วันพฤหัสบดี, มกราคม 19, 2560

'ปลูกป่า ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง' เมื่อเชียงใหม่จัดการตนเอง

เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม (CSE)

ชำนาญ จันทร์เรือง

อีกก้าวหนึ่งของคนเชียงใหม่ที่จะ จัดการตนเอง (self determination) ก็คือการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือในภาคภาษาอังกฤษว่า Chiang Mai Social Enterprise (ในบทความนี้ผมจะเรียกย่อๆว่า CSE) ซึ่งได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมและเรื้อรังของเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายๆปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาหมอกควันที่สร้างความเสียหายต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างมหาศาล

คำว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ประกอบด้วย Enterprise คือการประกอบการหรือวิสาหกิจ กับคำว่า Social คือสังคม และเมื่อนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงเกิดคำใหม่ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมคือ การประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งถือเป็นคำเดียวกับ กิจการเพื่อสังคม

ส่วนความหมายที่เป็นทางการที่มีอยู่นั้น พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๙ นิยามว่า

วิสาหกิจเพื่อสังคมหมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนสังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกําไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

และนําผลกําไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกําหนด

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise มีหลัก 5 ประการ คือ

1)มีเป้าหมายเพื่อสังคม มิใช่เพื่อกำไรสูงสุด
2)เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ มิใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค
3)กำไรต้องนำไปใช้ในการขยายผล มิใช่นำไปปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
4)บริหารจัดการตามหลักgood governance
5)ต้องจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท

CSE น่าสนใจอย่างไร

1)เป็นการรวมตัวกันของคนเชียงใหม่ล้วนๆ ตั้งแต่ประชาชนในรากหญ้า นักวิชาการ นักธุรกิจในท้องถิ่นทุกระดับทั้งจากที่เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่ได้พึ่งพิงจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ ของไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายหุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมและไม่ถูกครอบงำจากผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่ง ซึ่งผมขอไม่ยกตัวอย่างรายชื่อผู้ถือหุ้นเพราะเกรงว่าจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวบุคคลไปเสีย

2)เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลเมืองที่ไม่รอให้การแก้ปัญหาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลอย่างแท้จริงหากขาดเสียซึ่งการมีส่วนร่วมจากประชาชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามาโดยตลอด

CSEทำอะไร

1)ปลูกป่า 3 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง ไม้กินได้ เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้เป็นฟืนสำหรับหุงต้มและใช้สอยเบ็ดเตล็ด ใช้สร้างและซ่อมแซมที่พักอาศัย ใช้เป็นอาหาร และเป็นการอนุรักษ์ต้นน้ำ ในหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสนองความต้องการของชุมชนและฟื้นป่าและระบบนิเวศน์ต้นน้ำ

2)เกษตรอินทรีย์ เช่น พืชผักผลไม้ พืชสมุนไพร และปศุสัตว์ โดยการพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรอินทรีย์ของชุมชน, การเตรียมพื้นที่และแหล่งน้ำเพื่อรองรับการทำวนเกษตรอินทรีย์ของชุมชน,การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการปัจจัยการผลิตชุมชน,การพัฒนาระบบปศุสัตว์ครบวงจรเพื่อส่งเสริมวนเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและส่งเสริมการปลูกและจัดจำหน่ายข้าวไร่และ/หรือเมล็ดทานตะวันวนเกษตรอินทรีย์ หรือการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกซังข้าวโพดที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้วิธีเผาจนทำให้เกิดหมอกควัน

3)การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเน้นแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนำเที่ยวและไกด์ อาหารและภัตตาคาร ที่พักและของขวัญของที่ระลึก

4)การแปรรูปไม้ จากสวนป่าเศรษฐกิจชุมชน เช่น ไม้ไผ่ ไม้สักหรือไม้จากการตัดแต่งกิ่ง

5)การจัดการพลังงานทดแทน ในรูปแบบชุมชนพลังงานสีเขียว (green energy) เช่น การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากซังและเปลือกข้าวโพด ฯลฯ

ซึ่งทั้ง 5 เรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

แน่นอนว่างานต่างๆนี้ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญและความยากง่าย และลำพังตัว CSE เองจะทำอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ไม่ได้แต่ต้องร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่ง CSE เราก็ได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น และมีความเห็นร่วมกันว่า

พื้นที่ในชั้นแรกนี้จะเน้นไปที่อำเภอแม่แจ่มซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผามากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีประกาศห้ามเผาในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม แต่ก็ยังมีการลักลอบเผาและระดมเผาเมื่อพ้นจากช่วงระยะเวลาประกาศห้าม ซึ่งการแก้ปัญหาการเผาเหล่านี้จำเป็นต้องมีสิ่งที่ไปทดแทนให้เกษตรกรนอกเหนือการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งก็คือวิธีการข้างต้นทั้ง 5 วิธีนั่นเอง

เชียงใหม่ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นต้นแบบของความเป็นพลเมืองเข้มแข็งมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น การริเริ่มแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองจนภาคประชาชนได้มีการเสนอร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯ สู่สภาฯ ไปแล้ว แต่ต้องสะดุดอยู่เพราะเหตุที่สภาถูกยกเลิกไป แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดอื่นๆ ก็ได้นำไปเป็นต้นแบบในการจัดการตนเองอย่างแพร่หลาย และพร้อมที่จะดำเนินการต่อไปเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

เชียงใหม่เป็นต้นแบบของการเกิดขึ้นของสภาพลเมืองที่คอยเสนอแนวความคิดและตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น กรณีขนส่งสาธารณะ, กรณีข่วงหลวงเวียงแก้ว, กรณีการสร้างที่พักในวัดอู่ทรายคำจนต้องมีการทบทวนและตรวจสอบจากภาคประชาชน หรือการมีแนวคิดจะสร้างคอนโดในที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในย่านสถานศึกษาจนต้องคืนพื้นที่ให้ชุมชนเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เป็นต้น

ผมเชื่อว่าการจัดตั้ง CSE ในครั้งนี้ก็จะเป็นการจุดประกายให้แก่จังหวัดอื่นๆ ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐสมดังคำกล่าวที่ว่า

ไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนในท้องถิ่น” นั้นเอง

----------

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 18 มกราคม 2560