วันพฤหัสบดี, กันยายน 29, 2559

มีนะในแดน Kimchi... วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (29 กันยายน 2006) : หญิงสูงวัยประกาศครองราชย์เป็น “จักรพรรดินีแห่งเกาหลี” โดยไม่ปรึกษาชาวบ้าน




อี แฮ-วอน ผู้ประกาศตัวเป็นจักรพรรดินีแห่งเกาหลี AFP PHOTO / JUNG YEON-JE


29 กันยายน 2006: หญิงสูงวัยประกาศครองราชย์เป็น “จักรพรรดินีแห่งเกาหลี” โดยไม่ปรึกษาชาวบ้าน


ที่มา เวปศิลปวัฒนธรรม
29 กันยายน พ.ศ.2559


เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2006 อี แฮ-วอน (Lee [หรือ Yi] Hae-Won) วัย 88 ปี เจ้าหญิงจากราชวงศ์แห่งโชซอนซึ่งล่มสลายไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หลังถูกญี่ปุ่นยึดครอง ได้ประกาศขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินีองค์ใหม่แห่งจักรวรรดิเกาหลี

“เราคือทายาทที่ถูกต้อง, ไม่ว่าใครจะพูดเช่นใดก็ตาม” อี แฮ-วอนกล่าวโดยอ้างถึงผู้ที่ไม่เห็นชอบกับการครองราชย์ของเธอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อี ซก (Lee [หรือ Yi] Seok) น้องชายร่วมบิดาซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูสถานะของราชวงศ์

ทั้งคู่เป็นบุตรของเจ้าชายอี คัง (Lee Kang) โอรสองค์ที่ 5 ของจักรพรรดิโกจง (Gojong) และอนุชาของจักรพรรดิซุนจง (Sunjong) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของโชซอน โดยเจ้าชายอี คังมีชายาและสนมจำนวนมาก จึงมีทายาทมากกว่ายี่สิบคน ซึ่งอี แฮ-วอน อ้างว่า เธอคือบุตรคนโตของเจ้าชายองค์นี้ที่ยังมีชีวิตรอดอยู่

“เราเกิดจากชายาที่ได้รับการรับรองตามธรรมเนียม…เราจะฟื้นฟูจารีตของราชวงศ์ขึ้นมาอีกครั้ง” อี แฮ-วอน กล่าว




อี คู ทายาทสายตรงของมกุฏราชกุมารองค์สุดท้ายของโชซอน AFP PHOTO / KIM JAE-HWAN


การประกาศครองราชย์เป็นจักรพรรดินีของเธอมีขึ้นหลัง อี คู (Lee Ku) บุตรชายของเจ้าชายอี อุน (Lee Un มกุฏราชกุมารองค์สุดท้ายของราชวงศ์โชซอน) ถูกพบเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2005 ในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีทายาทสืบสายเลือด




อี ซก หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์เกาหลีที่ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ในปี 2004 AFP PHOTO / JUNG YEON-JE


หลังการประกาศของ อี แฮ-วอน, อี ซก ได้ออกมาให้ความเห็นว่า เขาไม่ได้สนใจว่าพี่สาวของเขาจะเป็นจักรพรรดินีหรือไม่ แต่ว่าสมาคมราชสกุลไม่ได้ให้การรับรองการประกาศในครั้งนี้ [ทางสมาคมฯ ประกาศให้ อี วอน (Lee Won) ลูกชายคนโตของลูกชายคนที่ 9 ของเจ้าชายอี คัง เป็นผู้สืบทอด] ส่วนตัวเขาแม้จะได้รับการเชิญให้ร่วมพิธีแต่ก็ได้ปฏิเสธไป เพราะไม่รู้ถึงเบื้องหลังการจัดการดังกล่าว และเขาคิดว่า ก่อนการประกาศเช่นนั้นควรมีการปรึกษาหารือกับสาธารณะถึงสถานะของจักรวรรดิและราชวงศ์เสียก่อน ซึ่งภายหลัง ลี ซก ก็กลายมาเป็นผู้นำในการรณรงค์ล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อในการสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประโยชน์ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในสมัยกษัตริย์โกจง พระองค์ทรงประกาศยกฐานะของอาณาจักรโชซอนขึ้นเป็นจักรวรรดิ ทำให้พระองค์มีสถานะเป็นจักรพรรดิไปด้วยเพื่อแสดงความเป็นอิสระจากจีน แต่เมื่อสิ้นแผ่นดินพระองค์ได้ไม่นานอาณาจักรโชซอนก็ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในปี 1910 ทำให้อาณาจักรที่มีอายุยาวนานกว่า 5 ร้อยปีถึงกาลสิ้นสุด

และแม้เกาหลีจะได้รับอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทั้ง 2 เกาหลีต่างก็ปกครองในระบอบสาธารณรัฐมาโดยตลอดมิได้ย้อนกลับไปฟื้นฟูอำนาจของระบอบกษัตริย์ในราชวงศ์เดิมขึ้นมาอีกครั้ง (แต่ในเกาหลีเหนือตระกูลคิม ก็ถูกเปรียบเปรยว่ามีฐานะไม่ต่างไปจากราชวงศ์)

อ้างอิง:

1. “Coronation of Korea’s new empress leads to royal family controversy”. Korea Joongang Daily. <http://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=2831239>

2. “Prince hopes to bring monarchy back to S.Korea”. Reuters. <http://uk.reuters.com/article/lifestyle-life-korea-prince-dc-idUKSEO16222220061106>