ชำนาญ
จันทร์เรือง
จากการที่
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
รมว.ยุติธรรมได้ออกมาชี้ว่าทิศทางในการแก้ปัญหายาเสพติดของโลกเปลี่ยนไป
จากการปราบปรามให้หมดสิ้นเป็นต้องอยู่ร่วมกันให้ได้
พร้อมกับเสนอแนวความคิดที่จะยกเลิกเมทแอมเฟตตามีน (ยาบ้า) จากบัญชียาเสพติดเป็นยาปกติ
นั้นได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหลากหลาย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ในเรื่องนี้ผมได้เคยเสนอแนวความคิดนี้ไว้เมื่อปลายปีที่
2558 ที่ผ่านมาเช่นกัน ทั้งการเขียนบทความและการออกรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ทางสถานีไทยพีบีเอส ในหัวข้อ “ยกเลิกโทษยาเสพติด
แก้ไขปัญหาได้จริงหรือ” ( https://www.facebook.com/DebateThaiPBS/)
ซึ่งได้มีผู้เข้ามาให้ความคิดเห็นมากมายจนกลายเป็นกระทู้ท็อปฮิตที่ถูกแปะไว้หน้าวอลล์มาจนถึงปัจจุบัน
กอปรกับล่าสุดในขณะนี้ก็ได้มีภาพยนตร์สารคดีที่กำลังลงโรงที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งของ
Michael Moore ชื่อว่า Where to Invade Next ? ที่มีตอนหนึ่งกล่าวถึงโปรตุเกสที่ยกเลิกโทษยาเสพติดทุกชนิดมา
15 ปีแล้ว สถิติอาชญากรรมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำกลับลดลงอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในการปราบปรามลดลง
ลดการทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวกับการค้าขายยาเสพติดลงอีกด้วย
เมื่อ
รมว.ยุติธรรมได้ออกมาเสนอแนวความคิดนี้ ผมจึงขอเล่าอีกครั้งหนึ่งถึงที่มาที่ไปของแนวความคิดของการแก้ไขปัญหาแบบ
“ย้อนศร” หรือ “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง” นี้ ซึ่งก็คือเมื่อปีที่แล้วนายริชาร์ด แบรนสัน
ผู้บริหารของเวอร์จินซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลกที่ออกมาให้ข่าวว่า UNODC (United Nations Office on Drugs and Crime) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติที่ไปประชุมกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
มาเลย์เซีย มีข้อเสนอให้ยาเสพติดทุกชนิดในโลกนี้สามารถครอบครองได้โดยถูกกฎหมาย
พูดง่ายๆ ก็คือยกเลิกโทษทางอาญา (decriminalization) สำหรับยาเสพติดนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ
ทำตาม โดยการที่นายริชาร์ด แบรนสันออกมาประกาศเรื่องนี้เพราะไม่อยากให้ UNODC
ล้มเลิกแผนการนี้ (he feared the UN would have a last
minute change-of-heart) นั่นเอง
เขายังบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา
และผู้ที่ติดยาเสพติดสมควรที่จะได้รับการรักษาไม่ใช่การถูกจับยัดเข้าไปในคุกตาราง (While
the vast majority of recreational drug users never experience any problems, people who struggle with drug addiction deserve access to
treatment, not a prison cell)
หลายคนอาจจะงงว่าเหตุใดผมจึงมีความเห็นด้วยแนวความคิดเช่นนี้
เหตุก็เนื่องเพราะรัฐต่างๆ ทั่วโลกใช้งบประมาณมหาศาลแก้ปัญหายาเสพติด
ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ปปส. ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา
ราชทัณฑ์ ฯลฯ แต่ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ผลมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพิ่มผู้มีอิทธิพล
มาเฟีย อีกทั้ง ยิ่งเพิ่มโทษสูงขึ้น ยาเสพติดก็ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากมีการทำให้ถูกกฎหมายขึ้น
รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีเข้ารัฐจากส่วนนี้ได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือที่โปรตุเกสที่ยกมาในตอนต้นของบทความนี้นั่นเอง
อีกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกาก็คือการทำให้กัญชาไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายใน
4 มลรัฐและ 1 เมือง คือ โคโรลาโด วอชิงตัน อลาสกา โอเรกอน และวอชิงตัน ดี ซี
โดยผ่านการทำประชามติของประชาชน แต่ก็มีเงื่อนไขว่ามีไว้ครอบครองได้ไม่เกิน 1
ออนซ์ ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้น และต้องสูบในที่ส่วนตัวในบ้าน เป็นต้น
ส่วนในยุโรปนั้นมีหลายประเทศแล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
กรณีในอดีตที่ผมอยากจะยกมาเปรียบเทียบก็คือในสมัยก่อนที่สหรัฐอเมริกามีการห้ามผลิตและจำหน่ายเหล้า
จึงมีการลักลอบผลิต “เหล้าเถื่อน” หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า “moonshine”
เพราะเป็นการลักลอบผลิตกันตอนกลางคืนภายใต้แสงจันทร์
การมีข้อห้ามเช่นว่าทำให้เกิดมีขบวนการค้าเหล้าเถื่อนและเกิดเจ้าพ่อขึ้น
โดยที่ชิคาโกมีเจ้าพ่อที่โด่งดังมากก็คือ อัล คาโปน ที่ฆ่าคนตายเป็นว่าเล่น แต่พยานหลักฐานไปไม่ถึง
สุดท้ายมาจบด้วยการแก้เผ็ดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอาเขาเข้าคุกด้วยมาตรการทางทางภาษีที่มีโทษจำคุกด้วย
ซึ่งต่อมาเหล้าหรือสุราทั้งหลายก็กลายเป็นของถูกกฎหมาย ปัญหาเรื่องการปราบปราม
การทุ่มงบประมาณ ฯลฯ จึงหมดไป ทำให้ผมคิดว่ากรณียาเสพติดนี้ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน
ผมไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้คนเสพยาเสพติด
เพราะผมเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า เบียร์ หากดื่มมากก็มีโอกาสเป็นโรคติดเหล้า
(alcoholic) ตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
แต่หากดื่มแต่พอดีก็ทำให้กระชุ่มกระชวย เลือดลมแล่นดี มีความรื่นรมย์ กัญชายาเสพติดก็เช่นเดียวกัน
หากทำให้ถูกกฎหมายแล้วควบคุมปริมาณการซื้อการเสพมีผลดีต่อจิตประสาท
แต่แน่นอนว่าหากเสพจนเกินขนาดก็มีผลต่อร่างกายและจิตใจมีโอกาสเป็น “ผีบ้ากัญชา”
หรือ “ขี้ยา”เช่นกัน
หากปล่อยให้สถานการณ์การต่อสู้กับยาเสพติดยังคงเป็นไปในรูปแบบปัจจุบันแล้วไซร้
งบประมาณทุ่มลงไปเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ เรือนจำสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอขัง
มีเจ้าพ่อเจ้าแม่เพิ่มขึ้นมากมาย มีการทุจริต
คอร์รัปชันเพิ่มขึ้นทุกวัน ต่อให้มี ปปช.กี่ชุดๆก็ไม่มีทางเอาอยู่
เราคงต้องกลับมาพิจารณากันให้ละเอียดถ่องแท้แล้วละครับว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เราทำๆ
กันอยู่นี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่
เพราะแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหากลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวันๆ
ไม่ลองไม่รู้นะครับ
บางปัญหาก็เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา ซึ่งผมก็เชื่อว่าปัญหายาเสพติดนี้ก็เป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขาเช่นกัน
แน่นอนว่าคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการถกเถียงหรือการประชุมในคราวเดียว
แต่อย่างน้อยก็เป็นการริเริ่มที่จะเปลี่ยนแนวทางซึ่งอาจจะสำเร็จก็ได้
ใครจะรู้ใช่ไหมครับ
หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง
เพื่อเอาหนามออก ครับ
--------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่
22 มิถุนายน 2559