วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 04, 2559

คุยกับชายสูงวัยในอีสานเรื่องประชามติ + คนกรุงเทพเข้าใจการทำประชามติครั้งนี้แค่ไหน ?





ที่มา บล็อกของ gadfly
https://blogazine.pub/blogs/gadfly/post/5824

3 August, 2016

สามวันที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งได้มีโอกาสลงพูดคุยกับคนในพื้นที่ภาคอีกสานหลายกลุ่ม ที่น่าสนใจจริงๆกลับเป็นกลุ่มคนสูงวัย


0000


คนกลุ่มแรกที่ผมมีโอกาสไปเจอเป็นนักพัฒนาอาวุโสในอีสาน ท่าทีของพวกเขายังดูสุขุมนุ่มเย็นทรงภูมิความรู้ เพื่อนต่างชาติพูดคุยซักถามเรื่องการทำประชามติและสถานการณ์แวดล้อมมากมาย ผมเดินเล่นเข้าออกวงประชุมบ้างเนื่องจากมีข่าวอื่นที่รุนแรงมากกว่าทะยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังมีเหตุผลเนื่องจากว่ามีบางคนในวงสนทนาบอกว่ายังจัดกิจกรรมได้ตามปกติ ไม่ได้มีทหารมาคุกคามในการทำกิจกรรมแต่อย่างใด ที่มาก็แค่มาสังเกตการณ์

หลังสุดเมื่อผมกลับเข้ามาร่วมฟังอยู่ในวงพูดคุยอีกครั้ง เพื่อนชาวต่างชาติตั้งคำถามในวงว่าจะไปโหวตไหมและโหวตอะไร นักพัฒนาอาวุโสตอบว่าเขาคิดว่าจะไม่ไปโหวตเพราะคิดว่าการโหวตรับหรือไม่รับน่าจะไม่มีผลต่างกันอย่างไร

หลังจากลาจากเดินออกมา เพื่อนชาวต่างชาติหันมาถามผมเบาๆว่าเขาเป็นเสื้อเหลืองใช่ไหม? ผมย้อนถามกลับไปว่าเขารู้ได้อย่างไร เขาตอบว่าสังเกตจากคำพูดเขาเรียกนักการเมืองว่า "นักเลือกตั้ง"

ผมหัวเราะ แต่ไม่พูดอะไร


0000


ชายสูงวัย รายที่สอง วัย 67 ปีที่ผมไปพบเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นหัวคะแนนประชาธิปัตย์ในอีสาน ดีกรีระดับดอกเตอร์ เขาพูดด้วยท่าที่โผงผางเสียงดังบอกว่าเป็นคนบ้านเดียวกับ ชวน หลีกภัย ก่อนเข้ามาลงหลักในอีสาน ชายสูงวัยเอ่ยอ้างประวัติการต่อสู้ยาวนาน ตั้งแต่ขับไล่ฐานทัพอเมริกัน ในช่วงสงครามเวียตนาม เขาวิพากษ์สถานการณ์ทั้งทางสังคมและการเมืองปัจจุบันรวมถึงรัฐธรรมนูญอย่างเกรี้ยวกราด


นั่งฟังอยู่นาน ผมขัดจังหวะถามเขาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดี บ้างหรือไม่? เขานั่งคิดอยู่นานแล้วบอกว่ามีดีอยู่ข้อเดียวก็คือในเรื่องการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์

ถามต่อว่าจะไปโหวตไหม ถ้าไป จะโหวตเยสหรือโน แกตอบว่าจะไปโหวตโน นักการเมืองสูงวัยพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าอยากให้ระบบการเมืองปกติกลับคืนมา ผมแหย่ถามกลับไปว่า ไม่กลัวแพ้เหรอเดี๋ยวนักซื้อเสียงกลับมาอีก แกบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครขายเสียงแล้ว คุณมีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อชาวบ้านไม่ได้ แพ้ก็ไม่เป็นไร แค่ขอให้บ้านเมืองกลับมาอยู่ในระบบปกติ แต่ขอให้มีการพูดคุยและรับฟังความเห็นกันบ้างเท่านั้น

โดยจากตอนแรกที่ดูเหมือนว่าแกจะแสดงอาการกร่าง เกรี้ยวกราด แต่สุดท้ายผมรู้สึกว่าเป็นการแสดงความหมดหวังต่ออนาคตมากกว่า


0000


สำหรับชายชาวบ้าน ผมขาว คนที่สามที่ผมได้พบ ผมไม่ได้พูดคุยกับแกมากนัก ทราบแต่ว่าแกเป็นเหยื่อที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐจากกรณีเปิดศูนย์ปราบโกง แต่ถึงแม้ว่าผมจะไม่มีโอกาสคุยรายละเอียดกับแก แต่แกก็ให้คำตอบกับผมบางอย่างถึงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนอีสานที่เปลี่ยนไป




ooo

คนกรุงเทพเข้าใจการทำประชามติครั้งนี้แค่ไหน ?




เหลือเวลาเพียง 4 วันก่อนการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงท้าย ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ บีบีซีไทยได้ไปสอบถามความเห็นของผู้คนหลากหลายในกรุงเทพมหานคร โดยสอบถามว่าพวกเขาจะไปลงเสียงประชามติหรือไม่และมีความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน

จากการสอบถามพบว่า หลายคนตั้งใจจะไปออกเสียงประชามติแต่ยังไม่เข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารรณรงค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง โดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดเผยว่ายังไม่ทราบว่าในการทำประชามติครั้งนี้จะมีการออกเสียงในเรื่องคำถามพ่วงท้ายด้วย

สำหรับคำถามพ่วงท้ายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะปรากฏบนบัตรออกเสียงประชามติ มีข้อความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ขยายความคำถามพ่วง โดยจับโยงกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ มีสาระโดยสรุป 4 ประเด็น คือ 1. ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ผู้มีสิทธิเลือกนายกฯ มีเพียง ส.ส. ทั้ง 500 คน เท่านั้น แต่คำถามพ่วงจะให้ ส.ว. 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย 2. ในบทเฉพาะกาล ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 269 กำหนดให้ คสช. เป็นผู้เลือก ส.ว. ชุดแรกทั้ง 250 คน 3.ในคำถามพ่วง “ในระหว่าง 5 ปีแรก” ให้ ส.ว. ไปร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกฯ ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายกฯ ที่ ส.ว. ไปร่วมเลือกได้ แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ส.ส. มีวาระเพียง 4 ปีเท่านั้น ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้และคำถามพ่วง ก็จะแปลว่า ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจะร่วมเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 หน 4. สำหรับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ที่อ้างถึงในคำถามพ่วง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน เป็นผู้จัดทำ นอกจากนี้ มาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า ครม. ชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว


บีบีซีไทย - BBC Thai