วันจันทร์, กันยายน 26, 2559

รถไฟจีน-ไทย ประเดิม 'ไฮสปีดรางด้วน'





รถไฟจีน-ไทย ประเดิม 'ไฮสปีดรางด้วน'

เจรจากันกว่าสิบครั้ง เพิ่งคืบหน้าแค่เคาะวงเงินก่อสร้าง ประเดิมด้วยเส้นทางยาว 3.5 กม.

by Sathit Manassurakul
Voice TV Blog

26 กันยายน 2559

หลังนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแผนรถไฟความเร็วปานกลางเป็นความเร็วสูง พร้อมตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมด ไทยเตรียมประเดิมสร้างรางที่โคราช ระยะทาง 3.5 กม. ใช้เงิน 2,000 ล้านบาท

โครงการช่วงแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท จะเดินหน้าอย่างไร แผนความร่วมมือกับจีนนอกเหนือจากนี้ยังเป็นวุ้น

ในการพูดคุยรอบที่ 14 คณะทำงานจีน-ไทยเพิ่งตกลงกันได้เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน เคาะราคาโครงการ 179,000 ล้านบาทสำหรับเฟสแรก รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม.

การเปลี่ยนแผนจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นความเร็วสูง เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

"...หากทำรางไว้ก่อนแบบที่เราเคยคิดไว้ แล้วเอาความเร็วปานกลางมาวิ่ง วันหน้าต้องเปลี่ยนความเร็วสูงอีกอยู่ดี จึงคิดว่าการลงทุนครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ หลายประเทศเริ่มทำแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อ 24 มีนาคม หลังกลับจากจีน (ไทยโพสต์, 25 มีนาคม 2559)

ในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม ผู้นำรัฐบาลทหารประกาศทางโทรทัศน์ชัดเจนว่า ไทยจะเดินหน้าโครงการรถไฟโดยไม่ร่วมทุนกับจีน (Bangkok Post, 25 March 2016)

"...ไทยจะลงทุนดำเนินการเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ในลักษณะ G to G โดยไม่มีทั้งการให้สัมปทานหรือการร่วมทุนกับใครทั้งสิ้น เนื่องจากเราพิจารณาแล้วว่าเรามีศักยภาพสามารถทำได้ (รายการคืนความสุขให้คนในชาติ, 25 มีนาคม 2559)

ลักษณะโครงการ ที่เปลี่ยนจากรถไฟความเร็วปานกลาง 180 กม./ชม. เป็นความเร็วสูง รูปแบบการลงทุน ที่เปลี่ยนจากการร่วมทุนเป็นการลงทุนเอง ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำโครงการ

ถึงวันนี้ พูดได้ว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ ผู้รับดอกไม้ หรือก้อนอิฐ แล้วแต่ว่า ผลงานรถไฟไทย ไฮ-สปีด ออกหัวหรือออกก้อย

การเมืองหลังฉาก

โครงการรถไฟ จีน-ไทย เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของจีนที่จะเชื่อมโยงการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนกำลังผลักดันเส้นทางความเร็วสูงจากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ผ่านลาว เข้าสู่ประเทศไทยที่จังหวัดหนองคาย

ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ การแสวงหาความร่วมมือของจีน นับว่าถูกจังหวะเวลา

ไฟแนนเชียลไทมส์ ชี้ว่า มหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างจีนกับระบอบทหารของไทย ต่างสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน กลายเป็นปัจจัยหนุนเสริมความร่วมมือนี้

มองในมุมของจีน รถไฟสายนี้เป็นประตูสู่ประเทศใจกลางภูมิภาคอย่างไทย ขณะเดียวกัน โครงการยังเป็นสื่อให้จีนกระชับมิตรกับระบอบทหารได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่กองทัพไทยจะมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูงต่อไปอีกแม้ประเทศนี้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

สำหรับไทย เหล่านายพลหันหน้าเข้าหาจีนเนื่องจากสหรัฐฯวิจารณ์การยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในขณะที่รัฐบาลทหารต้องการเข็นเศรษฐกิจที่พังพาบ (Financial Times, 25 September 2016)


อัพเดทความคืบหน้า

รถไฟจีน-ไทยจะแล่นด้วยอัตราความเร็ว 250 กม./ชม. โครงการนี้จะวางรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมโยงเส้นทางจากหนองคายสู่กรุงเทพฯ และหนองคายสู่มาบตาพุด เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออกของไทย ระยะทาง 873 กม.

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า โครงการจะเดินหน้าทีละช่วง เฟสแรกเป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม.

ไทยจะทำสัญญาว่าจ้างจีนเป็นผู้ก่อสร้าง และซื้อรถซื้อรางจากจีน ช่วงแรกนี้จะต้องใช้วงเงินสักเท่าไหร่ ทั้งสองฝ่ายคุยกันไม่ลงตัวมานาน ในที่สุดเพิ่งเคาะตัวเลขได้ในการประชุมคณะทำงานร่วม ครั้งที่ 14 ในกรุงเทพฯ

สรุปว่า เฟสแรกต้องใช้เงิน 179,400 ล้านบาท

ที่ฮือฮาก็คือ ข้อสรุปที่ว่า รถไฟจีน-ไทยจะประเดิมด้วยเส้นทางที่มีความยาวเพียง 3.5 กิโลเมตร ระยะทางที่ว่านี้จะใช้เงิน 2,000 ล้านบาท

เส้นทางสั้นจุดจู๋ดังกล่าวจะอยู่ระหว่างสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก ในเขตจังหวัดนครราชสีมา สื่อมวลชนขนานนามรถไฟสายนี้ว่า 'The Train to Nowhere' (Bangkok Post, 22 September 2016)

รัฐมนตรีคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ บอกหลังหารือกับฝ่ายจีนว่า รถไฟไฮ-สปีด 3.5 กม. จะเปิดประมูลในเดือนพฤศจิกายน ลงมือก่อสร้างในเดือนธันวาคม

'รถไฟประยุทธ์'

เหตุที่ต้องประเดิมโครงการด้วยระยะทาง 3.5 กม.นั้น กระทรวงคมนาคมอธิบายว่า ต้องการสร้างให้เห็นเป็นตัวอย่าง และอาศัยจังหวะนี้ศึกษาและแก้ไขปัญหาทางเทคนิคต่างๆ เนื่องจากไทยไม่เคยสร้างมาก่อน (Financial Times, 25 September 2016)

โครงการในภาพรวม กรุงเทพฯ-หนองคาย และมาบตาพุด-หนองคาย จะเดินหน้ากันอย่างไร ทั้งสองฝ่ายยังจะต้องเจรจาหารือกันต่อไปทีละช่วงทีละเฟส

"...ถ้าเรามัวรอทั้งเส้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มันยาวนานเกินไป เดี๋ยวจะตายก่อนหมด ไม่มีทางได้เห็น ผมกลัวว่าจะตายก่อนเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับนักข่าว (ไทยโพสต์, 25 มีนาคม 2559)

คอยดูกันว่า รถไฟประยุทธ์ ทำไป เจรจาไป จะเชื่อมไทย เชื่อมโลก สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใด.