วันพุธ, มกราคม 04, 2560

ทำไมถึงมี "ความพยายาม" ที่จะ "ทำลาย" 'หมุดคณะราษฎร' ที่อยู่กับพื้นถนน @ 'ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์' ยืนยันด้วยภาพกับตาตนเอง 'หมุดคณะราษฎร' ยังอยู่...







ภาพที่ถ่ายเมื่อคืนวันที่ 1 มกราคม 2560





ที่มา เวป ผู้ใผ่รู้ประวัติศาสตร์


“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

นี่คือเนื้อความซึ่งถูกจารึกอยู่บนหมุดทองเหลืองขนาดเล็ก ประติมากรรมนูนต่ำทรงกลมทองเหลือง เรียบๆ ง่ายๆ วงนี้เคยทรงพลังและทรงความหมายต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

หมุดปฏิวัติ 2475/ หมุดคณะราษฏร ถูกตอกตรึงลงบนพื้นแผ่นดินไทย ฝังอยู่บริเวณด้านข้าง ลานพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่า ซึ่งเป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนายืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 แก่เหล่าทหารเพื่อเป็นสักขีพยานต่อการทำการปฏิวัติครั้งนั้น เนื้อความบนหมุดจารึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ลักษณะของหมุดเป็นวงกลม หล่อด้วยทองเหลือง มีคำว่า “เวลาย่ำรุ่ง” อยู่ตรงกลางระหว่างกระจังสามเหลี่ยมด้านบนและล่างที่ลดทอนรายละเอียดจากแบบประเพณีจนเหลือให้เห็นเค้าลางภายใต้ขอบของสามเหลี่ยม ส่วนคำว่า “ณ ที่นี้24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จะวนอยู่ตามขอบวงกลมโดยรอบ



ภาพจำลองหมุดคณะราษฎรในสภาพสมบูรณ์


คาดว่า หมุดทองเหลือง หรือ “งานศิลปกรรมชิ้นแรกๆ ในยุคแห่งคณะราษฎร” นี้ น่าจะจัดทำขึ้นราวปี พ.ศ.2484 ที่รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันชาติ” นับแต่นั้นมา แล้วจึงมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง

แปดสิบกว่าปีที่หมุดทองเหลืองนี้ถูกตรึงเข้ากับผืนแผ่นดิน ถูกผู้คนรถราเหยียบย่ำไปมา ถูกแดด ถูกฝน หลายคนไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของหมุดนี้ด้วยซ้ำ บางคนที่ผ่านตาอาจคิดว่าเป็นเพียงฝาท่อระบายน้ำ เนื้อความที่ถูกจารึกลงบนหมุนเริ่มลบเลือนหายไปตามกาลเวลาจนแทบอ่านไม่ออก




หมุดคณะราษฎรในปัจจุบัน


อาจกล่าวได้ว่ากาลเวลาได้ลบเลือนความทรงจำที่มีต่อ “สัญลักษณ์” ชิ้นนี้จนแทบหมดสิ้น คนยุคใหม่แทบไม่มีโอกาสได้รู้จัก หลงเหลือความสำคัญอยู่ในกลุ่มคนที่ยังแวะเวียนไปจัดกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประจำทุกปี

นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ให้กลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของเหตุการณ์นั้นได้รวมตัวเพื่อร่วมรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว หมุดเดียวกันนี้ยังสร้างความรู้สึก “แสลงใจ” ให้กับใครหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น

มีคนเคยพยายาม “ทำลาย” หมุดคณะราษฏร ทั้งด้วยการ “ลงมือทำลาย” และ “ทำลายเชิงสัญลักษณ์”





ถูกขูดขีดและราดทับด้วยวัสดุสีดำ – ขอบคุณภาพจากคุณ yoonnoi



พิธีถอนหมุด (แค่พิธีไม่ได้ถอนจริง)


ผ่านการถูกทำลายทั้งทำลายจริง และการทำลายทางพิธี ก็มีผู้ประกาศทำลายหมุดทองเหลืองนี้อีกครั้ง จนเป็นกระแสฮือฮาบนโลกโซเชียลช่วงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา





ประกาศขีดเส้นตายสิ้นปี 2559 ถ้าไม่มีเจ้าของจะขุดออกหรือทำให้หมดสภาพ

ทำไมถึงเกิดความต้องการที่จะ ถอน/ ขุด/ ทำลาย/ ทำให้หมดสภาพ กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ทั้งที่เป็นแค่หมุดทองเหลืองบนถนน ไม่ได้กีดขวางการจราจรหรือบดบังทัศนียภาพใดๆ

อะไรเป็นเหตุทำให้เกิดความรู้สึก “แสลงใจ” ต่อหมุดทองเหลืองเล็กๆ หมุดนี้

‘ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า (อ่านเต็มๆ ได้ที่ The Matter)


การพยายามรื้อถอนหมุดเป็นความพยายามของฝ่ายปฏิกิริยาต่อจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติ พ.ศ.2475 มากกว่าเป็นความพยายามรื้อถอนหรือลบล้างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มปฏิกิริยาดังกล่าวคงคิดว่าประวัติศาสตร์สยามสามารถดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศและเป็นวัฏจักรภายในตัวเอง และแยกขาดออกได้จากวิถีทางของประวัติศาสตร์แบบวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนพลังแห่งเหตุผลและมุ่งหน้าไปสู่เสรีภาพและการหลุดพ้นจากอวิชชา

เพราะประวัติศาสตร์สยามแบบที่คนเหล่านี้สำเหนียกจำอยู่นั้นคงมีแต่ประวัติศาสตร์แบบที่ติดอยู่ในหล่มของวัฏจักรแห่งการสั่งสมบุญญาบารมีของพระโพธิสัตว์เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องก้าวไปสู่แสงสว่างทางปัญญาแบบยุคภูมิธรรม (Enlightenment) และความเจริญก้าวหน้าอันเป็นจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ หรือไปสู่เป้าหมายของวิถีประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ที่ทอดรออยู่เบื้องหน้า

ดังนั้น สภาวการณ์ที่เราเผชิญอยู่นี้จึงทำให้ประวัติศาสตร์สยามได้แต่หมุนวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งชั่วนิรันดร


ความสงสัยเกิดขึ้นมากมาย ว่าการประกาศดังกล่าวจะทำได้จริงหรือไม่ หลายเสียงก็ว่าควรขุดถอดถอนไปให้สิ้นซาก หลายปากก็ว่าเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งถึงแม้ทำได้จริงก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวระเหิดหายไปในประวัติศาสตร์ หรือทำให้สามารถรื้อถอนเหตุการณ์ดังกล่าวเสมือนหนึ่งไม่เคยบังเกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นแล้ว ผลของการปฏิวัติของคณะราษฎรสำเร็จก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายส่งผลมาสู่ปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็จะกลับมาหลอกหลอนอยู่เสมอ


เมื่อผ่านพ้นปี 2559 แอดมินได้ลงพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อยืนยันด้วยสายตาตนเองว่าหมุดดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไปแล้วจริงหรือไม่ และขอให้คำตอบแก่ทุกท่านด้วย ภาพที่ถ่ายเมื่อคืนวันที่ 1 มกราคม 2560











ยืนยันวันเวลา ด้วยเวลาท้องถิ่นจาก The Time Now


แม้ในครั้งนี้ หมุดคณะราษฎร จะไม่ได้ถูกทำลายหรือทำให้หมดสภาพตามที่มีผู้ประกาศหน้านี้ แต่ในอนาคตนั้นก็สุดจะคาดเดาได้ เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ยังคง “ทิ่มแทงใจ” ใครหลายๆ คน และการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ก็เกิดขึ้นเสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้นำเนื้อหามาเล่าให้ฟังในคราวต่อๆ ไป


……………………………

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

thematter

mthai

prachatai

khaosod