วันจันทร์, มิถุนายน 20, 2559

วิธีการไม่แยบยลแต่เต็มไปด้วยกลลวงและโป้ปดของ คสช.





มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คสช. ยุคหลังสองปีที่เตรียมตัวอยู่ยาว รอหลังเปลี่ยนผ่านรัชกาลเรียบร้อยก่อน*ค่อยลงจากหลังเสือนี้ จะไม่ใช้วิธีหักหาญกวนน้ำให้ขุ่น

(*แถลงพระอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ฉบับที่ ๒๙ เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ปรากฏว่าพระองค์ยังคงทรงมี “ภาวะน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองมากกว่าปกติ” เช่นที่ผ่านมาสองครั้งในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือน)

หากพลังต้านมากและหนักแน่นพอก็จะยอมเพลามือไว้ก่อน แล้วค่อยไปตามเก็บกลุ่มย่อยเป็นรายๆ ภายหลัง

ดังกรณีการนัดไปยืนนิ่งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของนักศึกษาและพลเมืองโต้กลับ ซึ่งมีประชาชนไปร่วมเป็นจำนวนมาก ไม่มีการใช้กำลังเข้าจับกุมเหมือนครั้งก่อน (ที่หน้าหอศิลป์ฯ)

แต่ทหารก็ตามไปเก็บนักศึกษากลุ่มเพจล้อ ‘เรารักประยุทธ์’ ๘ คน ตั้งข้อหาบ่อนทำลาย (ม.๑๑๖) กับ ม.๑๑๒ บางคน (หฤษฎ์ มหาทน และ ณัฏฐิกา วรชัยวิชญ์) จนบัดนี้ศาลยังไม่ยอมให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ ๕ อันเป็นที่รู้กันในแวดวงทนายสิทธิมนุษยชนว่า เป็นวิธีกดดันให้ผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพเมื่อทนต่อสภาพอัดอั้นในเรือนจำไม่ไหว

หรือในกรณีพระธัมมชโยวัดธรรมกาย เมื่อคณะศิษย์รวมตัวกันเข้าปกป้องหลวงพ่อของพวกเขาอย่างแข็งขัน ดีเอสไอและตำรวจในคำสั่งของ คสช. ก็ยอมถอย เพื่อขอหมายจับจากศาลครั้งใหม่





ขณะที่ “พ.ต.ต. สุริยา (สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ) กล่าวว่า การเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถจับกุมพระธัมมชโยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลได้ แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

ส่วนกลุ่มศิษยานุศิษย์ที่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางดีเอสไอได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและสื่อมวลชนก็ได้บันทึกภาพและวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๙ ในภายหลัง”

(http://thaipublica.org/2016/06/credit-unions-klongchan-105/)

ส่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. แนะไว้เมื่อเดือนก่อน “ทรัพย์สินของพระธัมมชโยและวัด รวมกันกว่าหมื่นล้าน ที่สามารถบังคับคดีนำเงินมาชดเชยให้กลุ่มส¬มาชิก (สหกรณ์คลองจั่น) ได้” ก็อาจนำกลับมาใช้เมื่อใดที่ศิษ์ธัมมชโยการ์ดตก

การยกกำลังตำรวจสถานีโชคชัยไปห้าม นปช. ทำพิธีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว ก็เป็นอีกมิติหนึ่งของการใช้ไม้นวมยัดเหล็กของ คสช. ที่บอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงแต่หลังเจรจา นปช. ยินยอมไม่เปิดศูนย์

โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. แถลงในเวลาต่อมาว่า “คสช.จะได้เพียงแค่สถานที่และป้ายเท่านั้น แต่ภารกิจของประชาชนเพื่อเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ไหวหวั่น” และ

“จะแปรสภาพเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนการทุจริต ซึ่งนอกจากจะนำเรื่องไปฟ้องประชาชนแล้ว จะไปฟ้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย”

(http://www.posttoday.com/politic/438286)






นอกนั้นนายจตุพรยังบอกให้ศูนย์ปราบโกงฯ ในต่างจังหวัดยังคงดำเนินการกันต่อไป แต่ปรากฏข่าวในวันเดียวกันว่าศูนย์ฯ ดังกล่าวถูกตำรวจ-ทหารไปปิดในหลายพื้นที่ไม่ต่ำว่า ๕ จังหวัด

โดยเฉพาะที่ปราจีนบุรี ข่าวว่าทหารได้นำตัวแทน นปช. ท้องที่เข้าไปควบคุมตัวในค่ายจักรพงษ์

วิธีการไม่แยบยลแต่เต็มไปด้วยกลลวงและโป้ปดของ คสช. เพื่อการกำจัดเสียงต้านและผู้ค้าน เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิเสธรัฐบาลทหารไม่อาจวางใจได้เลยแต่น้อย

จากคำพูดและท่าทีนอกหน้าที่ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ก็สามารถแปลงเป็นการกดดัน และนำวิธีทรมานเชลยศึกมาใช้ในวันใดวันหนึ่งได้เสมอ

ดังที่ทีมโฆษก คสช. พยายามปฏิเสธเอกสาร ‘หลุด’ สองแผ่นของ มทบ. ๓๘ ระบุคำสั่ง ‘จับตาย’ “แกนนำฮาร์ดคอร์ หัวรุนแรง” และ ตักเตือน, ขู่ “นักวิชาการ สื่อต่างๆ”





พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ชี้แจงว่า “จากการตรวจสอบเบื้องต้น แผ่นแรกเป็นเอกสารจริงและไม่ใช่เอกสารลับ ระบุว่า มีเพียงแผ่นเดียวตรงมุมซ้ายล่าง สำหรับเอกสารแผ่นที่ ๒ เป็นเอกสารปลอม ทำมาประกอบและพิมพ์คำว่าลับ ซึ่งตามปกติเอกสารลับจะต้องลับทั้งฉบับ”

(https://news.thaipbs.or.th/content/253262)

ซึ่งก็ได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขที่เขียนด้วยลายมือบนแต่ละหน้านั้นคล้ายกัน

ใครล่ะจะยืนยันได้แท้จริงว่าไม่มีเจตนาในหัว คสช. ที่จะทำร้ายฝ่ายต่อต้านดังระบุบนเอกสาร เหตุการณ์ที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภา ๕๓ บ่งบอกไว้ชัดเจน

คำพูดที่สับไปปรับมาของหัวหน้าใหญ่เป็นสัญญานชัดแจ้งเช่นกัน บอกเปิดได้สามครั้ง มาสั่งปิดเอาครั้งที่สี่ก็มีแล้ว