ฆาตกรชื่อ "ระบบราชการ"
11 ม.ค. 2560
ที่มา PPTV
ข่าวที่ว่ากรมชลฯ บอกกรณีน้ำล้นเขื่อนที่บางสะพาน ยังแจ้งชาวบ้านตรงไม่ได้ เพราะตามขั้นตอนต้องแจ้งจังหวัด จากจังหวัดแจ้งมหาดไทย จากมหาดไทย แจ้ง กสทช. เพื่อแจ้งต่อไปยังทีวีช่องต่างๆ ให้เตือนประชาชน
อันนี้เพื่อความเป็นธรรมกับกรมชลประทาน เขาก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะระเบียบราชการว่าไว้อย่างนั้น ก็ต้องทำไปอย่างนั้น ทำผิดไปเจอตรวจสอบก็ซวย (อันนี้ไม่นับเรื่องข้ามหน้าข้ามตา ข้ามหัวผู้ใหญ่ในกระทรวงอีก)
จากที่ได้คุยกับหน่วยงานต่างๆ พบว่าเขารู้ข้อมูลกันเยอะ ราชการเรามีเครื่องมือเจ๋งๆ แพงๆ อยู่เยอะ กรมอุตุฯ ก็มองเห็นกลุ่มเมฆฝน รู้ว่ามันจะไปเส้นทางไหน ฝนจากจังหวัดนี้จะไปตกตรงไหนต่อ
ราชการเรามีกล้องติดที่ตอม่อสะพานทุกแห่งในประเทศ เพื่อมอนิเตอร์ระดับน้ำแบบเรียลไทม์
กรมชลประทาน ก็รู้ว่าตอนนี้เขื่อนต่างๆ ระดับน้ำเป็นยังไง ถ้าฝนตกเท่านี้จะล้นหรือไม่ล้น มันรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะฝนตกไม่ใช่แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ ที่มาไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ฝนมันตั้งเค้า เมฆมันก่อตัว ฉะนั้นก็จะรู้ว่าจะตกหนักเบายังไง
กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ก็มีข้อมูลน้ำทะเลจะหนุนเท่าไหร่ เมื่อไหร่ยังไง
ไม่นับ ปภ. กองทัพ ที่มีกำลังพลสำหรับเข้าพื้นที่ฉุกเฉินทันที
แต่แปลกมั้ย เรามีเครื่องมือ มีข้อมูล มากมายอยู่ในระบบราชการ ทุกหน่วยงาน ทุกกรมกอง ถือข้อมูล ตัวเลข สถิติอยู่ในมือ
แต่พอถึงสถานการณ์จริง ชาวบ้านหนีตายกันจ้าละหวั่น ไม่มีเวลาเตรียมตัวแม้แต่จะยกของ มีชีวิตอยู่กับข่าวลือ กับ ข่าวลือ ลือทางไลน์มั่ง เฟซบุ๊กมั่ง แล้วข่าวทางการอยู่ไหน
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ไหน
อยู่ๆ น้ำก็ซัดโครมเข้าบ้าน 5 นาทีมิดหัว อยู่ดีๆ บ้านก็กลายเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ อดข้าว อดน้ำ
ทำไมมันกระทันหันขนาดนี้ เราไม่ได้เจอแผ่นดินไหว หรือสินามินะครับ นี่มันน้ำท่วม บางทีน้ำมันมาจากอ่างเก็บน้ำ แล้วคนดูแลอ่างเก็บน้ำทำไมไม่บอกชาวบ้าน ว่ามันล้นแล้ว ต้องรอกี่ขั้นตอน ข้อมูลจะถึงประชาชน
ระบบราชการที่ยืดเยื้อ มากมายด้วยขั้นตอน มันกำลังเข่นฆ่าผู้คนมากมายในสถานการณ์ภัยพิบัติ
หรือที่สุดเราต้องยอมรับว่าขั้นตอนทางราชการ มันสำคัญมากกว่าชีวิตของชาวบ้าน จริงๆ
ooo
ความเห็นหนึ่งจากข่าว
Thailand 4.0 & Digital Thailand
หัวใจหลักของ Thailand 4.0
คือ การสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ
ซึ่งต้องเหมารวมถึงการสร้างคุณค่าเพิ่ม
ให้กับบริการจากภาครัฐด้วย
ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างคุณค่าเพิ่ม
ก็คือ การทำงานร่วมกันมากกว่า 1 เสา
เพื่อให้บรรลุุจุดมุ่งหมาย
หรือประเด็นยุทธศาสตร์ข้อใดข้อนึงร่วมกัน
ไม่ใช่แยกส่วนกันเป็น Silo เป็นแท่งๆ
งบประมาณที่จัดสรรให้กับหน่วยงานภาครัฐ
ปีนึงๆ อยู่ในระดับล้านล้านบาท
นับเป็นเม็ดเงินที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญสูง
ในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแน่นอน
แต่ถ้าข้าราชการยังมี Mindset
ในการทำงานแบบแยกส่วน
ไม่ทำงานร่วมมากกว่า 1 เสาอย่างนี้
ไม่พยายามเพิ่มคุณค่าให้กับบริการของตัวเองแบบนี้
Thailand เราจะไป 4.0 กันยังไงครับ?
แค่แจ้งไปยังฝ่ายปกครอง
โดยตนเองไม่ได้ติดตามผล ไม่เรียกว่างานมีคุณค่า
เพราะยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริง
คือ ประชาชนมีความปลอดภัย
ก.พ.ร.จะให้ทำคุณภาพการจัดการภาครัฐ (PMQA)
และประกวดบริการภาครัฐกันไปทำไมครับ
ก็แค่แข่งกันว่าใครทำรายงาน (แต่งนิทาน)
ได้เก่งกว่ากันหรือครับ?
National Income เราต้วมเตี้ยมๆ อย่างนี้
มาตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีแผนพัฒฯ ฉบับแรก
จนมาถึงตอนนี้ แผนพัฒฯ ฉบับที่12
ก็ยังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
อย่าไปโทษแต่เสถียรภาพทางการเมืองเลยครับ
การทำงานแบบแยกส่วนและโยนความรับผิด
ของหน่วยราชการแบบนี้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญครับ
ในยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน ถ้าราชการจัดการกันไม่ได้
Open Data มาเลยครับ
ประชาชนทำกันเองน่าจะดีกว่าครับ
แล้วหน่วยราชการนั่งรอรับความชอบไปได้ครับ
Sanya Setpityakul ·