https://www.youtube.com/watch?v=TMS9oM3Fnu4
UN Live United Nations Web TV Meetings & Events Thailand, UPR Report Consideration 25th Meetin
Joseph Sycip
Published on Sep 23, 2016
ooo
คกก.นักนิติศาสตร์สากลแถลงใน UPR เรียกร้องไทยโอนคดีพลเรือนออกจากศาลทหาร
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ
ที่มา ประชาไท
Fri, 2016-09-23 18:53
23 ก.ย. 2559 ในการประชุม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) สมัยประชุมสามัญที่ 33 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 30 ก.ย. คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) โดย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ แถลงในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ (Universal Perodic Review) ของประเทศไทย แสดงความยินดีในโอกาสที่ประเทศไทยได้ผ่านกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระเป็นครั้งที่สอง ขณะเดียวกัน ICJ ก็รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนข้อเสนอแนะหลักที่สำคัญบางประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและสิทธิทางการเมืองในประเทศ
"รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งรัฐบาลทหารประกาศใช้ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 44 ให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางและไม่สามารถตรวจสอบได้ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์พื้นฐานของหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน" ศิริกาญจน์ ระบุ
เธอกล่าวว่า รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งและประกาศหลายฉบับ โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้มีการเอาผิดทางอาญากับการชุมนุมทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการควบคุมตัวโดยพลการไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีข้อหา รวมถึงให้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ทหาร
"พลเรือนอย่างน้อย 1,811 ราย ถูกไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งขัดกับกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และ
พลเรือนจำนวนหลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ" เธอกล่าวและว่า รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ อันจะเป็นผลให้มีการยกเลิกข้อจำกัดต่อหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้
เธอกล่าวว่า แม้ว่า ICJ จะยินดีกับคำสั่งที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ยุติการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นหลังจากวันดังกล่าว แต่ยังคงมีคดีอีกประมาณ 500 คดีที่ค้างอยู่ในศาลทหาร
ICJ ยังกังวลด้วยว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งข้อหาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคน โดยเป็นการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องจากการกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนใต้
ทั้งนี้ ICJ ขอให้รัฐบาลไทยยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
- รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและคำสั่งและประกาศ คสช.ทั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกับหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน
- โอนคดีพลเรือนที่ยังคงค้างทั้งหมดไปยังศาลพลเรือน และให้ยกเลิกคำตัดสินลงโทษต่อพลเรือนที่เคยถูกฟ้องในศาลทหารนับแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2557 อีกทั้ง
-ยุติการคุกคามใดๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย