้น

1.2 อา : อารักขสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ คือต้องรู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์สินที่หามาได้ไม่ให้หมดไป รวมทั้งรักษาผลงานที่สร้างมาได้โดยชอบธรรม ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย รวมไปถึงการรักษาความรับผิดชอบต่อภาระการงานที่ได้มอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

1.3 กะ : กัลยาณมิตตตา หมายถึง การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร คือการมีมิตรที่ดีจะช่วยสนับสนุนและนำพาเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ทั้งในหน้าที่การงาน สร้างความสุข ความสบายใจในการใช้ชีวิต ในทางตรงข้าม มิตรที่ไม่ดี มิตรเทียม หรือมิตรปอกลอก ก็จะนำพาเราไปสู่อบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเสียทรัพย์ เสียงานเสียการ จนเสียสมดุลชีวิตไปในที่สุด

1.4 สะ : สมชีวิตา หมายถึง การเลี้ยงชีวิตให้พอดี คือรู้จักกำหนดการใช้จ่ายให้สมควรแก่ฐานะและสมดุลกับรายได้ รู้จักใช้ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยมากเกินไปจนต้องลำบากในอนาคต หรือไม่ฝืดเคืองจนสร้างความลำบกในปัจจุบัน จงดำเนินชีวิตโดยยึดทางสายกลางที่ไม่มากไปไม่น้อยไป แต่ต้องพอดี ซึ่งจุดสมดุลแห่งความพอดี อาจวัดได้จากความสุขที่อิ่มเอิบในใจ ไม่ใช่สิ่งบำเรอหรือวัตถุที่เป็น (http://bit.ly/2iHnF9h)

2. พระพุทธเจ้ายังสอนเรื่องปาปณิกธรรม 3 (ปาปณิกังคะ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า) — qualities of a successful shopkeeper or businessman) อันประกอบด้วย

2.1 จักขุมา ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ — shrewd)

2.2 วิธูโร จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า — capable of administering business)

2.3 นิสสยสัมปันโน พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย — having good credit rating) (http://bit.ly/2iOeLaJ)

3. การที่จะรวยนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักการให้ บุญกริยาวัตถุ 10 (http://bit.ly/2ja55nm) โดยประการแรกคือการทานมัย คือการทำบุญด้วยการให้ทานนั่นเอง ในการให้ทานนั้นยังมีเรื่อง "ชายเข็ญใจยินดีรับเลี้ยงภิกษุ" นามว่า "มหาทุคตะ" ที่แม้จะขัดสนก็ยังทำดีด้วยการเลี้ยงพระภิกษุ (http://bit.ly/2hWPeY9)

4. ที่ท่านนายกฯ อาจไม่เคยรู้เลยก็คือ มีเศรษฐีทำบุญจนหมดตัว "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" ที่ก่อสร้างพระอารามชื่อ "พระคันธกุฎี" โดยเสียเงินไป 27 โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก 27 โกฏิ เป็นค่าก่อสร้าง ให้เป็นที่ประทับของพระบรมศาสดาและพระสงฆ์ เสร็จแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมกับจัดพิธีฉลองพระอารามอย่างมโหฬารนานถึง 5-9 เดือน ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีตแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ และกราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันตลอดกาล. . .(กระทั่ง)ตนเองก็พลอยอดอยากลำบากไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญ ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถ จะจัดถวายอาหารอันประณีตมีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหา (www.84000.org/one/3/02.html)

5. พระสาวกของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระสงฆ์ทั้งหลายก็มักอวยชัยให้พรให้ "รวย ๆ เฮงๆ" กันทั้งนั้น เพราะอย่างน้อยก็เป็นเครื่องชะโลมใจให้กับสาธุชนที่ส่วนมากยากไร้















ที่มา: http://www.facebook.com/pg/dr.sopon4/photos/?tab=album&album_id=1125904190855499


6. สำหรับท่านเองก็สะสมความร่ำรวย และมีทรัพย์มาก (http://bit.ly/2jhd8mE) บุคคลทั่วไปเวลาอธิษฐานก็มักหวังให้ตนร่ำรวยเช่นท่านเช่นกัน




(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)








(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)


7. การโกงมักเกิดจากความจนเข้าทำนอง "ยิ่งจน ยิ่งโกง" แผนภูมิท้ายนี้ เป็นการสรุปให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของประเทศกับการโกงกิน โดยนำผลการสำรวจ พ.ศ.2548 ว่าด้วยดัชนีการโกงกิน (ตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งโกงมาก) มาวางไว้ในแกนนอน และรายได้ประชาชาติต่อหัว (per capita income in US$) ของประเทศทั่วโลกมาวางเป็นแกนตั้ง ผลการทดสอบค่าทางสถิติด้วยการวิเคราะห์พหูคูณถดถอย พบว่าตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน โดยมีค่า R-square อยู่ที่ 0.763189412 (ยิ่งใกล้ 1 ยิ่งน่าเชื่อถือ) ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ประเทศที่มั่งคั่งกว่า จะมีการโกงกินน้อยกว่าประเทศที่ยากจนกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่ยิ่งมีการโกงกินกันมาก ประชาชนยิ่งยากจน (ดูรายละเอียดและ download หนังสือได้ฟรีที่ http://bit.ly/1WDogCH)





ประเทศที่ยากจน มักมีการโกงกันมาก คนยากจนก็เช่นกัน มีโอกาสเป็นโจรมาก เราจึงต้องส่งเสริมให้คนมีฐานะพออยู่พอกิน จะได้ไม่เป็นโจร แต่คนจนมาก ๆ ที่ไม่โกงก็มีเช่นกัน แต่มีแนวโน้มวาหากเราจนมากก็จะมีโอกาสเป็นโจร ประกอบมิจฉาชีพมากกว่า ส่วนคนรวยที่ยังโกงก็มีเช่นกัน แต่เป็นข้อยกเว้น หรืออาจเป็นพวก "โรคจิต" แต่ภาพรวมที่เราไม่ควรปล่อยให้มีความยากจน ยากไร้ ก็เพื่อไม่ให้คนดิ้นรนไปในทางที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง

สุดท้ายนี้ขอมอบพุทธสุภาษิตต่อไปนี้แด่ท่านนายกฯ และทุกท่าน

โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ.
โภคทรัพย์ของผู้ครองเรือนดี ย่อมถึงความพอกพูน เหมือนจอมปลวกกำลังก่อขึ้น.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๒.

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺาตา วินฺทเต ธนํ.
คนมีธุระหมั่นทำการงานให้เหมาะเจาะ ย่อมหาทรัพย์ได้.
สํ. ส. ๑๕/๓๑๖. ขุ. สุ. ๒๕/๓๖๑.

อิติ วิสฺสฏฺกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว.
ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนหนุ่มผู้ทอดทิ้งการงาน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๙.

ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก.
ปราชญ์ได้โภคทรัพย์แล้ว ย่อมสงเคราะห์ญาติ.
ขุ. ชา. ฉกฺก. ๒๗/๒๐๕.

น นิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ.
ประโยชน์ย่อมไม่สำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยเบื่อหน่าย.
ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๓๓.

อนิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ.
ประโยชน์ย่อมสำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยไม่เบื่อหน่าย.
ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๓๓.

สิริ โภคานมาสโย.
ศรีเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์.
สํ. ส. ๑๕/๖๑.

ที่มา: www.trisarana.org/board_topic.php?id=44