วันเสาร์, กันยายน 24, 2559

ท่าทีสหรัฐต่อรัฐบาลคสช. เปลี่ยนไป?




https://www.youtube.com/watch?v=1jpJkdJxKPc

3 โพสต์ต่อคำถามนี้...

1. โพสต์จาก Somsak Jeamteerasakul ตั้งประเด็น

2. ข่าวจาก มติชนออนไลน์ - 
‘ทูตมะกัน’ พบ ‘ประวิตร’ ชมกระบวนการจัดประชามติของไทย มีเสรีภาพ-ยุติธรรม(คลิป)

3. โพสต์จาก U.S. Embassy Bangkok - เอกอัครราชทูตกลิน เดวีส์ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคง


ooo





ท่าทีสหรัฐเปลี่ยนไป?

http://www.matichon.co.th/news/295496

เรื่องนี้ เดิมผมนึกจะไม่เขียนแล้ว เพราะมีความไม่แน่ใจนิดหน่อยและคิดว่าไว้รอดูต่อไป แต่เห็นมีมิตรสหายบางท่านโพสต์ขึ้นมา ก็เลยขอเขียนสักหน่อย เผื่อคนอื่นอาจจะตกข่าว

คือเมื่อวานผมดูคลิปการให้สัมภาษณ์ของท่านทูตเดวีส์ แล้วรู้สึกสะดุดใจ (ใครฟังภาษาอังกฤษได้ ขอให้ฟังภาษาอังกฤษของท่านทูต เพราะล่ามแปลไม่ถึงกับตรงแบบคำต่อคำนัก) มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ท่าทีทูตสหรัฐเปลี่ยนไป แม้จะไม่ถึงกับชัดแจ้ง คือเป็นแบบที่ฝรั่งเรียกกันว่า subtle (ไม่รู้จะแปลไทยยังไง ประมาณว่า "แบบบางๆ" คือเปลี่ยนแบบไม่โจ่งแจ้ง) นอกจากพูดว่า "ประชามติ" free and fair on the day (เสรีและเป็นธรรมสำหรับวันนั้น) ยังพูดถึง "โร้ดแม็พ" ในลักษณะที่เหมือน positive กว่าเดิม ไม่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการปิดกั้นเสรีภาพที่มีอยู่ในขณะนี้ (ดูเปรียบเทียบกับคำของท่านทูต วันหลังประชามติ ซึ่งไม่มีคำว่า free and fair เลย และมีการเรียกร้องว่า we strongly urge the government to lift restrictions on civil liberties, including restrictions on freedom of expression and peaceful assembly - เราขอเรียกร้องอย่างยิ่งให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งรวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ http://bit.ly/2auzDR7)

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่ สหรัฐเปลี่ยนท่าทีจริง (อย่าง subtle ที่ว่า) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ไม่ถึงกับแปลกใจนัก อันที่จริง แต่ไหนแต่ไร ผมประเมินความสำคัญของท่าทีต่างประเทศต่อการเมืองไทยในระดับต่ำกว่าที่มิตรสหายหลายคนประเมิน (พวกเสื้อแดงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐเอง ประเมินเรื่องท่าทีสหรัฐ หรืออียู สูงเกินจริง ในประเทศเองก็เช่นกัน เช่นคราวเรื่อง "ตัวแทนอียู" เชิญยิ่งลักษณ์หรือมาพบยิ่งลักษณ์อะไรแบบนั้น - อย่างที่ผมยืนยันตั้งแต่ตอนนั้นว่า กรณีนั้นไม่ใช่ "รัฐสภาอียู" อย่างที่พูดๆกัน)

ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคือ #ท่าทีต่างประเทศต่อเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่ท่าทีคนไทยเองในประเทศไทยด้วย คือ ถ้ามีเสียงเรียกร้องต่อต้านมาก ท่าทีของต่างประเทศก็จะมากตามไปด้วย และเรื่องนี้ มันนำไปสู่ปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมพูดนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คนรณรงค์โหวตโน "เสียน้ำใจ" แต่มันเป็นความจริง ในทัศนะของผมที่ว่า #การที่กลุ่มรณรงค์เองไม่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาว่าประชามติครั้งนี้มันไม่ใช่ประชามติจริงๆ มันเป็นของเก๊ #ที่ยอมรับไม่ได้และควรเป็นโมฆะ (คือไม่ใช่เพียงแค่มีการจำกัดต่างๆที่รู้กันดี แต่ว่า จริงๆแล้วสมควรถือว่ามันโมฆะ) #เป็นอะไรที่มีผลต่อต่างประเทศด้วย เช่นกรณีแถลงการณ์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM และแอ๊คติวิสต์อีกบางส่วน ที่ออกมา "ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน" ซึ่งผมยืนยันตั้งแต่ตอนนั้นว่า #เป็นความผิดพลาดมากอย่างสำคัญด้วย (แต่ก็ยังมีแอ๊คติวิสต์ที่เกี่ยวข้องยืนกรานว่า "ไม่เห็นผิดตรงไหน ผิดตรงที่ไม่ถูกใจ สศจ เท่านั้น" อะไรแบบนั้น) คือ ถ้าคนในประเทศเอง ยังไปมีท่าทีแบบนี้ ต่างประเทศเขาก็ "ขยับ" เปลี่ยนตามได้ (ขอให้สังเกตว่า ตอนผลประชามติออกมาใหม่ๆ แถลงการณ์ต่างประเทศ ไม่ว่าสหรัฐ (ที่ยกมาข้างบน) หรืออียู ออกมาแบบแข็งกว่าแถลงการณ์ของคนรณรงค์เอง อย่าง NDM ด้วยซ้ำ ไม่มีการออกมาพูดเรื่อง "...เรายอมรับ.." อะไร แต่แน่นอน พอเวลาผ่านไป ก็เป็นไปได้ - เช่นอาจจะกรณีทูตเดวีส์นี้ - ที่เขาก็ตามกระแสของคนในประเทศเองไป แล้วหันไปดีลในลักษณะ positive กับ คสช มากขึ้น


Somsak Jeamteerasakul

ooo

‘ทูตมะกัน’ พบ ‘ประวิตร’ ชมกระบวนการจัดประชามติของไทย มีเสรีภาพ-ยุติธรรม(คลิป)






ที่มา มติชนออนไลน์
23 ก.ย. 59


ดูคลิปข้างบนประกอบ


“ทูตมะกัน” พบ “ประวิตร” ถกก่อนประชุม ADMM Plus ชมไทยแก้ไขค้ามนุษย์ เชื่อ คสช. เดินตามกรอบโรดแมป

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายเกล็น ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถึงการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและคู่เจรจา (เอดีเอ็มเอ็ม พลัส) ที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

โดยนายเกล็น ที. เดวีส์ กล่าวภายหลังการพูดคุยว่า เป็นการแลกเปลี่ยนก่อนจะมีการเดินทางไปประชุมที่ฮาวายว่าการพูดคุยวาระการประชุมมีอะไรบ้าง อีกทั้งหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งตนคิดว่ามีพัฒนาการที่ดีและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ทางสหรัฐมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับสุดยอดผู้ลี้ภัยที่นครนิวยอร์ก โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้พูดทุกเรื่องในทางบวก ซึ่งเรามีความยินดีที่ไทยได้ร่วมลงนามสัญญาปารีส รวมทั้งสหรัฐมีความรู้สึกดีกับสุนทรพจน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเข้าพบ พล.อ.ประวิตรครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐ หน่วยงานความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งความร่วมมือแพทย์ทหาร และการซ้อมรบร่วมกันที่จะเกิดขึ้น

นายเกล็น ที. เดวีส์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยนั้น ทางสหรัฐมองว่าที่ผ่านมารายงานการค้ามนุษย์ของไทยได้พัฒนาจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ระดับเฝ้าระวัง ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยทำทุกอย่างดีขึ้น พร้อมทั้งสหรัฐจะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพยายามทำงานอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการคุ้มครองเหยื่อ การค้ามนุษย์ และคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย สหรัฐมองว่าการแก้ไขปัญหาดีขึ้นและเป็นทางบวกมากขึ้น ทั้งนี้ อยากเน้นย้ำว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่ปัญหาประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งสหรัฐก็ประสบปัญหานี้ด้วย เพราะฉะนั้น ทุกประเทศและทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้

นายเกล็น ที. เดวีส์ กล่าวถึงผลประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของสหรัฐไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราได้สังเกตการลงประชามติว่ามีเสรีภาพและความยุติธรรมพอสมควร อีกทั้งคิดว่าประชามติครั้งนี้จะขับเคลื่อนประเทศไทยตามโรดแมป พร้อมทั้งนำไปสู่ความประนีประนอมด้วยกันได้ ซึ่งทางเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง มีเสรีภาพ และเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

“เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปตามโรดแมปที่ คสช.กำหนดไว้ โดยเรามีจุดยืนชัดเจนไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งผมได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตรในเรื่องความพยายามของรัฐบาลและ คสช.ว่าจะเดินตามโรดแมป” นายเกล็น ที. เดวีส์ กล่าว

เมื่อถามว่าการประชุมเอดีเอ็มเอ็ม พลัส จะมีวาระเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียนหรือไม่ เอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวว่า มี เพราะอยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว ส่วนที่ท่านรองนายกฯประวิตรจะพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือไม่ ตนคิดว่าอาจมีโอกาสที่จะได้พบ

ooo







เอกอัครราชทูตกลิน เดวีส์ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ดำเนินมาอย่างเข้มแข็งยาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตเดวีส์ได้กล่าวขอบคุณพลเอกประวิตรที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่รัฐฮาวาย รวมถึงชื่นชมการดำเนินงานของไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อความคืบหน้าของไทยในหลายประเด็น เช่น ผู้ลี้ภัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเดวีส์และพลเอกประวิตรยังได้หารือแนวทางพัฒนาการดำเนินงานต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกัน

Ambassador Glyn Davies called on Deputy Prime Minister General Prawit Wongsuwan to discuss the strong, ongoing security cooperation between the United States and Thailand, which is a cornerstone of regional peace and security. He thanked the Deputy Prime Minister for attending the upcoming meeting of ASEAN and U.S. defense ministers in Hawaii, as well as for Thailand’s work advancing the ASEAN-U.S. relationship. The Ambassador welcomed Thailand’s progress on issues like refugees, climate change, and trafficking in persons, and discussed ways to enhance our efforts against terrorism.


U.S. Embassy Bangkok