วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 18, 2559

นายกสมาคมภัตตาคารไทยเผย ศก.ซบ คนไทยทานอาหารริมทางเพิ่ม ยอดเข้าภัตตาคารฮวบ ต้องงัดสารพัดวิธีลดต้นทุน





ศก.ซบ คนไทยทานอาหารริมทางเพิ่ม ยอดเข้าภัตตาคารฮวบ ต้องงัดสารพัดวิธีลดต้นทุน


ที่มา มติชนออนไลน์
17 ส.ค. 59


วันนี้ (17 ส.ค.) นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มร้านอาหารริมทางในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 50-60% เพื่อรองรับพฤติกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงหลีกเลี่ยงการเข้าร้านอาหารภัตตาคาร ส่งผลทำให้ร้านอาหารภัตตาคารทั่วไปไม่สามารถปรับราคาอาหารขึ้นได้ เพราะการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งยังต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาดเพิ่มเติมด้วยการใช้วิธีการลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอด

“ร้านอาหารภัตตาคารได้มีการปรับลดต้นทุนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับลดวัตถุดิบในจานอาหารลง เช่น การลดปริมาณกุ้งจาก 3 ตัว เหลือ 2 ตัว แต่ราคาอาหารยังปกติ การเพิ่มขนาดจานบรรจุอาหารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้ซื้อรู้สึกว่ามีการเพิ่มปริมาณอาหาร รวมไปถึงล่าสุดสมาคมภัตตาคารได้ก่อตั้งเรสเตอรองต์ โซไซตี้ ขึ้นเพื่อเป็นอีกกลยุทธ์ในการเพิ่มอำนาจต่อรองราคาสินค้าวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้ร้านอาหารยังคงราคาเดิมอยู่ แทนการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาอาหาร นอกจากนี้ยังร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรรม (อ.ต.ก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จัดทำการซื้อขายวัตถุดิบอาหารด้านเกษตรในรูปแบบออนไลน์ และให้ร้านอาหารที่เป็นสมาชิกสมาคมซื้อวัตถุดิบเกษตรจาก อ.ต.ก.ได้ทางเว็บไซต์ www.thaihoreca.com โดยตรง และซื้อในราคาถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 10% ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบสินค้าเกษตรถือว่ามีความสำคัญมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของวัตถุดิบอาหารที่ต้องใช้ในการทำอาหารในร้านทั้งหมด” นางฐนิวรรณกล่าว

นางฐนิวรรณกล่าวว่า คนไทยเริ่มกินข้าวนอกบ้านน้อยลง จากสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เหลือสัปดาห์ละครั้ง เพราะต้องระวังเรื่องการใช้จ่ายจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว แต่ก็ยังคงต้องการเรื่องความสะดวกสบาย เลยเลือกที่จะซื้ออาหารสำเร็จรูปต่างๆ เข้ามากินแทน เพราะเมื่อมาถึงบ้านจะได้ไม่ต้องทำอาหารอีก ดังนั้น ร้านอาหารต่างๆ จึงต้องดิ้นรนหาวิธีการลดต้นทุนต่างๆ จนทำให้ในปัจจุบันแม้จะไม่สามารถขึ้นราคาค่าอาหารได้ แต่ก็ยังไม่ล้มตายถึงขั้นปิดกิจการ หรืออาจจะมีการปิดกิจการก็มักจะมีร้านอาหารใหม่ หรือผู้ลงทุนใหม่เข้ามารับช่วงเปิดกิจการต่อทันที โดยจากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในไทย ในปี 2559 มีมูลค่า 669,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารกว่า 4 แสนราย