วันอังคาร, กันยายน 13, 2559

ใครอย่าได้หลงกลกับชั้นเชิงสะบัดมือของคณะทหารไทยฮุนต้า ที่จงใจจะ ‘fools’ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ที่นำพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร





Big Deal! “อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)” คสช. ประกาศ

“บรรดาการกระทําความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗...ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗...ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี...ให้อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม”

โดยเฉพาะ “ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และ ๓๘/๒๕๕๗ กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีความต่อไปนี้

คดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๗-๑๑๒ คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา ๑๑๓-๑๑๘ คดีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ”

ซึ่งหมายความว่าต่อนี้ไป คดีที่ทหารไปเที่ยวลุกล้ำจับกุม อุ้มกลางดึก แล้วค่อยตั้งข้อหาวันรุ่งขึ้น ฐานที่ผู้ถูกควบคุมตัวแสดงอาการ กล่าวขาน วิจารณ์การใช้อำนาจ และต่อต้านการครองอำนาจของ คสช. ก็ให้ส่งศาลยุติธรรมปกติดำเนินคดี





ส่วนคดีที่เกิดแบบนั้นมาแล้ว เช่น “คดีนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บก.ลายจุด คดี ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คดีศูนย์ปราบโกง คดี ๑๑๖ (บ่อนทำลาย) คดี ๑๑๒ (หมิ่นกษัตริย์) คดีเกี่ยวกับอาวุธอีกหลายคดี

ก็ยังต้องพิจารณาคดีในศาลทหารเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป” นี่ตามที่ทนายสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา สรุปให้ฟัง

(http://www.matichon.co.th/news/282789)





“จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ คดีเสรีภาพการแสดงออกหลังรัฐประหาร มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย ๒๗๘ คน” (http://bit.ly/2cywyk6)

“ส่วนคดีที่ยังไม่อยู่ในศาลทหาร แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นในช่วงคำสั่งที่ ๓๗ – ๓๘ บังคับใช้หากถูกจับก็ต้องไปขึ้นศาลทหารเช่นเดิม โดยคนที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาลทหารคือผู้ที่กระทำความผิดนับแต่วันนี้เป็นต้นไป

ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่าสถานการณ์คลี่คลาย คสช.เริ่มผ่อนคลายนั้น ไม่เป็นความจริง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ทหารที่ใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ใช้อำนาจจับกุมคน ก็ยังไม่ถูกยกเลิกไป

จึงไม่ควรดีใจว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้ทุกคนดีขึ้น หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีทหารไปหาอีกเช่นเดิม” ทนายอานนทืย้ำ

โดยเฉพาะในประกาศ คสช. ข้อ ๒ “ให้เจ้าพนักงานตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๘ เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๓/๒๕๕๙ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการ...

ยังคงมีอํานาจหน้าที่ตามคําสั่งดังกล่าวต่อไป” ซึ่งหมายความว่าทหารยังมีอำนาจตามคำสั่งที่ ๓ และ ๑๓ นำตัว ‘เหยื่อ’ ไปคุมขังไว้ ๗ วัน ก่อนส่งให้ตำรวจดำเนินการ

ไม่เพียงเท่านั้น มาตรฐานศาลทหารไทยไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับการพิจารณาคดีที่กระทบถึงสิทธิพลเมืองตามหลักนิติธรรมสากล อาทิ

“ตุลาการตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด คดีหนึ่งมีอย่างน้อย ๓ คน ๒ ใน ๓ คนไม่ต้องจบกฎหมาย อัยการที่ทำหน้าที่ฟ้องคดีเป็นอัยการทหาร ไม่ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิตก่อน...

ทางปฏิบัติของศาลทหาร เมื่อศาลรับฝากขังจำเลย ศาลทหารจะถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจการควบคุมของกรมราชทัณฑ์และต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำทันที ไม่ว่าจำเลยจะยื่นขอประกันตัวหรือไม่ก็ตาม และแม้จำเลยยื่นขอประกันตัวและได้ประกันตัวในวันเดียวกันกับที่ศาลอนุญาตให้ฝากขัง จำเลยก็ยังคงต้องเข้าไปผ่านการทำประวัติและตรวจร่างกายในเรือนจำ ก่อนถูกปล่อยเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.”

(https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551.646424.299528675550/10157381505125551/?type=3&theater)

สมแล้วที่ Atukkit Sawangsuk บอกว่า “ขรรมว่ะ มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น แต่เอาศาลยุติธรรมมาใช้ตอนปลายเพื่อให้ดูว่าชอบธรรม”







เช่นเดียวกับที่องค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์แถลงค้านทันทีว่า “คำสั่งไม่มีผลย้อนหลัง และไม่มีผลต่อคดีที่พลเรือนถูกส่งฟ้องศาลทหารอีกพันกว่าคดี”

“ใครอย่าได้หลงกลกับชั้นเชิงสะบัดมือของคณะทหารไทยฮุนต้า ประกาศตัดหน้าการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในวันนี้” นายแบร๊ด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของ HRW แจงในแถลงการณ์

แถลง HRW ชี้ด้วยว่าประกาศของ คสช. จงใจที่จะ ‘fools’ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ในการประชุมประจำปีครั้งที่ ๓๓ ซึ่งจะเริ่มวันนี้ (๑๓ กันยายน) จากการวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารไทย

(https://www.hrw.org/…/thailand-no-new-military-trials-civil…)

โดยเหตุที่การนำพลเรือนไปพิจารณาในศาลทหารนั้นขัดแย้งกับปฏิญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิมหาชนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ที่ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศสมาชิกจำนวนมาก และองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ได้อภิปรายตักเตือนประเทศไทย ระหว่างการประชุมตรวจสอบประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“พล.อ.ประยุทธ์ ควรที่จะแสดงความจริงใจในการหยุดดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร ด้วยการยุติคดีต่างๆ เสีย หรือโอนไปให้ศาลปกติดำเนินการต่อทั้งหมด” นายแอดัมส์เพิ่มเติม

“นี่จะเป็นก้าวที่มีความหมายสำคัญในการเลิกราพฤติกรรมกดขี่ กลับมาเคารพสิทธิพื้นฐาน และคืนสู่การปกครองในทางประชาธิปไตยโดยพลเรือน”

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ คสช. ต้องการแท้จริง จึงใช้วิธีการเล่นกลด้วยมือตบตาประชาชนและนานาชาติอีกครั้ง เหมือนอย่างการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อเดือนพฤษภา ๕๗